การถมดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

DDproperty Editorial Team
การถมดินและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่น่าสนใจล่าสุดเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เห็นจะไม่พ้นกรณีกำแพงไททัน หรือกรณีที่ที่ดินแปลงข้างเคียงก่อกำแพงและถมดินสูงจนสูงกว่าชั้นสองของบ้านข้างเคียงนั่นเอง ในบทความนี้ ผมจะขอชวนมาศึกษาเรื่องการถมดินกัน ว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง และกรณีใดบ้างที่ทำได้ กรณีใดที่ทำไม่ได้ และกรณีตามข่าวเป็นอย่างไร

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถมดิน

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถมดินคือ พระราชบัญญัติการขุดดินและถมดิน พ.ศ. 2543 โดยมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับการถมดิน คือ การถมดินพื้นที่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจัดให้มีการระบายน้ำเพียงพอที่จะไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ที่ดินข้างเคียงหรือบุคคลอื่น
แต่กรณีที่ถมดินเกินกว่า 2,000 ตารางเมตร นอกจากจะต้องจัดให้มีการระบายน้ำตามที่กล่าวมาแล้ว ยังต้องแจ้งการถมดินแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่น และเมื่อได้รับการแจ้งแล้ว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกใบรับแจ้งภายใน 7 วัน แล้วผู้แจ้งจึงสามารถเริ่มถมดินได้เมื่อได้รับใบรับแจ้ง และในกฎหมายฉบับนี้ได้ให้อำนาจหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจควบคุมการถมดินด้วย
ที่ดินตาบอดกับทางจำเป็น กฎหมายที่ดินที่เจ้าของที่ดินควรรู้

ที่ดินตาบอดกับทางจำเป็น กฎหมายที่ดินที่เจ้าของที่ดินควรรู้

กรณีที่เป็นข่าวการถมดินสูง

กรณีที่เป็นข่าวคือที่ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ที่เจ้าของที่ดินสร้างกำแพงและถมที่ดินจนสูงกว่าชั้นสองของบ้านข้างเคียงเพื่อให้เท่ากับระดับถนนสาธารณะด้านหน้าของที่ดินแปลงดังกล่าว และชาวบ้านข้างเคียงที่ถูกถมดินเข้ามาจนชิดเขตไปร้องเรียนกับหน่วยงานท้องถิ่นคือเทศบาลตำบลลาดหญ้า และจังหวัดกาญจนบุรีตามลำดับ
จากข้อเท็จจริงตามข่าวปรากฏว่ามี 2 ประเด็นครับ คือ
1. การถมดิน ปรากฏว่ามีการขออนุญาตถมดินตามพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดินฯ แล้ว แต่มีการถมดินนอกช่วงเวลาที่ได้รับอนุญาต และไม่มีวิศวกรควบคุม
2. การสร้างรั้วและกำแพงกันดิน ปรากฏว่ามีการขออนุญาตก่อสร้างรั้ว แต่ไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้างกำแพงกันดินตามกฎหมายควบคุมอาคาร แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการก่อสร้างกำแพงกันดินโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วจึงก่อสร้างรั้วทับลงไปบนกำแพงกันดิน
เมื่อราชการตรวจสอบพบจึงถือว่ารั้วได้ก่อสร้างลงไปโดยไม่มีฐานราก (จากความเข้าใจของผู้เขียนคือ รั้วสร้างบนกำแพงกันดินที่ไม่ได้รับอนุญาต จึงถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างลงไปบนฐานรากที่ไม่ได้รับอนุญาต จึงเห็นว่าไม่มีฐานรากครับ)
สุดท้ายทางราชการจึงมีคำสั่งให้รื้อถอนรั้วบนแนวกำแพงกันดินออก และให้ขุดดินออกจากรั้วทั้งสามด้านด้านละ 4.50 เมตร เพื่อให้เป็นทางระบายน้ำ
จะเห็นได้ว่า การดำเนินการขอราชการแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ตามกฎหมายถมดิน ก็ให้จัดการให้มีทางระบายน้ำ ส่วนกฎหมายควบคุมอาคารก็ให้รื้อถอนส่วนที่เป็นรั้วที่ไม่มีฐานรากออกไป
กฎหมายเกี่ยวกับการถมที่ดิน

