สำเนาทะเบียนบ้าน คือ เอกสารราชการที่สำคัญที่กรมการปกครองจัดทำขึ้น โดยระบุรายละเอียดที่ตั้งของบ้าน ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน ชื่อบิดามารดา ภูมิลำเนา ของคนในบ้าน ฯลฯ หากต้องการคัดสำเนาทะเบียนบ้าน ในปี 2565 ทางกรมการปกครอง ก็ได้เพิ่มช่องทางอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เปิดจุดบริการด่วนมหานคร BMA Express Service บนสถานีรถไฟฟ้า BTS หรือ BMA Drive Thru Service โดยไม่ต้องไปสำนักงานเขตให้เสียเวลา
ทำความรู้จักคัดสำเนาทะเบียนบ้านคืออะไร
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกันก่อนว่า การคัดสำเนาทะเบียนบ้าน คืออะไร คำตอบคือการคัดสำเนาทะเบียนบ้าน ก็เปรียบเหมือนเป็นการอัปเดตความเคลื่อนไหวของทะเบียนบ้าน ในกรณีที่ในบ้านมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาหรือย้ายออกไป อาทิ เกิด ตาย หรือรวมไปถึงการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในบ้าน เป็นต้น
คัดสำเนาทะเบียนบ้านได้ที่ไหน
โดยปกติแล้ว การขอคัดสำเนาทะเบียนบ้าน สามารถเตรียมเอกสารไปติดต่อกับทางสำนักงานเขตที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้านได้ แต่เพื่อความสะดวกของประชาชนทางกรมการปกครองจึงได้จัด จุดบริการด่วนมหานคร หรือ BMA Express Service จำนวน 12 แห่ง ไว้คอยบริการ ดังนี้
- ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
- ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค
- ห้างสรรพสินค้าซีคอน บางแค
- ห้างสรรพสินค้าพาราไดซ์ พาร์ค
- ห้างสรรพสินค้าแฟชั่นไอส์แลนด์
- ห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง
- ศูนย์การค้าเกตเวย์ เอกมัย
- ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์
- สถานีรถไฟฟ้าอุดมสุข
- สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต
- สถานีรถไฟฟ้าพร้อมพงษ์
- สถานีรถไฟฟ้าวงเวียนใหญ่
สามารถจองคิวเข้าใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน BMA Q ดาวน์โหลดได้ที่นี่ : Google Play / iOS
ส่วนต่างจังหวัด จองคิวเพื่อขอรับบริการล่วงหน้า ณ ที่ว่าการอำเภอ ได้ที่เว็บไซต์ กรมการปกครอง
คัดสำเนาทะเบียนบ้านใช้เอกสารอะไรบ้าง
แม้จะไม่จำเป็นต้องไปถึงสำนักงานเขต แต่การจะไปคัดสำเนาทะเบียนบ้านก็ควรเตรียมเอกสารความพร้อมให้ครบถ้วนด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรณีแก้ไขเปลี่ยนแปลงทะเบียนบ้าน
- เอกสารราชการที่มาแสดงประกอบหลักฐานในการแก้ไขรายการ
- บัตรประจำตัวผู้แจ้ง (เจ้าบ้านหรือเจ้าของประวัติหรือบิดามารดา)
- สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
- สูติบัตร (กรณีแจ้งเกิด) หรือ มรณบัตร (กรณีแจ้งตาย)
การแจ้งย้ายเข้า
- สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
- หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน
- ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ (ท.ร. 6) ตอนที่ 1 และ 2 ซึ่งเจ้าบ้านลงนามยินยอมให้ย้ายเข้าแล้ว
การแจ้งย้ายออก
- สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน)
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้าน
- หนังสือมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีผู้แจ้งย้ายไม่ใช่เจ้าบ้าน)
