“การกู้บ้านร่วมกัน ต้องมีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตหรือเป็นสามีภรรยากัน ซึ่งจะทำให้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านร่วมกัน และมีภาระผูกพันในการชำระหนี้ร่วมกัน”
การจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองสักแห่งมักมาพร้อมกับภาระการกู้เงินจำนวนไม่น้อย โดยจะกู้ผ่านหรือไม่นั้น สถาบันการเงินจะพิจารณาจาก “ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้” ซึ่งแปรผันตามกับฐานรายได้ของผู้กู้ บางท่านที่ฐานรายได้สูงก็มีแนวโน้มยื่นกู้ท่านเดียวผ่าน ส่วนท่านที่กู้เดี่ยวไม่ไหว ก็จำต้องหาผู้ช่วยมากู้ร่วมด้วยกันนั่นเอง
สถาบันการเงินมักกำหนดว่าผู้กู้ร่วมต้องมีสายโลหิตเดียวกัน เช่น บิดา มารดา พี่ น้อง เครือญาติ หรือคู่สมรส หากใช้นามสกุลเดียวกันก็ไม่ยากอะไร ส่วนกรณีที่เป็นพี่น้องแต่ใช้คนละนามสกุลก็สามารถกู้ร่วมกันได้ โดยแสดงหลักฐานให้พิจารณา เช่น ทะเบียนบ้านหรือสูติบัตรที่แสดงให้เห็นว่ามีบิดาหรือมารดาเดียวกัน
กรณีของคู่สมรสไม่จดทะเบียน: ให้นำเสนอหลักฐานประกอบ เช่น หากยังไม่มีบุตรให้ใช้ใบลงบันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจซึ่งระบุว่าอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียน และหากมีบุตรร่วมกันให้ใช้สำเนาทะเบียนบ้านซึ่งจะระบุชื่อของคู่สมรสที่มากู้ร่วม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายพิจารณาการให้สินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงินด้วย
จำนวนผู้ที่มากู้ร่วมกันนั้น มักได้สูงสุดไม่เกิน 3 คน ผู้กู้ร่วมแต่ละคนต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ กล่าวคือมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่าระดับที่กำหนด (โดยส่วนใหญ่ระบุว่าอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นบาท) ไม่มีภาระการผ่อนที่มากเกินไป และไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น หากความสามารถการชำระหนี้มีน้อยหรือเคยมีประวัติหนี้เสีย การมากู้ร่วมจะไม่เกิดประโยชน์อะไร
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ การกู้ร่วมไม่ใช่การขอยืมชื่่อมาใส่เพื่อบวกฐานรายให้สูงขึ้น แต่ผู้กู้ร่วมกันย่อมต้องรับผลทางกฎหมายหลายประการ เช่น ความรับผิดต่อภาระหนี้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และการได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีในส่วนของดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย
การกู้ร่วมนั้น ผู้กู้ร่วมทุกคนถือเสมือนเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินในลำดับเดียวกัน หมายความว่าหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะเรียกชำระหนี้คืนจากผู้กู้รายใดรายหนึ่งหรือทั้งหมดก็ได้ และแม้ว่าจะถึงขั้นยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดแล้ว ความรับผิดต่อหนี้ก็ยังไม่จบ หากจำนวนเงินที่ได้น้อยกว่ายอดหนี้คงค้าง ผู้กู้ร่วมก็ต้องรับผิดในการชำระคืนเงินให้ครบต่อไป
เมื่อผู้กู้ทุกคนต้องเข้ามารับผิดในหนี้ร่วมกันนี้ ผู้กู้แต่ละคนก็ย่อมต้องมีสิทธิรับชอบ คือการถือสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินนั้นๆ ด้วย ดังนั้น โดยปกติแล้ว เวลาจำนองก็จำนองชื่อร่วม เวลาไถ่ถอนจำนองก็จะกลายเป็นสินทรัพย์ของผู้กู้ร่วมทุกราย
กรณีที่บิดาหรือมารดากู้ร่วมกับบุตรแล้วประสงค์จะยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบุตรแต่เพียงผู้เดียว หรือพี่ต้องการยกให้น้อง สามีต้องการยกให้ภรรยา : สิ่งเหล่านี้ย่อมทำได้ เพียงแต่ต้องระบุลงในแบบฟอร์มการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินในช่วงแรกๆ เลยว่าให้ใครเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์
เรื่องนี้สำคัญ เพราะเมื่อไถ่ถอนจำนองแล้วจะขอยกให้เป็นของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนั้น ภาครัฐมองว่าเป็นการทำนิติกรรมสัญญาซื้อขาย ซึ่งอาจมีค่าธรรมเนียมการโอน และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาเกี่ยวข้อง
กรณีผู้กู้ร่วมเป็นคู่สมรสชาวต่างชาติจะมีข้อจำกัดเรื่องการถือกรรมสิทธิ์: ตามกฎหมายแล้วชาวต่างชาติไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินในประเทศไทยได้ (ยกเว้นกรณีที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI) แม้ว่าจะกู้ร่วมกันก็ตาม เมื่อถึงเวลาไถ่ถอนหลักประกัน กรรมสิทธิ์ยังคงเป็นของคู่สมรสชาวไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว
การกู้ร่วมกับชาวต่างชาติยังส่งผลกระทบต่อเงื่อนไขการให้สินเชื่ออีกด้วย เช่น จำกัดวงเงินเหลือเพียงร้อยละ 50 ถึง 60 ของราคาราคาขายหรือราคาประเมินแล้วแต่อันไหนจะต่ำกว่า จากปกติประมาณร้อยละ 80 ถึง 90 ของราคาประเมิน และจำกัดระยะเวลากู้เงินสูงสุดเหลือประมาณ 8 ปี จากปกติซึ่งอยู่ที่ 30 ปี
ในเรื่องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีนั้น ภาครัฐให้สิทธินำดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยมาลดหย่อนจากเงินได้พึงประเมินตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 แสนบาทในแต่ละปีภาษี กรณีที่เป็นการกู้ร่วมกำหนดให้หารเท่าตามจำนวนผู้กู้ เช่น กู้ร่วมสองคนก็คือหารครึ่ง กู้ร่วมสามคนให้หารสาม ผู้กู้ไม่สามารถนำยอดดอกเบี้ยไปกำหนดการใช้สิทธิกันเองตามใจได้ แม้ว่าในทางปฏิบัติจะมีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ผ่อนชำระหนี้ก็ตาม
เมื่อตัดสินใจกู้บ้านร่วมกัน เพื่อให้ได้รับวงเงินกู้ที่สูงขึ้น หรือมีโอกาสกู้ผ่านมากขึ้น K-Expert แนะนำว่า อย่าลืมพิจารณาถึงภาระผูกพันในภาระหนี้ก้อนนี้ที่ตามมาในอนาคต กรรมสิทธิ์ในการถือครอง รวมถึงการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีที่คนใดคนหนึ่งไม่สามารถใช้สิทธิได้เต็มที่เพียงคนเดียว
อัพเดท ข่าวอสังหาริมทรัพย์ สดใหม่ทุกวัน พร้อมส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณฟรี สมัครได้ที่นี่ หรือหากคุณกำลังมองหาบ้าน คอนโด ก็สามารถเลือกชม โครงการใหม่ พร้อม รีวิวโครงการคอนโดใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคาได้เช่นกัน
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ PhD K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com