อยากกู้สร้างบ้านในฝันบนที่ดินเปล่า ต้องทำอย่างไร

DDproperty Editorial Team
อยากกู้สร้างบ้านในฝันบนที่ดินเปล่า ต้องทำอย่างไร
“เตรียมเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการปลูกสร้างบ้านไม่ว่าจะเป็น แบบแปลนบ้าน สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง และใบอนุญาตก่อสร้างให้พร้อมยื่นกู้” – K-Expert
หลายคนมีที่ดินเปล่าเป็นของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะได้มาจากการรับมรดกหรือซื้อที่ดินเอาไว้ก่อน และเมื่ออยากปลูกสร้างบ้านบนที่ดินผืนนั้น ด้วยการกู้เงินกับธนาคาร อาจเกิดข้อสงสัยไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร หรือไม่แน่ใจว่าสามารถขอกู้กับธนาคารได้หรือไม่
ต้องบอกว่าการกู้เงินเพื่อนำไปปลูกสร้างบ้านบนที่ดินกรรมสิทธิ์ของตนเองสามารถทำได้ค่ะ แต่จะมีความแตกต่างกับการกู้ซื้อบ้านแบบปกติบางเรื่อง จะมีอะไรบ้างนั้น K-Expert มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังวางแผนปลูกสร้างบ้านมาฝากค่ะ
SingleHouse

เอกสารการปลูกสร้างบ้านที่ต้องใช้

สำหรับการยื่นกู้ปลูกสร้างบ้านกับธนาคาร นอกจากจะต้องเตรียมเอกสารแสดงตนและเอกสารทางการเงินแล้ว เรายังต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกสร้างอีกด้วยค่ะ ไม่ว่าจะเป็น แบบแปลนบ้าน สัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง และใบอนุญาตก่อสร้าง
ซึ่งแน่นอนค่ะว่า ก่อนที่จะลงมือปลูกสร้างบ้านได้นั้น เราต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เช่น หากบ้านอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ก็สามารถยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างได้ที่ฝ่ายโยธา สำนักงานเขตในพื้นที่บ้านของเรา หรือหากบ้านอยู่ในเขตภูมิภาค สามารถยื่นขอได้ที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนตำบล โดยการขอใบอนุญาตก่อสร้างจะต้องมีแบบแปลนบ้านให้ตรวจสอบ ซึ่งแบบแปลนเราสามารถใช้แบบมาตรฐานของหน่วยงานราชการในพื้นที่ที่มีอยู่ หรือหากใครมีแบบบ้านในใจก็สามารถจ้างสถาปนิกเขียนแบบแปลนให้
ทั้งนี้สถาปนิกหรือบริษัทรับสร้างบ้านมักจะอำนวยความสะดวกในเรื่องการขอใบอนุญาตก่อสร้างให้เราด้วยค่ะ ส่วนการก่อสร้างบ้านเมื่อเราติดต่อกับผู้รับเหมาได้แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องทำสัญญารับเหมาก่อสร้างที่ระบุเงื่อนไขการเบิกเงินของผู้รับเหมาตามความคืบหน้าของการก่อสร้างด้วยค่ะ

วงเงินกู้ที่ธนาคารจะอนุมัติ

หลายคนอาจสงสัยว่า ธนาคารจะอนุมัติวงเงินกู้ให้ได้เท่าไร ในเมื่อบ้านยังสร้างไม่เสร็จ ธนาคารรู้มูลค่าบ้านได้อย่างไร ต้องบอกว่า การให้วงเงินกู้สำหรับปลูกสร้างบ้าน ธนาคารจะประเมินมูลค่าบ้านจากแบบแปลนบ้าน หรือที่เรียกว่าแบบพิมพ์เขียว ซึ่งในแบบแปลนบ้านนอกจากจะระบุรูปแบบบ้านแล้ว ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างบ้านอีกด้วย
นอกจากนี้ธนาคารต้องทำการประเมินมูลค่าที่ดินไปพร้อมๆ กัน ซึ่งปกติแล้วธนาคารมักให้วงเงินกู้ปลูกสร้างบ้านไม่เกิน 100% ของค่าปลูกสร้าง โดยวงเงินต้องไม่เกิน 80% ของราคาประเมินที่ดินพร้อมบ้านค่ะ และเมื่อเราได้รับอนุมัติวงเงินกู้ปลูกสร้างบ้านแล้วต้องไม่ลืมว่า หลักประกันที่จำนองกับธนาคารไม่ใช่แค่ตัวบ้านเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการจำนองที่ดินพร้อมบ้านที่เรากำลังจะก่อสร้างนั่นเองค่ะ

วิธีรับเงินกู้ปลูกสร้างบ้าน

หลังจากที่เราได้รับอนุมัติวงเงินกู้ปลูกสร้างบ้านแล้ว การรับเงินจะไม่ได้เป็นก้อนทีเดียวเหมือนกับการกู้ซื้อบ้านค่ะ แต่ธนาคารจะทยอยให้ตามสัญญาเงินกู้ ซึ่งรับเป็นงวดๆ ตามความคืบหน้าของการปลูกสร้างที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้ เช่น งวดที่ 1 เบิก 500,000 บาท เมื่อวางผังและปรับพื้นตอกเสาเข็มเรียบร้อย จากนั้นสามารถเบิกงวดที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท เมื่อตั้งเสาและเทพื้น เสร็จเรียบร้อย โดยในการเบิกเงินแต่ละงวด ธนาคารจะทำการประเมินความคืบหน้าของการก่อสร้างจริงว่า เป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้หรือไม่ค่ะ
นอกจากเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับการปลูกสร้างบ้านที่ต้องเตรียมยื่นกู้กับธนาคารแล้ว อย่าลืมคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของเราด้วยนะคะ หากเลือกแบบบ้านที่มีค่าใช้จ่ายการก่อสร้างสูงเกินความสามารถในการชำระหนี้อาจทำให้กู้ไม่ผ่านได้ค่ะ ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบ้าน ได้ที่ K-Expert
K-Expert Action
• ติดต่อผู้รับเหมาหลายๆ ราย เพื่อเปรียบเทียบราคาค่าก่อสร้างบ้านก่อนตัดสินใจใช้บริการ
• เลือกแบบบ้านให้เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ และขนาดครอบครัว
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นารีรัตน์ กำเลิศทอง K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์