กองทุน SSF คือ สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยมาแทนที่ LTF (Long Term Equity Fund) ที่หมดสิทธิ์ในการนำไปลดหย่อนภาษีแล้ว โดยกองทุน SSF คืออะไร มีจุดประสงค์เพื่ออะไร และเหมาะกับใคร หาคำตอบได้ที่นี่
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
- กองทุน SSF คืออะไร
- กองทุน SSF มีรายละเอียดอย่างไร
- กองทุน SSF เหมาะกับใคร
- เรื่องที่ควรรู้ก่อนซื้อกองทุน SSF
กองทุน SSF คืออะไร
กองทุน SSF คือ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว โดย SSF นั้นย่อมาจาก Super Saving Funds โดยมีวัตถุประสงค์ตรงตัวตามชื่อคือ ส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมระยะยาวมากขึ้น และยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย
กองทุน SSF มีรายละเอียดอย่างไร
1. ลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม ฯลฯ ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่า LTF ที่กำหนดให้ลงทุนในหุ้นสามัญภายในประเทศไทย ทำให้มีตัวกองทุนให้เลือกหลากหลายกว่า
2. ระยะเวลาการถือครองไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ซื้อ (นับแบบวันชนวัน)
3. ไม่กำหนดจำนวนขั้นต่ำในการซื้อหน่วยลงทุน และไม่กำหนดเงื่อนไขในการซื้อต่อเนื่อง
4. บุคคลธรรมดาสามารถหักลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับเงินที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน SSF ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท เริ่มตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยจะลดหย่อนแบบปีต่อปี ซื้อปีไหน ก็ลดหย่อนปีนั้น ในช่วงระยะเวลาปี 2563-2567

กองทุน SSF เหมาะกับใคร
แม้ว่ากองทุน SSF จะมีความคล้ายคลึงกับกองทุน RMF ที่เน้นเรื่องการออมเหมือนกัน แต่ข้อแตกต่างสำคัญคือ ผู้ซื้อกองทุน RMF จะต้องอยู่ในกองทุนจนถึงอายุ 55 ปี ทำให้กองทุน SSF มีความยืดหยุ่นมากกว่า เนื่องจากระยะเวลาขายคืนอยู่ที่ 10 ปี จึงเหมาะกับผู้ทียังมีอายุไม่มากนัก คือ ต่ำกว่า 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการออมเงินไม่ใช่เพื่อใช้ยามเกษียณเพียงอย่างเดียว แต่มองถึงการออมเพื่อลงทุนในอนาคตด้วย
ยกตัวอย่างเช่น หากซื้อกองทุน SSF เมื่ออายุ 30 ปี ก็จะได้เงินคืนเมื่ออายุ 40 ปี แต่หากซื้อกองทุน RMF กว่าจะได้เงินคืนก็คือเมื่ออายุ 55 ปี
แต่หากมองถึงเรื่องการมีเงินใช้เมื่อยามเกษียณ กองทุน RMF ก็จะตอบโจทย์ได้มากกว่า
กองทุนการออมเพื่อการเกษียณ ได้แก่
1. กองทุน RMF หรือ Retirement Mutual Fund หรือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้คนไทยเก็บออมระยะยาวเพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ (ใกล้เคียงกับกองทุน SSF เพียงแต่กองทุน RMF จะต้องถือครองนานกว่า โดยจะขายคืนได้เมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี)
รู้จักกองทุน RMF อีกหนึ่งกองทุนเงินออม เพื่อยามเกษียณ
กองทุน RMF กองทุนเงินออมอย่างหนึ่ง สำหรับยามเกษียณ แตกต่างจากกองทุนอื่นอย่างไร ดูได้ที่นี่
2. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ PVD
3. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
4. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
6. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

เรื่องที่ควรรู้ก่อนซื้อกองทุน SSF
หลังจากรู้แล้วว่ากองทุน SSF คืออะไร หลายคนคงเกิดคำถามว่า “ตัวเองควรซื้อกองทุน SSF หรือไม่?” มีเรื่องที่อยากให้พิจารณาก่อนตัดสินใจดังนี้
1. ไม่มีแผนใช้เงินในอนาคต
หากยังไม่มีแผนใช้เงินที่จะนำมาลงทุนในกองทุน SSF ในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็พิจารณาซื้อกองทุนนี้ได้ เพราะเงื่อนไขคือ ต้องถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 10 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ โดยนับแบบวันชนวัน ผู้ลงทุนจึงต้องมั่นใจว่าจะสามารถถือหน่วยลงทุนจนครบกำหนดได้ โดยไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องจนต้องขายหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนด
2. อายุน้อยยิ่งเหมาะ
หากอายุน้อยกว่า 45 ปี เมื่อคำนวณระยะเวลาในการลงทุนแล้ว การซื้อกองทุน SSF ก็น่าจะเหมาะกว่ากองทุน RMF เพราะระยะเวลาลงทุนสั้นกว่า คือถือหน่วยลงทุนไว้อย่างน้อย 10 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อก็สามารถขายคืนได้แล้ว ต่างจากกองทุน RMF ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีเต็มนับจากวันลงทุนวันแรกด้วย
จะเห็นได้ว่า หากลงทุน RMF ตามเงื่อนไข กว่าจะขายคืนได้ก็ต้องอายุอย่างน้อย 55 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น ยิ่งอายุน้อย ยิ่งต้องถือหน่วยลงทุน RMF นาน ซึ่งต่างจาก SSF
ตารางเปรียบเทียบระหว่างกองทุน SSF และ RMF
กองทุน SSF | กองทุน RMF |
SSF คือ กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund) | RMF คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) |
ลดหย่อนภาษีสูงสุด 30%* ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท | ลดหย่อนภาษีสูงสุด 30%* ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (เดิมจำนวนสูงสุด 15% ไม่เกิน 500,000 บาท) |
ลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท | ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ (เดิมซื้อขั้นต่ำ 3% ของเงินได้ หรือ 5,000 บาท/ปี แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่า |
ถือหน่วยลงทุน มากกว่าหรือเท่ากับ 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ | ลงทุนอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี และต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี |
ไม่มีขั้นต่ำ และไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี | ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่จำเป็นต้องลงทุนทุกปี หรือปีเว้นปี |
กำไรจากการขายคืนได้รับยกเว้นภาษี หากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด | กำไรจากการขายคืนได้รับยกเว้นภาษี หากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด |
*การซื้อ SSF, RMF, PVD, กบข., ประกันชีวิตแบบบำนาญ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือ กอช. เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก K-Expert
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า