กู้เพื่อลงทุนคอนโดตากอากาศดีหรือไม่?

DDproperty Editorial Team
กู้เพื่อลงทุนคอนโดตากอากาศดีหรือไม่?
ท่ามกลางบ้านตากอากาศและคอนโดตากอากาศที่ผุดขึ้นมากมายตามหัวเมืองท่องเที่ยวต่างๆ ทั้งเชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา โดยเฉพาะหัวหิน ย่อมเกิดคำถามตามมาจากนักลงทุนอสังหาฯ ที่เล็งเห็นโอกาสในการสร้างรายได้ว่าการลงทุนนั้นควรใช้เงินสดหรือกู้เงินมาลงทุนจึงจะเหมาะสมกว่ากัน รวมไปถึงข้อดีข้อเสียต่างๆ ของการลงทุนบ้าน-คอนโดตากอากาศ หาคำตอบพร้อมๆ กันที่ DDproperty ครับ
borrowHH01
บทความในครั้งนี้ของเราจะเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่าง 2 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 การลงทุนบ้านหรือคอนโดตากอากาศโดยซื้อด้วยเงินสด และทางเลือกที่ 2 การลงทุนบ้านหรือคอนโดตากอากาศโดยการกู้ซื้อ โดยประเด็นที่จะนำมาเปรียบเทียบให้เห็นคือรายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละทางเลือก ตลอดจนผลกำไรหรือขาดทุนที่เกิดขึ้นในตอนท้ายของแต่ละทางเลือก
ทางเลือกที่ 1 ลงทุนบ้านหรือคอนโดตากอากาศโดยซื้อด้วยเงินสด
เมื่อตัดสินใจลงทุนบ้านหรือคอนโดตากอากาศแล้ว โดยคาดหวังผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากส่วนต่างกำไร (Capital Gain) จากการขายออกไปในอนาคต และระหว่างการลงทุนก็มีรายได้จากอัตราผลตอบแทนจากการให้เช่า (Rental Yield) ไปในตัวด้วย และขณะเดียวกันก็สามารถประหยัดเงินค่าที่พักเมื่อไปพักผ่อนในวันหยุดอีกด้วย สำหรับรายจ่ายและรายได้จากการลงทุนบ้านหรือคอนโดตากอากาศด้วยเงินสดมีดังนี้
รายการรายจ่าย กรณีซื้อด้วยเงินสด
1. ค่าจอง เพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดตากอากาศ
2. ค่าบ้านหรือคอนโดตากอากาศ (ราคาที่จ่ายไปตามสัญญาซื้อขาย)
3. ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการซื้อบ้านหรือคอนโดตากอากาศ (เมื่อลงทุน)
4. ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เงินกองทุนส่วนกลาง (Sinking Fund) และรายเดือน
5. ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการให้เช่า ค่าบริหารผู้เช่า ค่าทำความสะอาด ซ่อมแซม
รายการรายได้ กรณีซื้อด้วยเงินสด
1. ค่าเช่าจากการให้เช่าบ้านหรือคอนโดตากอากาศในช่วงที่ไม่อยู่
2. ประมาณการค่าที่พักโรงแรม รีสอร์ทที่สามารถประหยัดได้
(ประมาณการไว้ว่าจะมีการไปพักผ่อนปีละ 60 วัน ค่าที่พักวันละ 5,000 บาท ต่อเนื่องตลอด 30 ปี)
3. รายได้จากการขายบ้านหรือคอนโดตากอากาศออกไป (เลิกลงทุน)
ตัวอย่าง การตัดสินใจลงทุนด้วยการซื้อคอนโดตากอากาศขนาด 60 ตารางเมตร ในราคา 4 ล้านบาทด้วยเงินสด โดยมีการจ่ายเงินค่าจอง 40,000 บาท และค่าธรรมเนียม 1% ของราคาขาย มีค่ากองทุนส่วนกลางจ่ายครั้งแรกพร้อมโอนห้องตารางเมตรละ 800 บาท และค่าส่วนกลางรายเดือน 65 บาทต่อตารางเมตร จากนั้นปล่อยเช่าในราคาวันละ 5,000 บาท โดยประมาณการปล่อยเช่าที่ 15% ต่อปี และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการให้เช่า 30% ของรายได้จากการให้เช่า ในท้ายที่สุดของการลงทุน กำหนดให้ขายคอนโดนี้ออกไปหลังจากปีที่ 30 โดยคาดคะเนอัตราส่วนต่างกำไรจากการขาย Capital Gain ไว้ที่ 10% โดยมีค่าใช้จ่ายในการขาย ได้แก่ ค่าธรรมเนียมโอน 1% ค่าอากร 0.5% และภาษีเงินได้ส่วนบุคคล คำนวณได้ดังตารางแสดงรายได้และรายจ่ายตลอดการลงทุนด้านล่างนี้
borrowHH02A
borrowHH02B
borrowHH02C
ทางเลือกที่ 2 ลงทุนบ้านหรือคอนโดตากอากาศโดยกู้ซื้อ
สำหรับทางเลือกนี้จะคล้ายคลึงกับทางเลือกที่ 1 โดยผู้ลงทุนนั้นจะมีรายได้เข้ามาจากค่าเช่าตลอดระยะเวลาที่ลงทุน และเมื่อเลิกลงทุนแล้วขายบ้านหรือคอนโดตากอากาศออกไปผู้ลงทุนก็จะได้รับส่วนต่างกำไรจากการขาย และเช่นเดียวกันก็คือจำนวนเงินประมาณที่ผู้ลงทุนสามารถประหยัดรายจ่ายค่าที่พักสำหรับการพักผ่อน อย่างไรก็ตามทางเลือกนี้จะมีข้อแตกต่างจากทางเลือกที่ 2 อย่างชัดเจนตรงที่ผู้ลงทุนนั้นไม่ได้ใช้เงินของตนเองหรือเงินสดที่มีอยู่ในการลงทุน แต่เลือกที่จะกู้เงินจากสถาบันการเงินมาเพื่อลงทุน ซึ่งเมื่อมีการกู้ก็จะทำให้เกิดต้นทุนทางการเงินตามมาในรูปของดอกเบี้ย และต้นทุนทางการเงินนี้เองที่ทำให้กำไรที่ได้รับจากการลงทุนน้อยลง สรุปรายการที่เป็นรายได้และรายจ่ายจากการลงทุนบ้านหรือคอนโดตากอากาศโดยการกู้ซื้อได้ดังนี้
รายการรายจ่าย กรณีกู้ซื้อ
1. ค่าจอง เพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดตากอากาศ
2. ค่าดาวน์ ส่วนที่นอกเหนือจากวงเงินกู้ กรณีที่กู้ได้ไม่เต็ม 100%
a. ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้
b. ค่าประเมินหลักทรัพย์
c. ค่าธรรมเนียมจำนองหลักประกัน 1% ไม่เกิน 200,000 บาท
d. ค่าประกันอัคคีภัย
e. ค่าประกันชีวิตผู้กู้ MRTA
4. ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการซื้อบ้านหรือคอนโดตากอากาศ (เมื่อลงทุน)
5. ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เงินกองทุนส่วนกลาง (Sinking Fund) และรายเดือน
6. ค่างวดผ่อนชำระสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยรายเดือน
7. ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการให้เช่า ค่าบริหารผู้เช่า ค่าทำความสะอาด ซ่อมแซม
8. ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมการขายบ้านหรือคอนโดตากอากาศ (เมื่อเลิกลงทุน)
รายการรายได้ กรณีกู้ซื้อ
1. ค่าเช่าจากการให้เช่าบ้านหรือคอนโดตากอากาศในช่วงที่ไม่อยู่
2. ประมาณการค่าที่พักโรงแรม รีสอร์ทที่สามารถประหยัดได้
(ประมาณการไว้ว่าจะมีการไปพักผ่อนปีละ 60 วัน ค่าที่พักวันละ 5,000 บาท ต่อเนื่องตลอด 30 ปี)
3. จำนวนเงินลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท
(จำนวนเงินลดหย่อนนี้จะนำไปหักลบออกจากยอดเงินได้พึงประเมินก่อนที่จะนำเข้าสู่การคำนวณภาษีต่อไป
ไม่ได้เป็นการหักออกจากจำนวนภาษี)
4. รายได้จากการขายบ้านหรือคอนโดตากอากาศออกไป (เลิกลงทุน)
