กินอาหารอย่างไรให้รักษ์โลก

DDproperty Editorial Team
กินอาหารอย่างไรให้รักษ์โลก
เรากำลังนับถอยหลังสู่ศักราชใหม่ในอีกไม่กี่ชั่วอึดใจ หลายครอบครัวกำลังเตรียมการเฉลิมฉลอง ซึ่งแม้ว่าบรรยากาศในภาพรวมจะยังไม่ได้ดูสนุกสนานรื่นเริงมากเท่ากับก่อนที่โลกของเราจะเผชิญกับสภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่บรรยากาศของเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่คงทำให้หลายคนอดไม่ได้ที่จะลุกขึ้นมาเตรียมปาร์ตี้เล็ก ๆ เอาไว้สังสรรค์ พูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อน ๆ
หากพูดถึงการจัดงานเลี้ยงฉลอง เราคงต้องนึกถึงอาหารมากมายเรียงรายอยู่บนโต๊ะ และจะต้องเป็นเมนูเด็ด ๆ ที่แต่ละบ้านโปรดปราน หรือบางคนอาจจะนึกไปถึงการออกไปรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ๆ นอกบ้าน หลากหลายเมนูคาวหวาน บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่างและชาบูสุกี้
แต่ก่อนจะไปถึงมื้ออาหารสุดพิเศษนั้น WWF อยากขอนำเสนอทางเลือกในการรับประทานอาหารและจัดปาร์ตี้ในคอนเซ็ปต์สนุกและยังช่วยดูแลโลกได้ด้วย กับแนวคิด Save One Third
Sustainability
จากงานวิจัยที่เก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ทั่วโลก WWF หรือองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลระบุว่า อาหารปริมาณ 1 ใน 3 ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคของคนคือส่วนที่จะถูกทิ้ง จากการรับประทานเหลือ จากการ “คัดทิ้ง” เนื่องจากคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐาน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องปกติ หากมองที่ปลายทางของปริมาณอาหาร 1 ส่วนที่ถูกทิ้งว่าจะไปเป็นปุ๋ย หรือถูกนำไปทำเป็นอาหารสัตว์
แต่หากมองให้ดีแล้วจะพบว่า “กลไก” ในการตั้งต้นผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็น น้ำ พลังงาน หรือแม้กระทั่งพืชที่นำมาใช้เลี้ยงสัตว์ที่จะถูกนำมาเป็นผลิตภัณฑ์จากเนื้อให้คนบริโภค พืชเหล่านั้นที่มาจากการแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตร กลไกทั้งหมดนี้คือ “ต้นทุน” ที่เราอาจไม่ได้คำนึงถึง ในขณะที่เรา “ทิ้ง” อาหาร 1 ส่วนนั้น ซึ่งนั่นหมายรวมถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย
ตัวอย่างเช่น ในประเทศอินเดียที่ประสบกับปัญหาฝุ่นควันปกคลุมในเมืองใหญ่จนกลายเป็นที่มีมลภาวะทางอากาศสูงมากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากฟืนไฟและควันที่มาจากการประกอบอาหารในแต่ละครัวเรือน อีกทั้งอินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก 1 ส่วนของอาหารที่เหลือจากการรับประทาน จึงหมายถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่แอบแฝงที่ถูกทิ้งไป
Sustainability
WWF จึงออกแคมเปญสนับสนุนให้คนทั่วโลก ร่วมกันตระหนักถึงรูปแบบของการบริโภคของพวกเราตลอดสายโซ่อุปทานเพื่อให้กลไกการผลิตอาหารเพื่อการบริโภคของประชากรโลกที่กำลังเพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นไปอย่างยั่งยืน และโลกของเรายังคงมีทรัพยากรที่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงคนในเจเนอเรชั่นต่อไปได้
WWF จึงขอชวนทุก ๆ คนเริ่มต้นดูแลโลก ผ่านการ “กิน” อย่างรับผิดชอบ รับประทานอาหารให้หมดในจานของตนเอง
หากรับประทานไม่หมดจริง ๆ การจัดเก็บในภาชนะที่ถูกสุขลักษณะแล้วใส่ตู้เย็นไว้เพื่อมาทานในวันต่อไป ไม่ใช่เรื่องแย่ แต่จะให้ดีควรแบ่งสัดส่วนของอาหารเอาไว้ให้พอดีในแต่ละมื้อ แล้วอย่าลืมเขียนเตือนวันเวลาที่จัดเก็บอาหารแต่ละกล่อง เพื่อให้เราจัดการนำมันกลับมารับประทานได้อีกโดยที่อาหารยังไม่เสีย
หากไปรับประทานอาหารนอกบ้านแล้ว ไม่สามารถรับประทานได้หมดจริง ๆ การขอห่อกลับบ้านเป็นเรื่องที่ทำได้
ที่สำคัญ หยุดคิดก่อนสั่งอาหาร เพราะอาหารจานใหญ่ที่เกินความสามารถในการรับประทานของสมาชิกร่วมโต๊ะ ก็คือ อาหารเหลือ ลองมองหาอาหารเมนูเดิมที่จานเล็กลงเป็นทางเลือก และยังทำให้เราเลือกทานอาหารได้หลากหลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ในงานปาร์ตี้ที่เต็มไปด้วยอาหารที่รับประทานไม่หมด ท่านสามารถแบ่งปันอาหารบางอย่างให้กับผู้ที่ต้องการได้โดยไม่ต้องทิ้ง เช่น ผลไม้ที่ยังไม่ได้ตัดแต่ง หรืออาหารสำเร็จรูป ในบางประเทศมีโครงการรับบริจาคอาหารสำหรับผู้ยากไร้ด้วย
ขอให้ปีใหม่นี้เป็นอีกปีที่สดใส และให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลอง ที่เราได้รับผิดชอบโลกใบนี้ของเราได้ ผ่านไลฟ์สไตล์การกินของพวกเรากัน
บทความโดย คุณดวงกมล วงศ์วรจรรย์ ผู้บริหารฝ่ายสื่อสารองค์กร WWF ประเทศไทย ท่านสามารถศึกษาข้อมูลของโครงการอนุรักษ์ต่างๆ และความเคลื่อนไหวขององค์กรได้ที่ Facebook: https://www.facebook.com/wwfthailand
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือนตามระยะเวลากู้

เพียงใส่ยอดเงินกู้ที่คุณต้องการ เราจะคำนวณให้คุณเห็นถึงยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามระยะเวลาผ่อนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน