สัญญาซื้อขายเป็นเอกสารที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการซื้อขายบ้าน ผู้ซื้อจึงต้องพิจารณาทุกรายละเอียดอย่างรอบคอบ แต่ความถูกต้องก็ไม่ได้ดูแค่สัญญาซื้อขายบ้านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังมีเอกสารประกอบอีกหลายส่วนที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ผู้ซื้อจึงต้องเข้าใจถึงบทบาทของสัญญาแต่ละประเภท และตรวจสอบข้อมูลที่ต้องใส่ใจ เพื่อเซ็นสัญญาซื้อขายบ้านได้โดยไม่ถูกเอาเปรียบ หรือหากพบปัญหา สัญญาไม่ถูกต้อง มีการโกงการเอาเปรียบเกิดขึ้นจะได้สามารถยกเลิกสัญญาซื้อบ้านได้
สัญญาที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายบ้าน
1. สัญญาจองซื้อบ้าน
สัญญาจองซื้อบ้าน คือ เอกสารซื้อขายบ้านประเภทหนึ่งที่มักจะเกิดในกรณีซื้อบ้านหรือคอนโดที่ยังไม่ก่อสร้าง หรือยังไม่สามารถระบุแปลงที่ดินหรือพื้นที่บ้านได้อย่างชัดเจน จึงเกิดสัญญาจองซื้อบ้านไว้ก่อนจนกว่าจะมีรายละเอียดเพียงพอให้ทำสัญญาจะซื้อจะขายได้ และเงื่อนไขในการผ่อนดาวน์ก็จะปรากฏอยู่ในสัญญาฉบับนี้ เป็นรายละเอียดสำคัญ ซึ่งหากผู้ซื้อผู้ขายไม่ทำตามสัญญา ก็มีสิทธิ์ยกเลิกสัญญาซื้อบ้านหรือถูกริบเงินจองได้เช่นกัน
2. สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน
สัญญาจะซื้อจะขายบ้าน คือ เอกสารต้นทางที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการตกลงจะซื้อจะขายกัน ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ใช้ระบุเงื่อนไขทั้งหมดในการซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์บ้าน หากมีการผิดสัญญาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ก็สามารถฟ้องร้องเอาผิดได้ตามกฎหมาย และยกเลิกสัญญาซื้อบ้านได้ ดังนั้นการซื้อขายบ้านจึงมักจะเกิดสัญญาก่อนทำสัญญาซื้อขายบ้านจริง ๆ
- ตัวอย่าง สัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดิน จาก กรมที่ดิน
3. สัญญาซื้อขายบ้าน
สัญญาซื้อขายบ้าน คือ เอกสารปลายทางที่จะทำให้การตกลงซื้อขายบ้านมีผลทางกฎหมาย เพื่อให้กรรมสิทธิ์บ้านกลายเป็นของผู้ซื้ออย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยสัญญาซื้อขายบ้านจะต้องได้รับการจดทะเบียนโดยเจ้าพนักงานของสำนักงานที่ดินในท้องที่เท่านั้น และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า หนังสือสัญญาขายที่ดิน (ท.ด. 13)
4. เอกสารแนบท้ายสัญญา
เอกสารแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาซื้อขาย คือ เอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบข้อตกลงในการซื้อขาย เช่น เงื่อนไขเพิ่มเติม สเปกวัสดุบ้าน ของแถม หรือโปรโมชั่นต่าง ๆ ที่ได้ตกลงกันไว้นอกเหนือจากรายละเอียดที่ระบุในสัญญา ซึ่งข้อตกลงทั้งหมดจะต้องระบุเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน โดยอาจมีภาพและแผนผังประกอบด้วย

5. ข้อมูลสำคัญในเอกสารซื้อขายบ้าน
1.ขนาดและราคาซื้อขาย | ผู้ซื้อต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ขนาดที่ดิน พื้นที่บ้าน และราคาในสัญญาจะซื้อจะขายนั้นเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ ส่วนสัญญาซื้อขาย (ท.ด. 13) จะต้องมีการตรวจสอบราคาซื้อขายบ้านและเลขที่โฉนดที่ดินในสัญญาให้ถูกต้องด้วย |
