ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เชื่อว่าหลายคนคงงง ๆ อยู่ไม่น้อย เนื่องจากภาษีที่ดินฉบับใหม่ยังคงมีประเด็นที่ต้องจับตาอีกหลายด้าน รวมทั้งยังไม่มีกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนออกมาในหลาย ๆ เรื่อง และมีข้อมูลอัปเดตออกมาเป็นระยะ สามารถติดตามได้ที่นี่
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
- ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566
- ครม. คงอัตราภาษีที่ดินฯ เดิม ต่อไปอีก 2 ปี
- ขยายเวลาจ่ายภาษีที่ดินฯ 2566
- ช่องทางติดต่อ แฟกซ์/E-mail แจ้งเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
- ถ้าจ่ายภาษีที่ดินฯ ล่าช้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
- แจงแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
มาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566
ล่าสุดเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พระราชกฤษฎีกาลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15% ปีภาษี 2566 โดยมีที่ดินสิ่งปลูกสร้างที่เข้าข่าย 4 ประเภท ได้แก่
1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย
3. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากข้อ 1 และ 2
4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ
อย่างไรก็ตาม เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เพื่อลดภาระและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป
ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กับที่ดินบางประเภท
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้มีการปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566 สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้รับการลดภาษีตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ให้ลดภาษีในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่คำนวณได้ ตัวอย่างกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่เคยได้รับการลดภาษี ได้แก่ โรงพยาบาล ร้านทำผม ร้านอาหาร ร้านล้างรถ และห้างสรรพสินค้า
2. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดภาษี 50% ตามพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 เมื่อคำนวณลดภาษีในอัตรา 50% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสียแล้ว ให้ลดภาษีลงอีกในอัตรา 15% ของจำนวนภาษีที่ลดไปแล้ว 50% ตัวอย่างกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้รับการลดภาษี 50% ได้แก่
– ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน เฉพาะทรัพย์สินที่บุคคลดังกล่าวได้มาทางมรดกและได้จดทะเบียนแล้วก่อนวันที่ 13 มีนาคม 2562
– ที่ดินที่ตั้งของโรงผลิตไฟฟ้า
– ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นเขื่อน
3. กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้รับการลดภาษี 90% ตามพ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 แล้ว จะไม่ได้รับการลดภาษีเพิ่มอีก เนื่องจากมาตรา 55 แห่ง พร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จะมีอัตราการลดภาษีสูงสุดอยู่ที่ 90% ได้แก่
– โรงเรียนในระบบ
– โรงเรียนนอกระบบ (ประเภทสอนศาสนา ตาดีกา ปอเนาะ)
– สวนสัตว์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
– สวนสนุกที่มีเครื่องเล่นที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
คงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเดิมต่อไปอีก 2 ปี
สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนดให้ 2 ปีแรกของการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปีภาษี 2563-2564 ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษีที่จะใช้อยู่ในปัจจุบันจะครบกำหนดระยะเวลาในปีภาษี 2564 ในวันที่ 31 ธันวาคม 2564
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรึ (ครม.) จึงมีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. เพื่อเป็นการกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ปีภาษี 2565-2566 โดยคงอัตราภาษีแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ที่ดินเพื่อการประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.01-0.1%
2. ที่อยู่อาศัย แบ่งเป็น
2.1 บ้านหลังหลัก เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี มูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.03-0.1%
2.2 บ้านหลังหลัก เป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มูลค่าทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี มูลค่า 10 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.02-0.1%
2.3 บ้านหลังอื่น ๆ อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.02-0.1%
3. การใช้ประโยชน์อื่น หรือใช้เชิงพาณิชย์ เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม ร้านอาหาร พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.3-0.7%
4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีที่ดินว่างเปล่าที่จัดเก็บในปัจจุบันอยู่ที่ 0.3-0.7%
ทั้งนี้ การคงอัตราภาษีแบบเดิมเช่นเดียวกับปีภาษี 2563 และ 2564 ไปอีกระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้กับผู้เสียภาษี และเพื่อให้ผู้เสียภาษีได้มีระยะเวลาในการปรับตัวสำหรับการชำระภาษีในอัตราที่แท้จริง
ขยายเวลาจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2566
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีสาระสำคัญคือ ขยายเวลาดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกไปอีก 2 เดือน ดังนี้
1. ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่อประกาศและจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ผู้เสียภาษีแต่ละรายทราบ จากเดิมภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นภายในเดือนมกราคม 2566
2. ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่จัดเก็บ และรายละเอียดอื่นที่จำเป็น ในการจัดเก็บภาษี จากเดิมก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นก่อนวันที่ 1 เมษายน 2566
3. ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแจ้งการประเมินภาษี โดยส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี จากเดิมภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เป็นภายในเดือนเมษายน 2566
4. ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษี จากเดิมภายในเดือนเมษายน 2566 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2566
5. ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการผ่อนชำระภาษี โดย
1) งวดที่ 1 จากเดิมภายในเดือนเมษายน 2566 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2566
2) งวดที่ 2 จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2566
3) งวดที่ 3 จากเดิมภายในเดือนมิถุนายน 2566 เป็นภายในเดือนสิงหาคม 2566
6. ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชำระ จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2566 เป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2566
7. ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการแจ้งรายการภาษีค้างชำระให้สำนักงานที่ดินหรือสำนักงานที่ดินสาขา จากเดิมภายในเดือนมิถุนายน 2566 เป็นภายในเดือนสิงหาคม 2566
เพิ่มช่องทางแฟกซ์/E-mail แจ้งเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดิน
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เพิ่มช่องทางการแจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ตามแบบ ภ.ด.ส. 5 สามารถดำเนินการโดยผ่านทางโทรสารหรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) ของสำนักงานเขตท้องที่ซึ่งที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่ได้
โดยให้ถือว่าวันที่สำนักงานเขตได้รับแบบ ภ.ด.ส. 5 ซึ่งมีข้อมูลเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์และลายมือซื่อผู้เสียภาษีถูกต้องครบถ้วน เป็นวันที่ผู้เสียภาษีแจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินฯ
– กรณีแจ้งทางโทรสารหรือแฟกซ์ ให้ผู้เสียภาษีโทรศัพท์สอบถามผลการส่งแบบ ภ.ด.ส. 5 อีกครั้ง เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดจากการรับส่ง
– กรณีแจ้งทาง E-mail ให้สำนักงานเขตแจ้งผลการส่งแบบ ภ.ด.ส. 5 ให้ผู้เสียภาษีทราบทาง E-mail ภายในวันทำการถัดไป และให้ผู้เสียภาษีเก็บแบบ ภ.ด.ส. 5 ดังกล่าวไว้ จนกว่าจะได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีตามการใช้ประโยชน์ในปีถัดไป
ดาวน์โหลดเอกสารฟรี
ดาวน์โหลดแบบ ภ.ด.ส. และประกาศแจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน
โดยสามารถตรวจสอบหมายเลขโทรสารและ E-mail ของสำนักงานเขตได้ตามข้อมูลด้านล่างนี้
บางคอแหลม
02-292-1336
–
02-292-1336, 02-291-0285 ต่อ 5921-5922, 02-291-3800 ต่อ 5921-5922
ประเวศ
02-328-7161
–
02-328-7161, 02-328-7111, 02-328-7428, 02-328-7812 ต่อ 6371, 6372
ป้อมปราบศัตรูพ่าย
02-281-0281 ต่อ 6421
–
02-281-0202, 02-281-0281 ต่อ 6421
ภาษีเจริญ
02-413-0564
–
02-413-0564, 02-413-0383 ต่อ 6621-6622, 02-413-0565 ต่อ 6621-6622
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคำนวณอย่างไร
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การคำนวณภาษีที่ดิน เรื่องที่เจ้าของบ้านควรรู้
ถ้าจ่ายภาษีบ้านและที่ดินล่าช้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ภาษีค้างชําระที่จะต้องติดตามเร่งรัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้เสียภาษีภายในเดือนถัดไป เพื่อให้มาชําระภาษีค้างชําระ พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยจะเสียค่าปรับดังนี้
1. ถ้าไม่ได้มาจ่ายภาษีภายในเวลาที่กําหนด แต่ต่อมาได้มาชําระภาษีก่อนที่จะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับ 10% ของจํานวนภาษีค้างชําระ
2. ถ้าจ่ายภาษีภายในระยะเวลาที่กําหนดในหนังสือแจ้งเตือนให้คิดเบี้ยปรับ 20% ของจํานวนภาษีค้างชําระ
3. ถ้าจ่ายภาษีภายหลังจากเวลาที่กําหนดในหนังสือแจ้งเตือน ให้คิดเบี้ยปรับ 40% ของจํานวนภาษีค้างชําระ
4. ผู้เสียภาษีที่มิได้ชําระภาษีภายในเวลาที่กําหนด ให้เสียเงินเพิ่มอีก 1% ต่อเดือนของ จํานวนภาษีค้างชําระ โดยให้เริ่มนับเมื่อพ้นกําหนดเวลาชําระภาษีจนถึงวันที่มีการชําระภาษี แต่ต้องไม่เกินกว่าจํานวนภาษีที่ต้องจ่าย
นอกจากนี้ ถ้าผู้เสียภาษีไม่มาชําระภายในระยะเวลาที่กําหนดในหนังสือแจ้งเตือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะส่งข้อมูลการค้างชำระไปให้สำนักงานที่ดิน ทำให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างจะทําไม่ได้
หากมีภาษีค้างชำระ และหากพ้นกําหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ค้างชําระภาษีได้รับหนังสือแจ้งเตือน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถยึด อายัด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ค้างชำระภาษีไปขายทอดตลาดได้

แจงแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ที่อยู่อาศัยที่ปล่อยเช่าก็เสียภาษีบ้านและที่ดินในอัตราที่อยู่อาศัย
เนื่องจากการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีด้วยกันหลายประเภท เพื่อไม่เกิดผลกระทบกับประชาชนที่มีจุดประสงค์หลักในการใช้ประโยชน์บนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัย กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ได้มีการชี้แจงแนวทางการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่ ห้องชุด บ้าน โรงเรือน อาคาร ตึก ตึกแถว หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใด ที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัยไว้ ดังนี้
1. เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะให้บุคคลใช้เพื่อการอยู่อาศัย เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของใช้อยู่อาศัยเอง ให้ญาติพี่น้องอยู่อาศัย หรือให้เช่าเพื่ออยู่อาศัย ให้เสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย
แต่ในกรณีที่เป็นอาคารพาณิชย์มีการอยู่อาศัยในชั้นบนและเปิดทำการค้าชั้นล่างนั้น จะแยกการคำนวณภาษี คือ จะจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทเชิงพาณิชย์สำหรับพื้นที่ชั้นล่าง และเก็บภาษีที่อยู่อาศัยในชั้นบน
2. ให้ครอบคลุมถึงช่วงเวลาระหว่างการก่อสร้าง หรือปรับปรุงต่อเติมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัยด้วย เช่น บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการตกแต่ง เป็นต้น
3. ไม่รวมถึงโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ขายตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
โดยแนวทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์และไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการอยู่อาศัยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มระชาชนผู้มีรายได้น้อยซึ่งไม่มีที่พักอาศัยของตนเอง หรือที่เช่าที่อยู่อาศัย รวมถึงเจ้าของทรัพย์สินที่ให้บุคคลอื่นเพื่อการอยู่อาศัย หรือการให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อการอยู่อาศัยด้วย
อัตราการจัดเก็บภาษีบ้านและที่ดิน
– ราคา 0-50 ล้านบาท เสียภาษี 0.02% ต่อปี
– ราคา 50-75 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% ต่อปี
– ราคา 75-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% ต่อปี
– ราคา 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 0.1% ต่อปี
ทั้งนี้ กรณีของโฮมสเตย์ โฮสเทล และ Airbnb (แอร์บีเอ็นบี) นั้น ถือว่าเป็นธุรกิจโรงแรมที่พัก จะต้องเสียอัตราภาษีในเชิงพาณิชย์
แจ้งเปลี่ยนอัตโนมัติ ไม่ต้องไปที่เขต
หลังจากที่ได้รับเอกสารแจ้งข้อมูลรายการห้องชุด (ภ.ด.ส.4) จากสำนักงานเขต หากในเอกสารระบุลักษณะใช้ประโยชน์เป็น “อื่น ๆ” ไม่ต้องไปยื่นแก้ให้เป็น “อยู่อาศัย” ที่สำนักงานเขต เนื่องจากระบบจะปรับให้เอง
โดยขณะนี้กระทรวงการคลัง และมหาดไทย ได้ร่วมกัน เพื่อเตรียมออกประกาศเป็นกฎหมายลูก ผ่อนปรนในเรื่องการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินเพื่ออยู่อาศัย เพื่อให้องค์กรท้องถิ่น ประเมินภาษีการใช้ประโยชน์ขั้นสุดท้าย โดยที่ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปชี้แจงอีก เพื่อให้สอดคล้องกับหลักของการเก็บภาษีคือต้องสะดวก ประหยัดต้นทุน พยายามลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่

พื้นที่รกร้างคืออะไร
ส่วนการกำหนดขอบเขตการเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น หากเป็นที่ดินรกร้างและมีการปลูกพืชผลทางการเกษตร ก็นับว่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ ไม่ถือว่าผิด หรือบิดเบือนการบังคับใช้กฎหมาย แต่ในประกาศจะมีชัดเจนในการกำหนดจำนวนพื้นที่ที่ต้องใช้ในการปลูกพืชผลทางการเกษตรและพันธุ์พืชแต่ละประเภท เช่น ไม้ดอก ไม้ประดับ ไม้ยืนต้น ผัก ผลไม้ และพืชไร่ ที่ต้องกำหนดแตกต่างกันไป หากเข้ากำหนดก็จะเสียภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ถูกคิดเป็นภาษีทีดินรกร้างว่างเปล่า
กระทรวงการคลัง กับกระทรวงมหาดไทย กำลังเร่งกำหนดเกณฑ์การใช้ประโยชน์ที่ดินทำเกษตรกรรม ให้สอดรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ซึ่งล่าสุดได้ยกร่างกฎหมายลำดับรองกำหนดเกณฑ์การทำเกษตรกรรม เพื่อแยกประเภทที่ดินให้มีความชัดเจน ระหว่างที่ดินรกร้างว่างเปล่า กับที่ดินประเภทเกษตรกรรม