ตัวอย่าง การตัดสินใจลงทุนด้วยการซื้อคอนโดตากอากาศขนาด 60 ตารางเมตร ในราคา 4 ล้านบาทด้วยการกู้ซื้อ โดยสามารถกู้ได้เพียง 90% เท่านั้น วงเงินกู้เท่ากับ 3,600,000 บาท อีก 10% ที่เหลือเท่ากับจำนวนเงิน 400,000 บาท ต้องจ่ายเป็นค่าดาวน์ ผ่อนสินเชื่องวดละ 25,000 บาท เป็นระยะเวลา 30 ปี (ตลอดช่วงเวลาการลงทุน) งวดชำระรวมแต่ละปีจะชำระไปเพื่อส่วนดอกเบี้ย 110,000 กว่าบาทโดยเฉลี่ย (ดังนั้นจะได้ลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ตามจริงไม่เกิน 100,000 บาท) ซึ่งทั้งหมดข้างต้นเป็นรายละเอียดที่แตกต่างเพิ่มเติมเข้ามาจากตัวอย่างในทางเลือกที่ 1 ที่เป็นการลงทุนโดยใช้เงินสด
รายละเอียดส่วนอื่นๆ นี้จะเหมือนกับตัวอย่างในทางเลือกที่ 1 ได้แก่ การจ่ายเงินค่าจอง 40,000 บาท และค่าธรรมเนียม 1% ของราคาขาย มีค่ากองทุนส่วนกลางจ่ายพร้อมโอนห้องตารางเมตรละ 800 บาท และค่าส่วนกลางรายเดือน 65 บาทต่อตารางเมตร ปล่อยเช่าในราคาวันละ 5,000 บาท โดยประมาณการปล่อยเช่าที่ 15% ต่อปี และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการให้เช่า 30% ของรายได้จากการให้เช่า ในตอนสุดท้ายกำหนดให้ขายคอนโดนี้ออกไปหลังจากลงทุนปีที่ 30 โดยคาดคะเนอัตราส่วนต่างกำไรจากการขาย Capital Gain ไว้ที่ 10% โดยมีค่าใช้จ่าย ได้แก่ค่าธรรมเนียมโอน 1% ค่าอากร 0.5% และภาษีเงินได้ส่วนบุคคล คำนวณได้ดังตารางแสดงรายได้และรายจ่าย ในการลงทุนด้านล่างนี้
borrowHH03A
borrowHH03B
borrowHH03C
เปรียบเทียบการลงทุนบ้านหรือคอนโดตากอากาศระหว่างการซื้อด้วยเงินสดกับการกู้ซื้อ
borrowHH04
การลงทุนซื้อคอนโดตากอากาศนั้นผู้ลงทุนจะมีทางเลือกด้วยกันอีก 2 ทางเลือกคือ การซื้อด้วยเงินสดตามทางเลือกที่ 1 และการกู้ซื้อด้วยการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินดังทางเลือกที่ 2 ซึ่งจากการเปรียบเทียบพบว่า การซื้อด้วยเงินสดนั้นจะมีต้นทุนจากการซื้อคอนโดที่ต่ำกว่าการกู้ซื้อ เนื่องจากการกู้ซื้อนั้นจะมีต้นทุนทางการเงิน ซึ่งก็คือดอกเบี้ยของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ถึงแม้ว่าการกู้ซื้อนั้นผู้ลงทุนจะได้รับการลดหน่อยภาษีจากดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ตามก็เป็นจำนวนเงินไม่มากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่เสียไป จึงพบว่าต้นทุนของการลงทุนซื้อคอนโดตากอากาศด้วยการกู้ซื้อนั้นสูงกว่าการซื้อด้วยเงินสดถึง 2,350,000 บาท (7,882,000 – 5,532,000)
ระหว่างการลงทุนคอนโดตากอากาศ ผู้ลงทุนได้นำคอนโดนั้นปล่อยเช่าในอัตราค่าเช่า 5,000 บาทต่อวัน และประมาณการอัตราการเข้าพักไว้ที่ 15% ในแต่ละปี หรือเทียบเท่ากับ 55 วันต่อปี ทำให้ประมาณการรายได้จากค่าเช่าได้เท่ากับ 8,250,000 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ยังมีค่าใช้จ่ายแปรผันจากการให้เช่า ได้แก่ ค่าบริหารผู้เช่า ค่าแม่บ้านและการซ่อมแซมคอนโดตามความจำเป็น ประมาณการไว้ที่ 30% ของค่าเช่า ทำให้ท้ายที่สุดแล้วกำไรจากการให้เช่าคอนโดตากอากาศอยู่ที่ 14,775,000 บาทตลอด 30 ปี ซึ่งการเลือกลงทุนคอนโดตากอากาศด้วยเงินสดหรือการกู้ซื้อนั้นไม่มีผลทำให้เกิดความแตกต่างในด้านกำไรจากการให้เช่า
