ขาดส่งงวดผ่อนบ้านทำอย่างไร

DDproperty Editorial Team
ขาดส่งงวดผ่อนบ้านทำอย่างไร
จากบทความในครั้งก่อนเรื่องขาดผ่อนบ้านะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งเราได้แสดงให้เห็นผลกระทบทางการเงินที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้กู้ขาดผ่อนชำระหนี้บ้านไปแล้ว โดยจะทำให้เกิดดอกเบี้ยค้างชำระสะสมที่จะไปรวมกับดอกเบี้ยของงวดถัดไป ในขณะที่ยอดหนี้คงเหลือนั้นไม่ลดลง
ทำให้การผ่อนในงวดถัดไปมีโอกาสเหลือดอกเบี้ยค้างชำระต่อไปเรื่อยๆ และเพิ่มพูน และเสี่ยงเกิดความเสี่ยงที่ผู้กู้จะเผชิญกับภาวะดอกเบี้ยท่วมท้นจนไม่สามารถผ่อนชำระไหวในที่สุด โดยเฉพาะหากแก้ไขปัญหาอย่างไม่ถูกต้อง ครั้งนี้ DDproperty จึงชวนคุณเรียนรู้วิธีจัดการปัญหาด้านการเงินที่มาจากการขาดส่งงวดผ่อนบ้าน
condo14

วิธีการแก้ไขคือ กลับไปผ่อนด้วยจำนวนเงินที่มากกว่างวดชำระปกติ เพื่อจ่ายดอกเบี้ยค้างชำระสะสมให้หมด

หากคุณไม่ได้ผ่อนชำระหนี้บ้านตั้งแต่ 1 งวดขึ้นไป สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือดอกเบี้ยในงวดที่เราไม่ได้ผ่อนชำระจะกลายเป็นดอกเบี้ยค้างจ่ายที่สะสมเอาไว้ และไปรวมกับยอดหนี้ในงวดถัดที่ซึ่งคำนวณออกมาจากยอดหนี้คงเหลือ ยิ่งปล่อยเอาไว้นาน ขาดชำระหลายงวด ดอกเบี้ยค้างชำระก็จะสะสมเพิ่มพูนขึ้น เมื่อกลับไปชำระในจำนวนเงินพอดีกับงวดชำระปกติจะไม่เพียงพอที่จะหยุดดอกเบี้ยค้างชำระที่สะสมได้
ดังแสดงในตารางด้านล่าง ที่ผู้กู้ผ่อนชำระสินเชื่อบ้านงวดละ 18,000 บาท จะเห็นว่า ณ สิ้นงวดที่ 18 นั้นผู้กู้มียอดหนี้คงเหลือ 2,777,616.64 บาท และนำไปคิดดอกเบี้ยของงวดที่ 19 ได้เท่ากับ 10,844.12 บาท แต่เมื่อผู้กู้ขาดส่ง ไม่ผ่อนชำระหนี้บ้านไป 3 งวด คืองวดที่ 19-21 ก็จะเกิดดอกเบี้ยสะสมไป 3 งวด งวดละ 10,844.12 บาท เมื่อกลับไปชำระในงวดที่ 22 ก็จะพบว่ามีดอกเบี้ยค้างชำระสะสมจากงวด 19-21 อยู่ 32,532.36 บาท และดอกเบี้ยของงวดที่ 22 เองอีก 10,844.12 บาท

ผ่อนชำระด้วยจำนวนเงินผ่อนชำระต่องวดเท่าเดิม

เมื่อผู้กู้ชำระงวดตามจำนวนเท่าเดิมตั้งแต่งวดที่ 22 จำนวน 18,000 บาท จะยังคงเหลือดอกเบี้ยค้างชำระสะสมยกไปงวดถัดไปอีก 25,376.48 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับดอกเบี้ยของงวดถัดไปแล้วก็จะเท่ากับ 36,220.6 ซึ่งการผ่อนจะดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ จะต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายงวดผ่อนจึงจะสามารถใช้ดอกเบี้ยสะสมได้หมด
เพราะในแต่ละงวดจะต้องหักดอกเบี้ยของงวดนั้นไปก่อนแล้ว 10,844.12 บาท จึงเหลือจำนวนเงินอีก 7,155.88 บาทไปจ่ายดอกเบี้ยที่สะสม สังเกตว่าเงินผ่อนนั้นไม่เพียงพอแม้กระทั่งจะจ่ายดอกเบี้ยให้หมด ทำให้ไม่มีเงินเหลือไปหักเงินต้นเลย ยอดหนี้คงเหลือจึงคงที่ จากตัวอย่างต้องใช้เวลาถึง 5 งวด จึงจะสามารถกลับไปจ่ายเงินต้น
และทำให้ยอดหนี้ลดลงได้อีกครั้ง โดยในงวดที่ 26 เป็นงวดที่สามารถจ่ายดอกเบี้ยสะสมได้ทั้งหมด และเหลือเงินไปหักเงินต้น 3,247.04 บาท ทำให้ ณ สิ้นงวดที่ 26 ยอดหนี้คงเหลือลดลงเหลือ 2,774,369.63 บาท
DuePayment08

ผ่อนชำระด้วยจำนวนเงินผ่อนชำระต่องวดมากกว่าเดิม

วิธีการที่จะแก้ไขที่ได้ผลก็คือการกลับไปผ่อนชำระด้วยจำนวนเงินที่มากกว่างวดชำระกำหนดไว้ เพื่อให้สามารถกลับมาสู่สภาวะการผ่อนชำระบ้านปกติอีกครั้งเช่นจากเดิมชำระงวดละ 18,000 บาท หลังจากการขาดผ่อนไปแล้วก็กลับมาผ่อนเพิ่มมากขึ้นเป็นงวดละ 25,000 บาท ตั้งแต่งวดที่ 22 เป็นต้นไป ดังแสดงในตารางด้านล่าง ซึ่งการชำระเกินกว่าจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องชำระต่องวดจะช่วยให้สามารถจ่ายออกเบี้ยค้างชำระสะสมให้หมดไปได้ไวขึ้น และกลับไปหักเงินต้นได้ภายใน 3 งวด
DuePayment09

ผ่อนชำระด้วยจำนวนเงินผ่อนชำระมากกว่าดอกเบี้ยค้างชำระสะสม

แต่วิธีการที่ดีที่สุดหากผู้กู้สามารถทำได้ก็คือการรีบชำระดอกเบี้ยสะสมค้างชำระให้หมดไปทันทีที่กลับมาผ่อนบ้านต่อ ซึ่งจะทำให้สามารถกลับคืนสู่สภาวะการผ่อนชำระหนี้บ้านตามปกติทันทีในงวดถัดไป ดังตารางด้านล่าง จะพบว่าในงวดที่ 22 ซึ่งเป็นงวดแรกที่ผู้กู้กลับมาผ่อนชำระหนี้อีกครั้ง หลังจากที่ขาดผ่อนไปแล้ว 3 งวด (งวด 19-21) ในงวดที่ 22 นี้จะมีดอกเบี้ยค้างชำระสะสม 32,532.36 บาท รวมกับดอกเบี้ยของงวดที่ 22 เท่ากับ 10,844.12 บาท
ดังนั้นการจ่ายดอกเบี้ยที่มีอยู่ให้หมดสิ้นในงวดนี้ผู้กู้จะต้องจ่ายงวดผ่อนเท่ากับ 32,532.36 + 10,844.12 = 43,376.48 บาท ในตัวอย่างนี้ให้ผู้กู้จ่ายเป็นจำนวน 44,000 บาท ซึ่งทำให้สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้หมดสิ้น และเหลือเงินเล็กน้อยอีก 623.52 บาทไปหักเงินต้น ท้ายที่สุดแล้ว ณ สิ้นงวดที่ 22 ยอดหนี้คงเหลือจึงลดลงเหลือ 2,776,993.12 บาท ตั้งแต่งวดที่ 23 เป็นต้นไปผู้กู้ก็สามารถกลับไปผ่อนชำระงวดด้วยจำนวนเงินเท่าเดิมได้ตามปกติ
DuePayment10
เมื่อขาดผ่อนบ้าน ผิดนัดชำระหนี้ แล้วจะเกิดดอกเบี้ยค้างชำระขึ้น ซึ่งดอกเบี้ยนี้แม้ว่าจะไม่ได้นำรวมเข้ากับยอดหนี้คงเหลือเพื่อคำนวณดอกเบี้ยในงวดถัดไป แต่ดอกเบี้ยก็จะถูกรวบรวมและสะสมเอาไว้ จนในที่สุดเมื่อเวลานานเข้าเมื่อผู้กู้กลับมาเริ่มผ่อนอีกครั้งก็ไม่มีเงินมากพอที่จะนำไปจ่ายดอกเบี้ย ดอกเบี้ยสะสมก็เพิ่มขึ้นต่อไป เงินต้นก็ไม่ถูกหัก ทำให้ยอดหนี้ไม่ลดลงเกิดภาวะหนี้ท่วมในที่สุด
สิ่งที่ผู้กู้ควรทำก็คือรีบผ่อนชำระโดยเร็วที่สุด และผ่อนให้มากกว่าเดิมให้มากที่สุด เพื่อจ่ายดอกเบี้ยค้างชำระให้หมดโดยเร็ว ซึ่งจะทำให้ผู้กู้สามารถกลับคืนสู่เงื่อนไขการผ่อนแบบปกติโดยเร็ว
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย เชษฐพล มานิตย์ นักเขียนออนไลน์ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์