ที่ดินเกษตรกรรมมีกี่ประเภท
เกณฑ์ใหม่จะจำแนกประเภทเกษตรกรรมเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย
1. ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืช
ชนิดพืช | อัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตร (ต่อไร่) |
กล้วยหอม | 200 ต้น |
กล้วยไข่ | 200 ต้น |
กล้วยน้ำว้า | 200 ต้น |
กะท้อนเปรี้ยว | 25 ต้น |
กะท้อนพันธุ์ทับทิม | 25 ต้น |
กะท้อนพันธุ์ปุยฝ้าย | 25 ต้น |
กาแฟ | 170 ต้น |
กาแฟพันธุ์โรบัสต้า | 170 ต้น |
กาแฟพันธุ์อราบิก้า | 533 ต้น |
กานพลู | 20 ต้น |
กระวาน | 100 ต้น |
โกโก้ | 150-170 ต้น |
ขนุน | 25 ต้น |
เงาะ | 20 ต้น |
จำปาดะ | 25 ต้น |
จันทร์เทศ | 25 ต้น |
ชมพู่ | 45 ต้น |
ทุเรียน | 20 ต้น |
ท้อ | 45 ต้น |
น้อยหน่า | 170 ต้น |
นุ่น | 25 ต้น |
บ๊วย | 45 ต้น |
ปาล์มน้ำมัน | 22 ต้น |
ฝรั่ง | 45 ต้น |
พุทรา | 80 ต้น |
แพสชั่นฟรุ๊ต (เสาวรส) | 400 ต้น |
พริกไทย | 400 ต้น |
พลู | 100 ต้น |
มะม่วง | 20 ต้น |
มะพร้าวแก่ | 20 ต้น |
มะพร้าวอ่อน | 20 ต้น |
มะม่วงหิมพานต์ | 45 ต้น |
มะละกอ (ยกร่อง) | 100 ต้น |
มะละกอ (ไม่ยกร่อง) | 175 ต้น |
มะนาว | 50 ต้น |
มะปราง | 25 ต้น |
มะขามเปรี้ยว | 25 ต้น |
มะขามหวาน | 25 ต้น |
มังคุด | 16 ต้น |
ยางพารา | 80 ต้น |
ลิ้นจี่ | 20 ต้น |
ลำไย | 20 ต้น |
ละมุด | 45 ต้น |
ลางสาด | 45 ต้น |
ลองกอง | 45 ต้น |
ส้มโอ | 45 ต้น |
ส้มโอเกลี้ยง | 45 ต้น |
ส้มตรา | 45 ต้น |
ส้มเขียวหวาน | 45 ต้น |
ส้มจุก | 45 ต้น |
สตรอว์เบอร์รี | 10,000 ต้น |
สาลี่ | 45 ต้น |
สะตอ | 25 ต้น |
หน่อไม้ไผ่ตง | 25 ต้น |
หมาก (ยกร่อง) | 100-170 ต้น |
พืชกลุ่มให้เนื้อไม้ | 100 ต้น |
หมายเหตุ:
1) กรณีที่ไม่ปรากฏชนิดพืชตามบัญชีแนบท้ายนี้ ให้ใช้อัตราขั้นต่ำของการประกอบการเกษตรต่อไร่ โดยเทียบเคียงจากชนิดพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงที่สุด
2) กรณีที่ไม่สามารถเทียบเคียงจากชนิดพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงตาม 1) ได้ ให้พิจารณาตามลักษณะการประกอบการเกษตรในแต่ละท้องถิ่น
2. ด้านการเลี้ยงสัตว์
โค
ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว
1 ตัวต่อ 5 ไร่
กระบือโตเต็มวัย
ขนาด 7 ตารางเมตรต่อตัว
1 ตัวต่อ 5 ไร่
แพะ-แกะโตเต็มวัย
ขนาด 2 ตารางเมตรต่อตัว
1 ตัวต่อ 1 ไร่
สุกรพ่อพันธุ์
คอกเดี่ยว ขนาด 7.5 ตารางเมตรต่อตัว
–
สุกรแม่พันธุ์
คอกเดี่ยว ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว
–
สุกรอนุบาล
ขนาด 0.5 ตารางเมตรต่อตัว
–
สุกรขุน
ขนาด 1.5 ตารางเมตรต่อตัว
–
คอกคลอด
พื้นที่ไม่น้อยกว่า 6 ตารางเมตรต่อตัว
–
ซองอุ้มท้อง
พื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตรต่อตัว
–
สัตว์ปีกเลี้ยงปล่อย (เป็ดและไก่)
ขนาด 4 ตารางเมตรต่อตัว (ตามมาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์)
–
กวาง
ขนาด 2 ไร่ต่อตัว
–
หมูป่า
ขนาด 5 ตารางเมตรต่อตัว (เลี้ยงในโรงเรือน) หรือขนาด 0.25 ไร่ต่อตัว (เลี้ยงปล่อย)
–
ผึ้ง
–
บริเวณที่มีพืชอาหารเลี้ยงผึ้ง เช่น เกสร และน้ำหวานดอกไม้ที่สมดุลกับจำนวนรังผึ้ง
จิ้งหรีด
–
บริเวณพื้นที่เพียงพอและเหมาะสมกับขนาดและจำนวนบ่อ
หมายเหตุ:
1) กรณีที่ไม่ปรากฏชนิดสัตว์ตามบัญชีแนบท้ายนี้ ให้ใช้อัตราขั้นต่ำของการเลี้ยงปศุสัตว์และการเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่น ๆ โดยเทียบเคียงจากชนิดสัตว์ที่มีลักษณะใกล้เคียงที่สุด
2) กรณีที่ไม่สามารถเทียบเคียงจากชนิดสัตว์ที่มีลักษณะใกล้เคียงตาม 1) ได้ ให้พิจารณาตามลักษณะการเลี้ยงปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่น ๆ ในแต่ละท้องถิ่น
3. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือทำการประมง
