รู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและผลกระทบกับวงการอสังหาฯ

DDproperty Editorial Team
รู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและผลกระทบกับวงการอสังหาฯ
บทความฉบับนี้จะพาผู้อ่านไปรับทราบถึงกฎหมายที่สำคัญกับชีวิตเราอย่างยิ่งฉบับหนึ่ง คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2562 แล้ว แต่มีการเลื่อนการบังคับใช้มาเป็นตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ลองมาดูมุมมองที่น่าสนใจ และหาคำตอบว่ากฎหมายฉบับนี้เกี่ยวกับวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างไร เพื่อการเตรียมตัวไว้ก่อนบังคับใช้จริง

สภาพปัญหาของข้อมูลส่วนบุคคลแต่เดิม

แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยมีปัญหากับเรื่องสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยตลอด หน่วยงาน องค์กร หรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่แม้ว่าคุณไม่เคยไปติดต่อด้วย อยู่ ๆ ก็ได้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณไป ไม่ว่าจะเป็นหมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ หรือข้อมูลอื่น ๆ แล้วติดต่อเข้ามาเสนอขายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งที่คุณเองไม่เคยสนใจ หรือไม่เคยลงทะเบียนไว้
เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหามาโดยตลอด เพราะไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไว้โดยเฉพาะเหมือนกับในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจะฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเสียหายก็เป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าการใช้ข้อมูลของคุณในทางที่คุณไม่อนุญาตนั้นสร้างความเสียหายเป็นตัวเงินเท่าไร จึงไม่ค่อยมีใครดำเนินคดีกัน

กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลคุ้มครองอะไรบ้าง

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีจำนวนทั้งสิ้น 96 มาตรา แต่สาระสำคัญที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปสามารถสรุปได้คร่าว ๆ ดังนี้
– กฎหมายบังคับใช้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่ากิจกรรมเกี่ยวกับข้อมูลจะเกิดที่ใดก็ตาม (มาตรา 5)
– การเก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลนั้นโดชัดแจ้ง ทำเป็นหนังสือหรือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเจ้าของข้อมูลจะถอนความยินยอมเมื่อใดก็ได้ และการถอนความยินยอมต้องทำได้โดยง่ายเช่นเดียวกับการให้ความยินยอม (มาตรา 19)
– การเก็บข้อมูลต้องแจ้งรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เช่น วัตถุประสงค์ ข้อมูลที่จะเก็บ ระยะเวลาที่จะเก็บ หน่วยงานที่ข้อมูลจะถูกเปิดเผย ฯลฯ และแจ้งสิทธิต่อเจ้าของข้อมูล (มาตรา 23)
– ห้ามเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากแหล่งอื่นที่มิใช่จากเข้าของข้อมูลส่วนบุคคลโดยตรง (มาตรา 25)
– ธุรกิจที่ดำเนินกิจกรรมรวบรวม ใช้ เปิดเผย หรือตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมากอย่างสม่ำเสมอ เช่น ธุรกิจขนาดใหญ่ จะต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภายในหน่วยงาน (มาตรา 41)
– มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมาเพื่อกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล
– ผู้ฝ่าฝืนมีโทษทางอาญา ทั้งจำและปรับ และมีโทษปรับทางปกครองด้วย
– กฎหมายกำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนและทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องชดใช้ความเสียหายทางแพ่ง ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ใช้จ่ายไปตามความจำเป็นเพื่อป้องกันความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วด้วย ไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม (มาตรา 77)
– ศาลสามารถกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษได้สูงสุดสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง (มาตรา 78)
– สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายมีอายุความสามปีนับจากวันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องรับผิด แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 78)

ข้อยกเว้นของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้ยกเว้นไม่ใช้บังคับกับ (มาตรา 6)
– การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือกิจกรรมในครอบครัวของตนเอง
– การดำเนินกิจกรรมของหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางการคลัง การรักษาความปลอดภัยของประชาชน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นิติวิทยาศาสตร์ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
– บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวรวมไว้เฉพาะเพื่อกิจการสื่อมวลชน ศิลปกรรม หรือ วรรณกรรม อันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
– สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา รวมถึงกรรมาธิการ ซึ่งทำตามอำนาจหน้าที่
– การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม
– การดำเนินการกับข้อมูลของบริษัทและข้อมูลเครดิตและสมาชิกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
– กรณีอื่น ๆ ตามที่พระราชกฤษฎีกากำหนด

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกับผลกระทบกับวงการอสังหาฯ

ถึงตอนนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังถือว่าใหม่มาก กฎหมายลำดับรองต่าง ๆ ยังไม่ถูกประกาศใช้ครบถ้วน แต่จากมุมมองของผม กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอนในส่วนของผู้ประกอบการ ในเบื้องต้นก็เช่น
– ผู้ประกอบการไม่ว่าผู้พัฒนาโครงการหรือตัวแทนขาย ที่มีการใช้ เก็บรวบรวม เปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคลอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าในการขาย หรือการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ อาจจะต้องแต่งตั้งเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และใช้มาตรการที่เหมาะสมในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
– ผู้ประกอบการที่มีข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ในความครอบครองอยู่แล้วจะต้องทบทวนแหล่งที่มาของข้อมูลว่าได้มาจากเจ้าของข้อมูลโดยตรงตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ข้อมูลที่ได้มาจากแหล่งอื่น เช่น ซื้อฐานข้อมูลมาจากผู้ประกอบการอื่น อาจจะกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไป และใช้ไม่ได้
– การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลใหม่ ๆ จะต้องทำตามข้อกำหนดในกฎหมาย ต้องได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้ง บอกวัตถุประสงค์ และต้องเก็บข้อมูลส่วนบุคคลจากเจ้าของข้อมูลเท่านั้น
กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเรื่องที่ภาคอสังหาฯ ต้องปรับตัว
ถึงแม้ว่าจะมีข้อยกเว้นมากมาย ต่างไปจากประเทศที่มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด แต่กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนี้นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญอย่างยิ่งที่สร้างความคุ้มครองทางกฎหมายให้แก่ข้อมูลส่วนบุคคลที่เคยเป็นปัญหามาตลอดในประเทศไทย
ถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการจัดการกับข้อมูลส่วนบุคคล และยังเปลี่ยนแปลงความคุ้มครองสิทธิบางอย่างไปจากหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เดิมให้เป็นคุณกับประชาชนมากขึ้น เช่น
– อายุความฟ้องคดี 3 ปี นับแต่รู้ (จากเดิม 1 ปีนับแต่รู้)
– การรับรองสิทธิให้เรียกค่าเสียหายแพ่ง ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้ใช้จ่ายไปตามความจำเป็นเพื่อป้องกันความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วด้วย (ซึ่งน่าจะรวมถึงค่าว่าจ้างทนายความตามที่จำเป็นด้วย)
– การให้อำนาจศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษได้ (ไม่มีอยู่การเรียกร้องความเสียหายจากละเมิด)
กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่สำคัญในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างยิ่ง และผู้ประกอบการในวงการอสังหาริมทรัพย์ควรจะต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับกฎหมายใหม่ฉบับนี้ต่อไป
เรื่องข้างต้นเขียนโดย ปกรณ์ อุ่นหิรัญสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอว์ แอนด์ เอควิตี้ จำกัด หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ pakorn@lawandequity.co
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน