กว่าจะหาห้องพักที่ถูกใจและเจอเจ้าของที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย บางทีอาจจะยากกว่าการเสี่ยงโชคเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการเจอกับปัญหาที่ผู้เช่าหลายคนต้องเผชิญเหมือน ๆ กัน นั่นก็คือการถูกบังคับให้ชำระค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จนบางครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ตกลงแล้วสัญญาเช่าห้องพักช่วยอะไรได้บ้างหรือไม่ แล้วเพราะเหตุใดผู้เช่ามักต้องเสียเปรียบอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นก่อนจะทำสัญญาเช่าห้องพัก คุณต้องตรวจเช็กให้ละเอียดและรอบคอบทุกครั้ง ที่สำคัญคืออย่าลืมศึกษากฎหมายให้เข้าใจเสียก่อนเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเอง
ข้อตกลงในสัญญาและข้อมูลที่ควรรู้
สำหรับการทำสัญญาเช่าห้องพักหรือคอนโดนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ โดยทั่วไปแล้ว สัญญาเช่าจะระบุข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการเช่า ได้แก่ สถานที่ตั้ง หมายเลขห้อง ชื่ออาคาร ชั้น วันที่ทำสัญญา ข้อมูลส่วนตัวทั้งฝ่ายผู้เช่าและเจ้าของ
นอกจากนี้ สัญญาเช่าห้องพักต้องระบุรายละเอียดการเช่าห้องทั้งหมด ได้แก่ อัตราค่าเช่า หน่วยค่าน้ำประปา-ค่าไฟฟ้า เงินประกัน ค่าปรับในกรณีที่ค้างชำระค่าเช่า ค่าส่วนกลาง ค่าซ่อมบำรุง ระยะเวลาในการเช่า กฎระเบียบเบื้องต้น รวมถึงรายการเฟอร์นิเจอร์ภายในห้อง
แต่ที่น่าสนใจก็คือ กฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยการควบคุมห้องเช่า ฉบับปี 2561 ได้เพิ่มกฎระเบียบและข้อปฏิบัติในสัญญาเช่าห้องพักเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อผู้เช่ามากขึ้น ส่งผลให้เจ้าของหรือผู้ดูแลต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายฉบับใหม่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการเรียกเก็บเงินประกันจากผู้เช่า การหักและการคืนเงินประกันให้ผู้เช่า การคุ้มครองผู้เช่า อัตราการเก็บค่าน้ำค่าไฟตามมาตรฐาน จนถึงการยกเลิกสัญญาเช่า ดังนั้น ผู้เช่าจะต้องตรวจสอบรายละเอียดให้ดีว่าสัญญาเช่าห้องพักเป็นไปตามกฎหมายใหม่หรือไม่
เนื้อหาที่ห้ามขาดและต้องเช็กให้ละเอียดก่อนลงชื่อในสัญญา
ไม่ว่าจะเป็นสัญญาเช่าห้องพักหรือสัญญาเช่าคอนโด เชื่อหรือไม่ว่า หลายครั้งผู้ปล่อยเช่าหรือเจ้าของมักเลือกใช้ภาษากำกวมในสัญญาเช่า ซึ่งทำให้สามารถตีความได้หลายทาง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายหรือค่าปรับบางรายการที่นอกเหนือจากค่าเช่ารายเดือน เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าที่จอดรถ ค่าทำความสะอาด เป็นต้น ดังนั้น หากคุณพบสัญญาเช่าห้องพักที่มีลักษณะดังกล่าว ให้สอบถามจนได้คำตอบที่ชัดเจนและขอแก้ไขสัญญาเพื่อให้ระบุอย่างชัดเจน
หากในสัญญาเช่าห้องพักได้ระบุรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์และราคาประเมินในกรณีที่เกิดความเสียหายแล้ว ผู้เช่าควรที่จะเช็กรายการของอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมด เพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าอยู่ในสภาพใด สามารถใช้งานได้เลยหรือไม่ และราคาประเมินนั้นเหมาะสมหรือไม่
ไม่เพียงเท่านี้ เพราะยังมีเจ้าของอีกหลายคนที่มักระบุถึง “การยินยอม” ในสัญญาเช่าห้องพักของผู้เช่าโดยสมัครใจ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ผู้เช่าอาจจะไม่ได้ยินยอม และท้ายที่สุดแล้วก็มักจะส่งผลให้ผู้เช่ากลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบในที่สุด เช่น การยินยอมให้ผู้ดูแลหรือเจ้าของห้องพักสามารถเข้ามาในห้องพักได้ตามสมควร ซึ่งอาจรบกวนการอยู่อาศัยของผู้เช่าได้ ดังนั้น หากคุณไม่สะดวกใจข้อใดในสัญญา ต้องพูดคุยกับผู้ปล่อยเช่าให้ปรับแก้สัญญาก่อน
ควรเพิ่มข้อตกลงอะไรในสัญญาบ้างเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ
เชื่อว่ามีผู้เช่าหลายคนที่พบว่า สัญญาเช่าห้องพักมักจะเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้เป็นเจ้าของมากจนเกินไป ในฐานะผู้เช่า คุณต้องตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ ที่ระบุในสัญญาเช่าอย่างละเอียด เพื่อวิเคราะห์ว่าสัญญาครอบคลุมในกรณีใดบ้างที่เกินความเหมาะสม เช่น การกำหนดระยะเวลาการส่งใบแจ้งหนี้ของแต่ละเดือน การเสียค่าปรับจำนวนมากกรณีชำระค่าเช่าล่าช้า เป็นต้น เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ ขอแนะนำให้อ่านประเด็นที่ผู้เช่าควรรู้ในกฎหมายใหม่ดังกล่าวเพื่อกันถูกเอาเปรียบแล้วนำมาเช็กและแก้ไขสัญญาให้มีความเป็นธรรม
นอกจากนี้ หากมีข้อตกลงที่หละหลวมในสัญญาเช่าห้องพัก เช่น การยึดหรือหักเงินประกันห้องพัก หรือการยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายใหม่ ผู้เช่าจะต้องขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในสัญญาเช่าห้องพักที่ชัดเจน โดยตกลงกับผู้ให้เช่าอย่างละเอียดเสียก่อน และแม้อาจทำสัญญาเช่ากันเรียบร้อยแล้ว ผู้เช่าก็สามารถขอให้ผู้ให้เช่าแก้ไขสัญญาในส่วนที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายได้
กฎหมายสำคัญที่ควรรู้ กันไว้ดีกว่าเสียสิทธิ์
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยสัญญาเช่าห้องพักนั้นบังคับให้ใช้กับห้องพักหรืออาคารให้เช่าที่มีจำนวน 5 หน่วยขึ้นไป รวมถึงห้องพัก บ้าน อาคารชุด อพาร์ตเมนท์ แต่ไม่รวมหอพักและโรงแรม ดังนั้น หากผู้เช่าคนใดที่เป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ที่อาศัยหอพักที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายแล้ว จะยังคงใช้สัญญาเช่าห้องพักแบบเดิมได้ตามปกติ
ทั้งนี้ หลังจากที่กฎหมายฉบับใหม่กำหนดใช้ ก็ทำให้ผู้ให้เช่ามองว่าเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เช่าเกินไป เช่น ไม่ให้เรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้าหรือเงินประกันเกินกว่า 1 เดือน ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ให้เช่าเสียเปรียบหากเจอผู้เช่าที่ไม่มีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะการทำให้ห้องพักเสียหาย ค่าประกันและค่าเช่าล่วงหน้าที่เรียกเก็บไว้อาจไม่เพียงพอต่อการซ่อมบำรุง
ในขณะที่ผู้เช่าก็อาจมองว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้เช่าเสมอไป ถึงแม้จะมีข้อกำหนดให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น อัตราการเรียกเก็บค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้าตามมาตรฐานของรัฐ การเรียกเก็บเงินประกันความเสียหายที่ห้ามเกิน 50% แต่ก็ไม่ได้ห้ามผู้ให้เช่าเพิ่มค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น และอาจทำให้ผู้เช่าจะถูกเรียกเก็บในอัตราที่มากกว่าเดิม ดังนั้น ทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่าจะต้องมาตกลงและทำความเข้าใจร่วมกันให้ดีเสียก่อน เพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมาในอนาคต
อย่างไรตาม กฎหมายฉบับใหม่มีผลบังคับผู้ให้เช่าให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากใครฝ่าฝืนข้อบังคับในกฎหมายฉบับนี้ มีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิ์ของผู้เช่าที่พึงกระทำได้โดยชอบธรรมและการใช้สัญญาเช่าห้องพักให้เกิดประโยชน์หากผู้ให้เช่าเอาเปรียบได้ในบทความกฎหมาย “ห้องเช่า” ใหม่ ที่ให้ประโยชน์ทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่า
สัญญาเช่าห้องพักไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยแต่มีความสำคัญต่อทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่าอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นหลักฐานแสดงข้อตกลงร่วมกัน มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย และอาจมีผลให้เสียเปรียบหรือเสียผลประโยชน์ได้ ที่สำคัญอย่าลืมศึกษากฎหมายฉบับใหม่ให้ละเอียด เพื่อสิทธิประโยชน์ของตัวคุณเอง
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า