อีกทั้งทั้ง 2 ทางเลือกนั้นสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายจากค่าที่พักได้ โดยเมื่อเปรียบเทียบกับการเข้าพักที่โรงแรมหรือรีสอร์ท โดยมีอัตราเข้าพักวันละ 5,000 บาท และในแต่ละปีจะไปพักผ่อนครึ่งหนึ่งของวันหยุดทั้งหมดคือ 60 วัน เช่นนี้เรื่อยไปตลอดระยะเวลา 30 ปี จะพบว่าจะมีค่าใช้จ่ายจากค่าที่พักทั้งหมดเป็นเงินทั้งสิ้น 9,000,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนึ้คือเงินที่สามารถประหยัดได้จากการการลงทุนซื้อคอนโดตากอากาศดังปรากฎจำนวนเงินที่ประหยัดได้ในทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2
เช่นเดียวกับกำไรจากการขายคอนโดตากอากาศออกไปเมื่อเลิกการลงทุนในตอนท้ายที่สุด ซึ่งกำหนดให้ขายคอนโดออกไปในราคาที่มากกว่าตอนซื้อมา 10% โดยในการขายนั้นทั้งทางเลือกที่ซื้อด้วยเงินสดและทางเลือกที่กู้ซื้อจะเกิดค่าใช้จ่ายในการขาย ได้แก่ ค่าธรรมเนียมโอน ค่าอากร และภาษีเงินได้ส่วนบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งไม่มีข้อแตกต่างในส่วนนี้ทำให้ทั้งทางเลือกที่ 1 และ 2 ได้ส่วนต่างกำไรจากการขายคอนโดตากอากาศเท่ากันที่ 226,000 บาท
โดยสรุปแล้ว การลงทุนคอนโดตากอากาศด้วยเงินสดนั้นจะได้กำไรสุทธิมากกว่าการลงทุนคอนโดตากอากาศด้วยการกู้ซื้อ เนื่องจากไม่มีต้นทุนทางการเงิน ดังกรณีศึกษาที่พบว่าในท้ายที่สุดแล้วทางเลือกที่ 1 นั้นมีกำไรสุทธิมากกว่าทางเลือกที่ 2 ถึง 4,825,000 บาท
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัตินั้นยังมีปัจจัยต่างๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมและส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนที่จะได้รับจากการลงทุนคอนโดตากอากาศ ซึ่งผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียด
borrowHH05
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความคุ้มค่าในการลงทุนคอนโดตากอากาศ
จากกรณีศึกษาด้านบนสามารถสรุปปัจจัยที่ส่งผลอย่างมากต่อความคุ้มค่าในการลงทุนคอนโดตากอากาศ ซึ่งพิจารณาพบว่าความคุ้มค่าจากคอนโดตากอากาศนั้นมาจาก 4 ปัจจัยหลักๆ ดังนี้
การประหยัดค่าที่พัก
การซื้อคอนโดตากอากาศนั้นทำให้ไม่ต้องไปพักโรงแรมหรือรีสอร์ทจึงประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้อย่างมาก ดังนั้นยิ่งไปพักผ่อนที่คอนโดตากอากาศบ่อยแค่ไหนก็ยิ่งประหยัดได้มากและเกิดความคุ้มค่ามากขึ้น ในทางตรงข้ามการซื้อคอนโดไว้แต่ไม่ค่อยได้ไปก็จะทำให้เกิดความไม่คุ้มค่าอย่างมากเช่นกัน ขณะเดียวกันสิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือเมื่อซื้อคอนโดตากอากาศแล้วย่อมหมายถึงการไปพักผ่อนในสถานที่เดิมๆ ต่อเนื่องกันในระยะยาว และทำให้เสียโอกาสในการไปเที่ยวที่อื่นๆ เพราะจะเกิดค่าใช้จ่ายค่าที่พักขึ้นอีก
การให้เช่าคอนโดตากอากาศ
ค่าเช่าคือรายได้หลักจากการลงทุนนี้ ดังนั้นการลงทุนจะเกิดความคุ้มค่าก็ต่อเมื่อคอนโดนั้นสามารถปล่อยเช่าได้ไม่ต่ำกว่าอัตราที่คาดหวังเอาไว้ ในระดับราคาที่ตั้งเอาไว้ โดยที่ค่าใช้จ่ายแปรผันจากการปล่อยเช่านั้นไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคอนโดตากอากาศนั้นไม่ใช่ที่อยู่อาศัยที่จำเป็นอย่างคอนโดในเมือง ความต้องการในการเช่าจึงไม่ได้มีอยู่อย่างสม่ำเสมอ จะมีเพียงบางช่วง บางเทศกาล หรือบางฤดูเท่านั้น คอนโดตากอากาศในบางทำเลจะมีความต้องการเข้าพักเฉพาะช่วงวันหยุด หรือฤดูกาลท่องเที่ยวเท่านั้น จึงมีความเสี่ยงที่อัตราเข้าพักจะต่ำกว่าที่ประมาณการเอาไว้