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าบ้าน (กรณีมอบหมาย)
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ย้ายที่อยู่กรณีแจ้งย้ายที่อยู่ของตนเอง
การแจ้งย้ายปลายทาง
- สำเนาทะเบียนบ้าน (ฉบับเจ้าบ้าน) ของบ้านที่จะย้ายเข้า
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งย้าย หรือบัตรประจำตัวตามกฎหมายอื่นพร้อมสำเนา บัตรที่ลงชื่อเจ้าของบัตร กำกับไว้
- เจ้าบ้านที่จะย้ายเข้าอยู่ใหม่
- บัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านที่จะย้ายเข้าอยู่ใหม่
- หนังสือยินยอมให้แจ้งย้ายเข้าของเจ้าบ้านที่จะเข้าอยู่ใหม่ (กรณีเจ้าบ้านไม่สามารถไป ดำเนินการแจ้งย้ายได้)
- หนังสือมอบหมายจากผู้ย้ายที่อยู่ บัตรฯ พร้อมด้วยสำเนาบัตรฯ ที่ลงชื่อเจ้าของบัตรกำกับไว้ ทั้งผู้มอบและผู้รับมอบ (กรณีผู้แจ้งย้าย)
ค่าธรรมเนียมในการขอคัดสำเนาทะเบียนบ้าน
รายละเอียด | ค่าธรรมเนียม |
คัดสำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย | 10 บาท |
คัดสำเนาข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร | 20 บาท |
แจ้งการเกิดต่างท้องที่ | 20 บาท |
แจ้งการตายต่างท้องที่ | 20 บาท |
แจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง | 20 บาท |
แจ้งย้ายที่อยู่ต่างท้องที่ | 20 บาท |
ขอรับสำเนาทะเบียนบ้าน กรณีชำรุดหรือสูญหาย | 20 บาท |
- ขอคัดสำเนา หรือคัดและรับรองสำเนาทะเบียนบ้าน ทะเบียนคนเกิด ทะเบียนคนตาย ฉบับละ 10 บาท
- ขอคัดสำเนา หรือคัดและรับรองสำเนารายการข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ฉบับละ 20 บาท
- การแจ้งการเกิดต่างท้องที่ ฉบับละ 20 บาท
- การแจ้งการตายต่างท้องที่ ฉบับละ 20 บาท
- การแจ้งย้ายที่อยู่ปลายทาง ฉบับละ 20 บาท
- การแจ้งย้ายที่อยู่ต่างท้องที่ ฉบับละ 20 บาท
- ขอรับสำเนาทะเบียนบ้านกรณีชำรุดหรือสูญหาย ฉบับละ 20 บาท
ควรรู้ก่อนคัดสำเนาทะเบียนบ้านที่ BMA Drive Thru Service
สำหรับการคัดสำเนาทะเบียนบ้านที่จุดให้บริการ BMA Drive Thru Service นั้น ขณะนี้เปิดให้บริการที่สำนักงานเขตจตุจักรเท่านั้น โดยข้อดีของการบริการที่นี่คือ ไม่ต้องลงจากรถเพียงเทียบรถเข้าใกล้จุดบริการ พร้อมยื่นเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์ในการติดต่อ ก็สามารถคัดสำเนาทะเบียนบ้านได้เลย
เรียกได้ว่าเป็นการพลิกโฉมการให้บริการงานราชการอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว สำหรับการคัดสำเนาทะเบียนที่ไม่จำเป็นต้องไปสำนักงานเขตให้ยุ่งยาก เพียงเลิอกใช้บริการ BMA Express Service บนรถไฟฟ้า BTS หรือ BMA Drive Thru Service ณ จุดบริการ ก็สามารถสร้างความสะดวกสบายในการติดต่องานทะเบียนราษฎร์อย่างการคัดสำเนาทะเบียนบ้านได้แล้ว
แต่หากใครที่จำเป็นต้องมีขั้นตอนเกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งต้องไปสำนักงานเขตนั่น ทางที่ดีควรใช้บริการจองคิวออนไลน์ ผ่านช่องทาง E-mail: smartidbooking@gmail.com และ Line ID: smartidbooking ก็สะดวกสบายเช่นกัน
ขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร
เรื่องข้างต้นเขียนโดย อารยา ศิริพยัคฆ์ Content Writer ประจำเว็บไซต์ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า