"ตกลงราคาและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ กับผู้ขายให้ชัดเจนพร้อมระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย เพื่อนำมาใช้เป็นเอกสารในการยื่นขอสินเชื่อบ้านมือสองกับธนาคาร" – K-Expert
เวลาที่เราซื้อบ้านมือหนึ่งกับโครงการเปิดใหม่ การยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคารอาจดูไม่ใช่เรื่องยากมากนัก เพราะจะมีเจ้าหน้าที่โครงการช่วยอำนวยความสะดวกให้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำเอกสารสัญญาจะซื้อจะขาย รวมทั้งติดต่อยื่นกู้กับธนาคารให้เรา โดยที่ผู้ซื้อเองแทบไม่ต้องเดินทางไปที่ธนาคาร เพื่อทำเรื่องยื่นกู้ซื้อบ้านเลย
แต่สำหรับใครที่กำลังมีแผนจะซื้อบ้านมือสองด้วยการขอสินเชื่อบ้านมือสองกับธนาคาร ก็ไม่ต้องกังวลใจไป ถึงแม้การซื้อบ้านมือสองจะไม่ได้มีเจ้าหน้าที่โครงการช่วยอำนวยความสะดวกให้เหมือนกับการซื้อบ้านมือหนึ่ง แต่ผู้ซื้อเองก็สามารถดำเนินการในเรื่องต่างๆ ได้ไม่ยาก ส่วนจะต้องทำอย่างไรบ้างนั้น K-Expert มีคำแนะนำมาฝาก
1. ตกลงราคากับผู้ขายเพื่อทำสัญญา
เมื่อเราเลือกบ้านมือสองที่ถูกใจได้แล้ว ก็จะต้องดำเนินการติดต่อกับผู้ขาย เพื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านมือสองหลังนั้น ในสัญญาจะซื้อจะขายต้องมีการระบุราคาที่ได้ตกลงซื้อขายกัน การจ่ายเงินมัดจำ และเงินส่วนที่เหลือจะชำระเมื่อไร โดยผู้ขายมักจะกำหนดระยะเวลาการชำระเงินส่วนที่เหลือ
หากผู้ซื้อไม่สามารถชำระเงินส่วนที่เหลือได้ภายในกำหนดผู้ขายก็จะมีสิทธิ์ยึดเงินมัดจำ ส่วนสัญญาจะซื้อจะขายเราสามารถทำขึ้นมาเอง หรือใช้แบบฟอร์มมาตรฐานที่มีอยู่ โดยดาวน์โหลดได้ตามเว็บไซต์ หรือจะซื้อจากร้านเครื่องเขียนก็ได้ และเมื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายเรียบร้อยแล้วผู้ขายจะต้องให้สำเนาโฉนดที่ดิน เพื่อใช้เป็นเอกสารในการยื่นกู้

2. ติดต่อธนาคารเพื่อยื่นขอสินเชื่อบ้านมือสอง
การยื่นขอสินเชื่อบ้านมือสองกับธนาคาร ผู้ซื้อหรือผู้กู้จะต้องเตรียมเอกสารเพื่อยื่นขอสินเชื่อบ้านมือสอง ทั้งเอกสารแสดงตนและเอกสารทางการเงินที่แสดงแหล่งที่มาของรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน รายการเดินบัญชีย้อนหลัง เป็นต้น พร้อมทั้งจะต้องนำสัญญาจะซื้อจะขายและสำเนาโฉนดที่ดินที่ได้มาจากผู้ขาย ยื่นกับธนาคารเพื่อให้ประเมินราคาทรัพย์สิน
โดยปกติแล้วธนาคารก็จะให้วงเงินกู้ไม่เกิน 80% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน โดยเลือกราคาที่ต่ำกว่า ดังนั้นผู้ซื้อควรจะต้องเตรียมเงินไว้อย่างน้อย 20% ของราคาซื้อขาย เพื่อจ่ายให้กับผู้ขายด้วย
3. นัดจำนองกับสำนักงานที่ดินเพื่อโอนบ้าน
หลังจากผ่านการอนุมัติวงเงินกู้ซื้อบ้านกับธนาคารแล้ว ผู้ซื้อจะต้องแจ้งกับผู้ขาย เพื่อนัดวันไปโอนบ้านที่สำนักงานที่ดิน พร้อมจำนองบ้านหลังนั้นต่อให้กับธนาคาร เพื่อใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงิน ผู้ขายเองก็จะได้รับเงินจากการขายบ้านทั้งหมดในวันนั้น ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องมาสำนักงานที่ดินพร้อมกัน 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ซื้อ ผู้ขาย และธนาคาร เพื่อทำการโอนบ้านและจำนองให้เสร็จสิ้นภายในวันเดียวกัน
โดยในวันนั้นจะมีการชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายบ้าน การโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินมาเป็นของผู้ซื้อ การจำนองทรัพย์สินให้กับธนาคาร ได้แก่ ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะหรือค่าอากรแสตมป์ ค่าโอน ค่าจำนอง ซึ่งจะชำระให้กับสำนักงานที่ดิน
ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ส่วนนี้ ผู้ซื้อและผู้ขายควรมีการตกลงกันตั้งแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายว่า ใครจะเป็นคนจ่ายค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง หรือตกลงแบ่งจ่ายกันอย่างไร เช่น ค่าใช้จ่ายทั้งหมดแบ่งจ่ายกันคนละครึ่ง เป็นต้น
ตารางค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์
ประเภทของค่าโอน | จ่ายเท่าไหร่ |
ค่าธรรมเนียมการโอน | 2% ของราคาประเมิน แบ่งจ่ายคนละ 1% ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย |
ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ | 3.3% ของราคาซื้อขาย |
ค่าอากรแสตมป์ | 0.5% ของราคาซื้อขาย |
ค่าจดจำนอง | 1% ของยอดเงินกู้ทั้งหมด |
ถึงแม้ว่าการซื้อบ้านมือสองจะไม่ได้มีเจ้าหน้าที่โครงการช่วยอำนวยความสะดวกให้ แต่หากเราต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการยื่นขอสินเชื่อบ้านมือสอง ก็ยังสามารถสอบถามหรือขอคำแนะนำกับเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบ้าน ได้ที่ K-Expert
K-Expert Action
- เข้าดูบ้านจริง เพื่อตรวจสภาพบ้าน สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อบ้านมือสอง
- สำรวจและเปรียบเทียบราคาบ้านมือสองในพื้นที่ทำเลเดียวกันก่อนตกลงราคากับผู้ขาย
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นารีรัตน์ กำเลิศทอง, K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