ระบบไฟฟ้านั้นเป็นระบบพื้นฐานที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการอยู่อาศัย แต่เมื่อถึงเวลาที่ผู้ซื้อต้องตรวจรับบ้านก่อนโอนเป็นเจ้าของ ระบบไฟฟ้าในบ้านก็มักจะเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม หรือไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งอาจเกิดปัญหาได้ในภายหลัง บทความนี้จึงขอเป็นตัวช่วยให้ผู้ซื้อตรวจระบบไฟฟ้าได้อย่างตรงจุด ก่อนตัดสินใจเซ็นตรวจรับบ้านและเข้าอยู่อาศัย เพื่อไม่ต้องกังวลใจกับปัญหาระบบไฟฟ้าในบ้านในภายหลัง
ตรวจมิเตอร์ไฟฟ้า
มิเตอร์ไฟฟ้า คือ อุปกรณ์สำคัญที่ใช้นับหน่วยการใช้ไฟฟ้าในบ้าน การตรวจระบบไฟฟ้าในบ้านที่จะซื้อ จึงต้องเริ่มจากการเช็กมิเตอร์ไฟฟ้าก่อน เพราะถ้ามีไฟรั่วหลังมิเตอร์ นั่นก็หมายถึงค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น และอันตรายที่อาจเกิดกับคนในบ้าน โดยวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจสอบว่ามิเตอร์และระบบไฟฟ้าในบ้านไหลเวียนเป็นปกติคือ การตัดไฟทั้งบ้าน แล้วสังเกตว่ามิเตอร์ยังหมุนอยู่หรือไม่ หากยังหมุนอยู่ก็แสดงว่ามีไฟรั่ว และต้องได้รับการแก้ไข ก่อนนัดตรวจรับบ้านใหม่ในภายหลัง
ตรวจตู้ควบคุมไฟฟ้า
ตู้ควบคุมไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์หลักในการเปิด-ปิดการจ่ายไฟในส่วนต่าง ๆ ของบ้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ขายจะต้องระบุให้ผู้ซื้อทราบอย่างชัดเจนว่า เบรกเกอร์ตัวไหนใช้กับระบบไฟฟ้าส่วนใด โดยเบรกเกอร์แต่ละตัวต้องควบคุมได้อย่างอิสระ เมื่อตัดไฟไปแล้ว ก็ต้องใช้ไฟเฉพาะส่วนนั้นไม่ได้ และต้องมีเบรกเกอร์หลักที่ใช้ควบคุมเบรกเกอร์ทุกตัว แล้วอย่าลืมเปิดหน้ากากครอบตู้เพื่อเช็กสายไฟด้านหลัง ซึ่งต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และไม่มีสายเปลือยที่เป็นอันตราย
ตรวจปลั๊ก กดสวิตช์ เช็กหลอดไฟ
ปลั๊ก สวิตช์ และหลอดไฟ คือส่วนที่ผู้ซื้อตรวจสอบได้ง่ายที่สุดในระหว่างการตรวจรับบ้าน เพียงเปิดสวิตช์เพื่อเช็กหลอดไฟทีละดวงว่าเปิด-ปิดเป็นปกติหรือไม่ แล้วเปิดไฟทุกดวงเพื่อตรวจระบบไฟฟ้าขณะที่ใช้ไฟสูงสุด ส่วนปลั๊กไฟทุกช่องต้องจ่ายไฟได้เป็นปกติ ซึ่งตรวจสอบได้จากการนำปลั๊กรางแบบมีไฟสถานะมาต่อให้ครบทุกช่อง และที่สำคัญ ปลั๊กและสวิตช์ทุกช่องต้องมีหน้ากากครอบปิดสนิท โดยหน้ากากต้องไม่ซีดเหลืองหรือมีรอยงัดจนแตกร้าว
ตรวจสอบระบบความปลอดภัย
ในการตรวจรับบ้านอย่างถี่ถ้วน ผู้ซื้อจะต้องไม่มองข้ามความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านและชีวิตของผู้อยู่อาศัยปลอดภัย โดยมีส่วนสำคัญที่ต้องได้รับการตรวจสอบให้ดีดังนี้
เซอร์กิตเบรกเกอร์
เบรกเกอร์ในตู้ควบคุมไฟฟ้าเป็นระบบความปลอดภัยที่สำคัญในบ้าน เพราะเป็นอุปกรณ์ที่จะตัดไฟโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดความผิดปกติในวงจรไฟฟ้า เช่น ไฟรั่ว ลัดวงจร หรือมีกระแสไฟเกินขนาด โดยทั่วไปจะใช้เบรกเกอร์แบบ Miniature Circuit Breaker (MCB) ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในบ้าน แต่ควรเลือกใช้ยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือและมีมาตรฐาน มอก. และควรมีเบรกเกอร์แยกสำหรับเครื่องทำน้ำอุ่นด้วย
ระบบสายดิน
สายดินเป็นระบบสำคัญที่บ้านทุกหลังต้องมี โดยสังเกตได้จากปลั๊กไฟทุกช่องต้องมีขาที่ 3 สำหรับต่อสายดินกับเครื่องใช้ไฟฟ้า หากเปิดดูหลังปลั๊กจะต้องมีสายไฟสีเขียวเส้นที่ 3 เพื่อยืนยันว่ามีสายดินต่อไปยังตู้ควบคุมไฟฟ้า และในขณะที่ตรวจรับบ้าน ผู้ซื้อก็ต้องให้ผู้ขายพาไปดูจุดที่ฝังหลักดิน เพื่อยืนยันว่าบ้านของผู้ซื้อมีวงจรสายดินที่ครบถ้วนสมบูรณ์และเป็นไปตามมาตรฐาน
ต้องมีช่องสำหรับการซ่อมบำรุง
ช่องสำหรับการซ่อมบำรุงอาจเป็นสิ่งที่ถูกละเลยมากที่สุดในการตรวจรับบ้าน โดยเฉพาะระบบสายไฟบนเพดานที่มีฝ้าปิดทึบทั้งหมด หากบ้านที่จะซื้อไม่มีช่องเปิดฝ้า แล้วมีหนูหาทางขึ้นฝ้าไปกัดสายไฟจนขาด ก็จะเป็นเรื่องลำบากมากในการแก้ไขสายไฟให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น บ้านทุกหลังจำเป็นต้องมีช่องสำหรับซ่อมบำรุงสายไฟบนฝ้าเผื่อไว้ด้วย โดยเฉพาะชั้นล่างหรือชั้นที่ไม่ได้ติดหลังคา ส่วนชั้นที่ติดหลังคาจะมีช่องปีนขึ้นฝ้าอยู่แล้ว
ทั้งหมดนี้ก็คือการตรวจรับบ้านในส่วนของระบบไฟฟ้า ที่ผู้ซื้อสามารถตรวจระบบไฟฟ้าในบ้านได้ไม่ยากด้วยตัวเอง และถ้ามีข้อสงสัยว่าจะมีระบบไฟฟ้าส่วนหนึ่งส่วนใดที่ผิดปกติ ก็สามารถจ้างช่างไฟฟ้ามาช่วยตรวจสอบเพื่อความมั่นใจ ก่อนแจ้งให้ผู้ขายแก้ไขปัญหา แล้วอย่าลืมเช็กระบบอื่น ๆ ในบ้านให้ครบถ้วน เพื่อได้เป็นเจ้าของบ้านที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