1) พื้นที่บ่อดิน บ่อปูน กระชังบก บ่อพลาสติก โรงเพาะฟัก หรือพื้นที่ที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในลักษณะอื่นใด ที่ผู้ขุด ผู้สร้าง ผู้จัดทำ เจ้าของ หรือผู้ครอบครอง มีความมุ่งหมายโดยตรงที่ใช้ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
2) ที่ดินที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องที่มีกิจกรรมใช้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น บ่อพักน้ำ บ่อบำบัดน้ำ คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ คูน้ำ คันดินขอบบ่อ ถนน และให้รวมถึงสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
ภาษีที่ดินว่างเปล่าเสียเท่าไหร่
ภาษีที่ดินว่างเปล่าจะต้องเสียในอัตรา ดังนี้
– มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.3%
– มูลค่าเกิน 50-200 ล้านบาท อัตราภาษี 0.4%
– มูลค่าเกิน 200-1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.5%
– มูลค่าเกิน 1,000-5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.6%
– มูลค่าเกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษี 0.7%
และเสียเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 3%
กำหนดเกณฑ์ที่ดินรกร้าง-ที่ดินเกษตร
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังจะนำเกณฑ์กำหนดที่ดินประเภทเกษตรกรรมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาพิจารณาร่วมด้วย สำหรับเกณฑ์ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้ประกอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนเกษตรกร การทำการเกษตร ได้แก่
1. การทำนาหรือทำไร่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันบนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป
2. การปลูกผัก หรือการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เพาะเห็ด ปลูกพืชอาหารสัตว์ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน เนื้อที่ตั้งแต่ 1 งานขึ้นไป
3. ปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้น หรือการปลูกสวนป่า ปลูกป่าเศรษฐกิจแบบสวนเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ และมีจำนวนต้นตั้งแต่ 15 ต้นขึ้นไป
4. การปลูกไม้ผล หรือไม้ยืนต้นแบบสวนผสม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ และมีจำนวนต้น 15 ต้นขึ้นไป
5. การเลี้ยงแม่โคนมตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป
6. การเลี้ยงโค หรือกระบือ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป
7. การเลี้ยงสุกร แพะ หรือแกะ อย่างใดอย่างหนึ่งรวมกัน ตั้งแต่ 5 ตัวขึ้นไป
8. การเลี้ยงสัตว์ปีก ตั้งแต่ 50 ตัวขึ้นไป
9. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
10. การทำนาเกลือสมุทร บนเนื้อที่ตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป
11. การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน
12. การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจและเกษตรอื่น ๆ อาทิ การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง จิ้งหรีด ด้วงสาคู ไส้เดือนดิน ฯลฯ
13. การประกอบการเกษตรอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน นอกเหนือจากเกณฑ์ที่กำหนดตามข้อ 1-12 และมีรายได้ตั้งแต่ 8,000 บาท/ปีขึ้นไป
โดยจะมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางส่วนอาจเป็นไปตามเกณฑ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บางส่วนอาจเป็นเกณฑ์ที่เข้มข้นกว่า หรือที่ผ่อนปรนมากกว่าก็มี สำหรับเกณฑ์ที่จะกำหนดขึ้นนี้จะแล้วเสร็จและประกาศใช้ทันระยะเวลาที่ขยายให้ท้องถิ่นรับชำระภาษี
แม้ว่าการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะดูยุ่งยากหลายขั้นตอน แต่การเสียภาษีนั้นเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนตามบทกฎหมายไทยที่นอกจากจะเพิกเฉยไม่ได้ ยังต้องทำความเข้าใจเพื่อปฏิบัติให้ถูกต้องและถูกกฎหมาย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า