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่เกี่ยวข้อง

เรื่องการถมดินตามกฎหมายนี้ มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหลายฉบับกล่าวถึงไว้ เป็นที่น่าสนใจผู้เขียนจึงยกตัวอย่างไว้ข้างล่างนี้ครับ

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.460/2558

กรณีการถมดินพื้นที่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร กฎหมายเพียงกำหนดให้ไม่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงาน แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดินฯ

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.35/2560

แม้การถมดินพื้นที่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร จะไม่ต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานแต่ยังคงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการขุดดินและถมดินฯ และกฎกระทรวงกำหนดมาตรการป้องกันการพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้างในการขุดดินหรือถมดิน พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดให้ต้องมีผู้ควบคุมการถมดินซึ่งเป็นวิศวกรตามกฎหมาย จัดการป้องกันการพังทลายของดินหรือสิ่งปลูกสร้าง และเจ้าพนักงานมีอำนาจตามกฎหมายคอยควบคุมดูแลให้การถมดินเป็นไปตามกฎหมาย

สรุปเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการถมดิน

จากเนื้อหาข่าว กฎหมาย และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดทั้ง 2 เรื่อง ผู้เขียนขอสรุปเกี่ยวกับการถมดินไว้ดังนี้ครับ
– การถมดินในพื้นที่เกิน 2,000 ตารางเมตร จะต้องแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น และปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น เช่น ถมดินได้ในระหว่างเวลาใด ต้องจัดให้มีมาตรการอะไรบ้าง และต้องจัดการให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ มีวิศวกรควบคุมงาน มาตรการป้องกันการพังทลายของดิน และสิ่งปลูกสร้าง และจัดให้มีทางระบายน้ำ
– จะเริ่มต้นถมดินได้ ในกรณีพื้นที่เกิน 2,000 ตารางเมตร เมื่อแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่นแล้ว ต้องได้ใบรับแจ้งก่อน กรณีพื้นที่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร เริ่มต้นถมดินได้เลย
– หากพื้นที่ถมดินไม่ถึง 2,000 ตารางเมตร ไม่ต้องแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่น แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คือ จัดให้มีวิศวกรควบคุมงาน มีมาตรการป้องกันการพังทลายของดิน และสิ่งปลูกสร้าง และจัดให้มีทางระบายน้ำ ไม่ต่างกับกรณีพื้นที่เกิน 2,000 ตารางเมตร ที่ต้องแจ้งเจ้าพนักงานท้องถิ่น
– กรณีได้รับความเดือดร้อนจากการถมดินของพื้นที่ข้างเคียง หน่วยงานที่รับผิดชอบ และสามารถไปร้องเรียนได้คือ เจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในต่างจังหวัด
– กฎหมายควบคุมการถมดินข้างต้นหากฝ่าฝืนจะมีโทษทางอาญา คือ ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำและปรับ แต่กรณีที่เกิดความเสียหายจากการถมดินของพื้นที่ข้างเคียง เช่น บ้านเรือนเสียหาย ที่ดินพังทลาย ต้องดำเนินคดีในทางแพ่งเพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่ในกรณีแบบนี้ผู้ได้รับความเดือดร้อนอาจติดต่อกับสำนักงานยุติธรรมประจำจังหวัดเพื่อขอความช่วยเหลือในการดำเนินคดีแพ่งได้ครับ
รวมกฎหมายอสังหาฯ ซื้อ-ขาย-เช่า ที่คุณควรรู้

รวมกฎหมายอสังหาฯ ซื้อ-ขาย-เช่า ที่คุณควรรู้

เรื่องข้างต้นเขียนโดย ปกรณ์ อุ่นหิรัญสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอว์ แอนด์ เอควิตี้ จำกัด หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ pakorn@lawandequity.co
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์