คนไทยอยากให้รัฐช่วยเรื่องใดมากที่สุด เมื่ออยากมีบ้าน

DDproperty Editorial Team
คนไทยอยากให้รัฐช่วยเรื่องใดมากที่สุด เมื่ออยากมีบ้าน
แม้จะมีโปรโมชัน ส่วนลด ของแถม จากฝั่งดีเวลลอปเปอร์มากระตุ้นการตัดสินใจ แต่ผู้ที่กำลังวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงนี้ ที่ยังชะลอการตัดสินใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรอมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน ในช่วงที่เศรษฐกิจยังชะลอตัวจากโควิด-19

มาตรการใดบ้างที่ผู้บริโภคคาดหวังจากรัฐบาล

จากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อสภาพตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด ซึ่งมีผู้ทำแบบสำรวจร่วม 1,000 คน ประกอบด้วย กลุ่มเจ้าของที่อยู่อาศัย กลุ่มนักลงทุน กลุ่มผู้เช่า กลุ่มที่พักอาศัยอยู่กับครอบครัว และกลุ่มเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ เกี่ยวกับมาตรการด้านที่อยู่อาศัยที่คาดหวังจากภาครัฐ พบว่า 3 อันดับแรก ผู้บริโภคคาดหวังให้ภาครัฐลดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบ้านใหม่และบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ ลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก และขยายเวลาการชำระสินเชื่อให้นานขึ้นมากที่สุด โดยมีรายละเอียดดังนี้
คนไทยอยากให้รัฐช่วยเรื่องใดมากที่สุด
  • 58% ต้องการให้ลดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบ้านใหม่และบ้านที่กำลังผ่อนอยู่ เพิ่มขึ้นจากการสำรวจฯ รอบก่อนที่อยู่ที่ 46%
  • 52% ต้องการให้ลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่ม ลดลงจากการสำรวจฯ รอบก่อนที่อยู่ที่ 79%
  • 45% ต้องการให้ลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก เพิ่มขึ้นจากการสำรวจฯ รอบก่อนที่อยู่ที่ 30%
  • 32% ต้องการให้ขยายเวลาการชำระสินเชื่อให้นานขึ้น เพิ่มขึ้นจากการสำรวจฯ รอบก่อนที่อยู่ที่ 25%
  • 26% ต้องการให้ลดการชำระเงินดาวน์ในช่วงนี้ ลดลงจากรอบก่อนที่อยู่ที่ 34%
  • 23% ต้องการให้ลดสัดส่วนเกณฑ์พิจารณาเงินกู้ต่อมูลค่าบ้าน (LTV) ให้ต่ำลง เพิ่มขึ้นจากรอบที่อยู่ที่ 21%
  • 23% ต้องการให้หยุดการจ่ายค่าผ่อนบ้านเป็นเวลา 3-6 เดือน เท่ากันกับการสำรวจฯ รอบก่อน
  • 22% ต้องการให้หยุดการคำนวณดอกเบี้ยชั่วคราวเป็นเวลา 3-6 เดือน ลดลงจากการสำรวจฯ รอบก่อนที่อยู่ที่ 23%
  • 18% ต้องการให้ลดค่าภาษีอากรแสตมป์ เท่ากันกับการสำรวจฯ รอบก่อน

3 มาตรการเด่นภาครัฐ ช่วยคนซื้อบ้านปี 64

สอดคล้องกับมาตรการรัฐที่ออกมาในปี 2564 ไม่ว่าจะเป็นการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และช่วยให้อัตราดอกเบี้ยบ้านอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเอื้อต่อการซื้อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น

มาตรการด้านภาษี สำหรับบ้าน-คอนโด ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

รัฐบาลได้ต่อเวลาลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จากอัตราปกติ 2.00% เหลือ 0.01% และลดค่าจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากอัตราปกติ 1.00% เหลือ 0.01% นั่นหมายความว่า จากเดิมซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ จากปกติต้องจ่าย 2% เป็นเงิน 60,000 บาท เมื่อลดเหลือ 0.01% จะจ่ายเพียง 300 บาท ค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากปกติต้องจ่าย 1% เป็นเงิน 30,000 บาท เมื่อลดเหลือ 0.01% จะจ่ายเพียง 300 บาท รวมแล้วจากที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนองสำหรับบ้านราคา 3 ล้านบาท จากเดิมเป็นเงิน 90,000 บาท จะเหลือเพียง 600 บาทเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยได้อย่างมาก ถือเป็นการเร่งการตัดสินใจของผู้บริโภคที่มีความพร้อม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์-31 ธันวาคม 2564
คนไทยอยากให้รัฐช่วยเรื่องใดมากที่สุด

