“การกู้ร่วมซื้อบ้านช่วยให้กู้บ้านผ่านง่ายขึ้น ได้วงเงินกู้สูงขึ้น แต่ผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด หรือเป็นสามีภรรยากัน”
สำหรับคนที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง ถ้ากู้คนเดียวแล้วไม่ผ่าน ได้วงเงินไม่เยอะ ก็ว่าเศร้าแล้ว แต่ถ้ากู้ร่วมซื้อบ้านแล้วยังไม่ผ่าน ยิ่งเศร้ากว่า เพราะเราคงเคยได้ยินได้รับฟังคำแนะนำจากหลาย ๆ คนว่า ถ้ากู้คนเดียวไม่ได้ ก็กู้ร่วมสิ ต้องบอกว่า ไม่ใช่ทุกกรณีที่กู้ร่วมซื้อบ้านกันแล้วจะกู้ผ่าน ซึ่งมีสาเหตุไหนบ้างที่กู้ร่วมก็อาจไม่ผ่าน K-Expert มีคำตอบมาฝาก
3 สาเหตุที่ทำให้กู้ร่วมซื้อบ้านแล้ว แต่ก็ยังกู้ไม่ผ่าน
รายได้น้อยเกินไป
เงื่อนไขสำคัญในการอนุมัติสินเชื่อบ้าน คือ แหล่งที่มาหรือความสม่ำเสมอของรายได้ โดยธนาคารอาจกำหนดรายได้ขั้นต่ำทั้งของตัวผู้กู้หลัก และผู้กู้ร่วม เช่น ผู้กู้หลักต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือน ผู้กู้ร่วมต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 12,000 บาทต่อเดือน จึงจะยื่นกู้ร่วมซื้อบ้านบ้านได้
ทั้งนี้ หลายคนมักเข้าใจผิดว่า หากธนาคารกำหนดรายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ไว้ที่ 15,000 บาทต่อเดือน แต่รายได้ของตัวเราไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ก็หาผู้กู้ร่วมซื้อบ้านเพื่อรวมรายได้กันแล้ว ทำให้รายได้เกินเกณฑ์ขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด แต่จริง ๆ แล้วต้องดูเงื่อนไขของธนาคารว่า กำหนดเกณฑ์รายได้ของผู้กู้หลักและผู้กู้ร่วมไว้อย่างไร
หนี้สินมากเกินไป
โดยทั่วไป ธนาคารจะให้ผู้ขอสินเชื่อมีภาระผ่อนชำระหนี้ต่อเดือน ไม่เกินเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด เช่น กำหนดไม่เกิน 40-50% ของรายได้ต่อเดือน หรือหากรายได้ต่อเดือนสูง ก็สามารถมีภาระผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนสูงขึ้นได้เป็น 60-70% ของรายได้ต่อเดือน โดยภาระหนี้ดังกล่าวนั้น จะรวมทั้งหนี้สินเชื่อรถยนต์ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือแม้กระทั่งหนี้สินเชื่อบ้านที่เราไปมีชื่อเป็นผู้กู้ร่วมซื้อบ้านด้วย
การคิดความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ธนาคารจะพิจารณาทั้งผู้กู้หลัก และผู้กู้ร่วม ดังนั้น หากตัวเรา หรือผู้กู้ร่วมกับเรา มีภาระหนี้ต่อเดือนสูงเกินเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดไว้แล้ว ก็อาจส่งผลให้การขอสินเชื่อบ้านเป็นไปได้ยาก
นอกจากหนี้สินที่มีในปัจจุบัน ธนาคารยังพิจารณาประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งตรวจสอบได้จากเครดิตบูโรที่ทำหน้าที่รวบรวมประวัติการชำระสินเชื่อ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ ของแต่ละคน โดยหากผู้ที่จะซื้อบ้าน ทั้งตัวเรา และผู้กู้ร่วม เคยมีประวัติค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน หรือกลายเป็นหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) ก็มีโอกาสที่ธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อให้ยากขึ้นเช่นกัน
อายุเยอะเกินไป
โดยทั่วไปแล้ว การกู้ซื้อบ้าน สามารถผ่อนได้สูงสุด 30 ปี และอายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาผ่อนแล้วต้องไม่เกินเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด เช่น
– ผู้ที่มีรายได้ประจำ อายุของผู้กู้เมื่อรวมกับระยะเวลาผ่อนแล้ว ต้องไม่เกิน 60 ปี
– ผู้ที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว อายุของผู้กู้รวมกับระยะเวลาผ่อนแล้ว ต้องไม่เกิน 65 ปี
– ผู้ที่ประกอบอาชีพพิเศษที่กำหนด เช่น แพทย์ เภสัชกร นักบิน ข้าราชการ อายุของผู้กู้รวมกับระยะเวลาผ่อนแล้ว ต้องไม่เกิน 70 ปี
สำหรับผู้กู้ร่วมนั้น เรื่องของอายุจะนำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน โดยหากผู้กู้ร่วมซื้อบ้านมีอายุถึงเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด ก็จะไม่สามารถเป็นผู้กู้ร่วมได้
เช่น ลูกต้องการกู้ร่วมกับคุณพ่อซึ่งมีอายุ 60 ปี หากใช้เกณฑ์ข้างต้นตามที่ยกตัวอย่าง คุณพ่อเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือมีรายได้ประจำ จะไม่สามารถกู้ร่วมซื้อบ้านได้ เพราะอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว แต่หากคุณพ่อประกอบธุรกิจส่วนตัว หรืออยู่ในกลุ่มอาชีพพิเศษที่ธนาคารกำหนด ก็สามารถกู้ร่วมได้ โดยธนาคารจะพิจารณารายได้ของทั้งสองคน และดูอายุของลูกเป็นหลัก
จะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ทำให้กู้บ้านไม่ผ่าน แม้จะกู้ร่วมซื้อบ้านกันก็ตาม หลัก ๆ แล้ว เป็นเรื่องของรายได้ และภาระหนี้สิน ดังนั้น การไม่ก่อหนี้มากเกินไป และรักษาประวัติการชำระหนี้ จะช่วยให้การขอสินเชื่อบ้านเป็นเรื่องง่ายขึ้น นอกจากนี้ อย่าลืมว่า ผู้ที่กู้ร่วมกันได้ต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือด เช่น พ่อ/แม่และลูก พี่และน้อง เครือญาติ หรือสามีภรรยา
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์ CFP® K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า