นอกจากนี้การประมาณการในระยะยาวถึงอัตราค่าเช่าและค่าใช้จ่ายจากการให้เช่านั้นอาจจะเกิดความคาดเคลื่อนได้ในระยะยาว อัตราค่าเช่านั้นอาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคตได้หากในทำเลนั้นเป็นที่ต้องการท่องเที่ยวอย่างมาก และมีที่พักไม่เพียงพอ แต่ในทางตรงข้ามหากทำเลดังกล่าวไม่เป็นที่สนใจ หรือมีปัญหาด้านการเดินทางหรือสิ่งแวดล้อมย่อมทำให้ความต้องการเข้าพักต่ำ ประกอบกับอายุของคอนโดที่มากขึ้น มีความเก่าตามกาลเวลา หรือมีคอนโดตามอากาศใหม่เปิดขึ้นแทนที่ อาจทำให้ไม่สามารถยึดอัตราค่าเช่าที่ตั้งเอาไว้ได้ และยิ่งมีการตัดราคาค่าเช่าระหว่างคอนโดในทำเลก็จำเป็นต้องลดค่าเช่าลง ทำให้รายได้จากค่าเช่าต่ำกว่าที่คาดหมาย
ในส่วนค่าใช้จ่ายแปรผันจากการให้เช่านั้น ส่วนใหญ่คือค่าจ้าง จ้างคนมาบริหารการปล่อยเช่า จ้างแม่บ้านมาทำความสะอาดคอนโด จ้างช่างมาซ่อมแซมคอนโด ค่าจ้างนั้นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ในระยะยาวค่าใช้จ่ายจากการให้เช่านี้อาจจะสูงกว่าที่ประมาณการเอาไว้ ซึ่งหมายถึงกำไรจากการให้เช่าที่ลดต่ำลง
กำไรจากการขายคอนโดตากอากาศ
คอนโดหรือบ้านตากอากาศนั้นถ้าจะลงทุนก็ควรที่จะลงทุนในระยะยาว เนื่องจากราคาบ้านและคอนโดตากอากาศนั้นไม่ได้ปรับตัวขึ้นในอัตราที่สูงในระยะเวลาสั้นเมื่อเทียบกับบ้านหรือคอนโดในเมือง ดังนั้นเมื่อผู้ลงทุนขายคอนโดหรือบ้านตากอากาศออกไปเพื่อเลิกลงทุนในตอนท้ายที่สุดอาจจะไม่ได้ส่วนต่างกำไรจากการขายมากเท่าที่คาดหวังเอาไว้แม้ว่าจะเป็นการลงทุนในระยะยาวก็ตาม
นอกจากนี้สาเหตุหนึ่งที่จะทำให้กำไรจากการขายนั้นน้อยลงหรือขาดทุนก็เนื่องจากผู้ลงทุนอาจต้องการรีบขายเนื่องจากต้องการเงินสดอย่างเร่งด่วน และคอนโดหรือบ้านตากอากาศนั้นมีสภาพคล่องที่ต่ำกว่าบ้านหรือคอนโดในเมือง จึงทำให้อาจต้องลดราคาขายลง หรือใช้บริการช่วยขายจากผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาฯ ซึ่งจะเกิดค่าใช้จ่ายขึ้นมาอีก
ต้นทุนทางการเงิน
เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความคุ้มค่าของการลงทุนบ้านหรือคอนโดตากอากาศ ดังแสดงในกรณีศึกษาจะพบว่าการมีต้นทุนทางการเงินต่ำหรือไม่มีต้นทุนทางการเงินเลยจะทำให้ได้รับกำไรสุทธิจากการลงทุนสูงที่สุด ดังนั้นหากตัดสินใจลงทุนคอนโดตากอากาศแล้วต้องพึ่งพาสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็ควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาเลือกวงเงินกู้ต่ำ อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อลดต้นทุนทางการเงินให้มากที่สุด
หวังว่ากรณีศึกษาของเราในครั้งนี้จะช่วยเป็นแนวทางที่ดีในการตัดสินใจลงทุนบ้านและคอนโดตากอากาศของคุณครับ
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย เชษฐพล มานิตย์ นักเขียนออนไลน์ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ chetapol@ddproperty.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