2.วันที่นัดโอนกรรมสิทธิ์ | สัญญาจะซื้อจะขายต้องกำหนดวันที่นัดโอนกรรมสิทธิ์ โดยต้องเผื่อเวลาสำหรับการยื่นขอสินเชื่อและตรวจรับบ้านด้วย หากสัญญาจะซื้อจะขายไม่มีวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ สัญญานั้นก็จะกลายเป็นสัญญาซื้อขายที่เป็นโมฆะไปโดยปริยาย |
3.การรับผิดชอบค่าใช้จ่าย | การซื้อขายบ้านจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และภาษีอากร ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหา หากผู้ซื้อไม่ตกลงกับผู้ขายให้ดี โดยใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนไหน ก็ต้องระบุในสัญญาจะซื้อจะขายให้ชัดเจน โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จากอัตราปกติ 2.00% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากอัตราปกติ 1.00 % เหลือ 0.01% สำหรับบ้าน-คอนโดราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 |
4.เบี้ยปรับเมื่อผิดสัญญา | ผู้ซื้อมีสิทธิ์คิดเบี้ยปรับรายวันได้ในอัตราไม่ต่ำกว่า 0.01% แต่รวมกันไม่เกิน 10% ของราคาซื้อขาย หากผู้ขายมีความล่าช้าในการส่งมอบบ้านหรือขอยกเลิกโดยที่ผู้ซื้อไม่ได้ทำผิดสัญญา และเบี้ยปรับควรระบุไว้ในสัญญาอย่างชัดเจน |
5. ข้อตกลงและเงื่อนไขอื่น ๆ | ผู้ซื้อต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าตนเองจะได้รับความเป็นธรรมในสัญญาทุก ๆ ข้อ เช่น การยกเลิกสัญญาซื้อบ้าน การคืนเงินมัดจำ และการรับประกันบ้าน ส่วนสัญญาซื้อขายจะระบุเงื่อนเพิ่มเติมในส่วนท้ายของสัญญา โปรดอ่านให้ครบถ้วนก่อนเซ็นสัญญา |
ข้อควรทราบก่อนเซ็นสัญญาซื้อขายบ้าน
ควรทำสัญญาจะซื้อจะขายก่อนเสมอ
เนื่องจากกฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำสัญญาจะซื้อจะขายก่อน ผู้ซื้อจึงจูงมือผู้ขายไปทำสัญญาซื้อขายกับกรมที่ดินได้เลย แต่การซื้อบ้านเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาในขอสินเชื่อและตรวจรับบ้าน จึงต้องมีสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อผูกมัดข้อตกลงกันก่อนจะซื้อขายจริงซึ่งหากผิดข้อตกลงกันภายหลังจากทำสัญญา จะได้สามารถยกเลิกสัญญาซื้อบ้านได้
ทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบก่อนเซ็น
ผู้ซื้อจำเป็นต้องตรวจสอบบ้านที่จะซื้อให้แน่ใจว่ามีสภาพสมบูรณ์พร้อมและเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ทุกประการ เพราะถ้าเซ็นสัญญาซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์แล้ว บ้านจะกลายเป็นของผู้ซื้อโดยสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะคืน หากพบปัญหาในภายหลัง แต่หากตรวจเช็กสัญญาและพบข้อผิดพลาดก็สามารถยกเลิกสัญญาซื้อบ้านก่อนเซ็นได้
การซื้อขายบ้านนั้นเป็นเรื่องใหญ่และมีรายละเอียดมากมายที่ต้องใส่ใจ ก่อนเซ็นเอกสารซื้อขายบ้านกับผู้ขาย ผู้ซื้อจึงต้องอ่านให้ละเอียดที่สุด เพราะสัญญาเกี่ยวกับการซื้อขายบ้านมีผลทางกฎหมาย การรับทราบข้อตกลงและรายละเอียดที่มีความยุติธรรม ก็จะทำให้ผู้ซื้อไม่เสียเปรียบในภายหลัง และสามารถที่จะยกเลิกสัญญาซื้อบ้านได้ตลอดก่อนที่จะมีการลงลายลักษณ์อักษรเป็นรายเซ็น
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