มาตรการขยายเวลาการชำระสินเชื่อให้นานขึ้น

ปัจจุบันธนาคารและสถาบันการเงินต่างมีมาตรการช่วยเหลือทั้งขยายเวลา พักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นับตั้งแต่มีการระบาดรอบแรก ต่อเนื่องมาจนถึงการระบาดในระลอกใหม่นี้
ลดดอกเบี้ยบ้าน-พักจ่ายผ่อนดาวน์ จูงใจผู้บริโภคได้ลดลง
ผลการสำรวจฯ ยังได้แสดงให้เห็นอีกว่า เปอร์เซ็นต์ที่ผู้บริโภคต้องการให้ลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่ม ลดลงจากการสำรวจฯ รอบก่อนที่อยู่ที่ 79% มาอยู่ที่ 52% เพราะธนาคารและสถาบันการเงินมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยบ้าน-คอนโดอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคก็ยังคงต้องการความช่วยเหลือด้านนี้มาเป็นอันดับ 2 รองจากลดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบ้านใหม่และบ้านที่กำลังผ่อนอยู่

มาตรการลดการชำระเงินดาวน์

แม้จะลดลงจากการสำรวจฯ รอบก่อนที่อยู่ที่ 34% มาอยู่ที่ 26% เนื่องจากปัจจุบันทางดีเวลลอปเปอร์มีการให้ความช่วยเหลือทางด้านนี้อยู่แล้วในช่วงโควิด-19 โดยสามารถจะยื่นความจำนงขอพักชำระเงินดาวน์ได้ 3-6 เดือน ตามเงื่อนไขของแต่ละโครงการ แต่ก็ยังเป็นมาตรการที่คนต้องการให้รัฐช่วยเหลืออยู่

คนแต่ละกลุ่ม แต่ละช่วงวัย พอใจกับมาตรการรัฐแบบไหน

คนไทยอยากให้รัฐช่วยเรื่องใดมากที่สุด
ถ้าหากจำแนกตามกลุ่มพบว่า
62% ของกลุ่มที่พักอาศัยอยู่กับครอบครัว ต้องการให้ลดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบ้านใหม่และบ้านที่กำลังผ่อนอยู่สูงที่สุด เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่วางแผนที่จะมีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเองในอนาคต
สวนทางกับกลุ่มนักลงทุนที่มองว่าไม่ได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้มากนัก แต่จะคาดหวังกับให้ลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะน่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้มากกว่า อยู่ที่ 66%
เช่นเดียวกับกลุ่มเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ (Land lords) กลุ่มเจ้าของที่อยู่อาศัย (Home Owner) ที่อยู่ที่ 62% และ 57% ตามลำดับ
ขณะที่กลุ่มที่พักอาศัยอยู่กับครอบครัว และกลุ่มผู้เช่า คาดหวังมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรกสูงสุดอยู่ที่ 59% และ 53% ตามลำดับ เพราะถ้าหากอยากมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง ซื้อบ้าน-คอนโด หลังแรก ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จะได้รับประโยชน์มากกว่า สามารถลดค่าใช้จ่ายได้จากหลักหมื่นเหลือเพียงหลักร้อยเท่านั้น
หากจำแนกแต่ละวัย วัยกลางคน ช่วงอายุ 40-49 ปี และวัยทำงาน 30-39 ปี คาดหวังมาตรการลดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อบ้านใหม่และบ้านที่กำลังผ่อนมากที่สุด อยู่ที่ 66% และ 60% ตามลำดับ เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยย่นระยะเวลาการผ่อนชำระให้สั้นลงได้อีกด้วย
ต่างจากวัยเริ่มต้นทำงาน อายุ 22-29 ปี ที่คาดหวังมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อบ้านหลังแรก และลดชำระเงินดาวน์ในช่วงนี้มากที่สุด อยู่ที่ 54% และ 32% ตามลำดับ เนื่องจากเป็นวัยเพิ่งเริ่มวางแผนซื้อบ้าน-คอนโด และยังเหลือระยะเวลาการผ่อนที่ยาวนานกว่า
ส่วนวัยใกล้เกษียณ อายุ 50-59 ปี และผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไป คาดหวังมาตรการลดดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเพิ่มมากที่สุดอยู่ที่ 52% และ 57% ตามลำดับ เพื่อนำเงินที่เหลือโปะบ้าน-คอนโดให้หมดเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการด้านที่อยู่อาศัยจากภาครัฐ เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในยุคนี้ ซึ่งนอกจากจะช่วยเอื้อต่อการซื้อบ้านใหม่แล้ว ยังเอื้อต่อผู้ที่ซื้อบ้านแล้ว และกำลังผ่อนอยู่ด้วย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์