ปัจจุบันคนที่คิดจะสร้างบ้านส่วนใหญ่ มักเป็นคนที่มีที่ดินเป็นของตัวเองอยู่แล้ว และคิดว่าการสร้างบ้านบนที่ดินมรดกหรือที่ดินเก่าของตัวเองเป็นการประหยัดงบประมาณมากกว่าที่จะไปหาโครงการบ้านจัดสรร สิ่งสำคัญอันดับแรกหากใครที่คิดจะสร้างบ้านก็คือการวางแผน การวางแผนในที่นี้สิ่งแรกที่ควรทำก็คือ การศึกษากฎหมายการสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง ซึ่งแน่นอนหากไม่ศึกษาจุดนี้ บ้านสร้างเสร็จ โดนตรวจสอบต้องรื้อต้องถอน ต่อให้การสร้างอยู่ในงบเท่าไหร่ การรื้อถอนต้องจ่ายงบประมาณเพิ่มมากกว่าเป็นสองเท่าอย่างแน่นอน ทีนี้พอทราบแล้วว่าบ้านแบบไหนที่ถูกต้องไม่ผิดกฎหมาย และไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง ข้อมูลต่อไปที่จะต้องสืบค้นก็คือ
หาข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้าน
ข้อมูลตรงนี้ไม่ได้หมายถึงการหาแบบบ้าน การวางโครงสร้างบ้าน แต่หมายความไปถึงการกู้เงินเพื่อมาสร้างบ้าน โดยข้อมูลนี้ถือเป็นส่วนสำคัญ และสามารถศึกษาวิธีการกู้เงินเพื่อสร้างบ้านในฝันบนที่ดินของตนเองได้ที่นี่ ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะคาบเกี่ยวไปที่งบประมาณในการสร้างบ้านที่อยู่ในวงเงินกู้ที่จะกู้ได้ ซึ่งพอทราบงบประมาณแล้วเราก็จะสามารถจัดสรรปันส่วนเงินก้อนนี้ให้กับบ้านในฝันของเราได้ รวมไปถึงการหาข้อมูลสเปค วัสดุ มาเปรียบเทียบทั้งความแข็งแรงและราคา ซึ่งตรงนี้เราสามารถหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตได้ตั้งแต่ งานโครงสร้าง งานเสาเข็ม งานตกแต่ง ฝ้าเพดาน หลังคา ระบบประปา ไปจนถึงระบบไฟ ซึ่งการรู้ข้อมูลเหล่านี้เบื้องต้นจะทำให้เราไม่เสียรู้กับผู้รับเหมา และใช้งบประมาณได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
จัดสรรงบประมาณการก่อสร้าง
หลังจากทราบงบประมาณแล้ว เราสามารถนำเงินก้อนนี้ ออกไปจัดสรรปันส่วนเพื่อกำหนดงบประมาณในการสร้างบ้านที่ชัดเจนได้ ซึ่งการสร้างบ้านจะประกอบไปด้วยการใช้งบประมาณ 3 ส่วนด้วยกันคือ
งบประมาณการก่อสร้าง งบนี้ถือเป็นปัจจัยหลักในการสร้างบ้าน เพราะจะกินเงินงบไปกว่า 60% ก็ว่าได้ ซึ่งการแบ่งเงินออกมา 60% ของงบประมาณทั้งหมดสามารถสร้างบ้านแบบพร้อมอยู่ได้เลย แต่ทั้งนี้งบประมาณที่แบ่งออกมาดังกล่าวก็ต้องสอดคล้องกับขนาดและพื้นที่ใช้สอยของตัวบ้านด้วย หลายคนมีพื้นที่ขนาดใหญ่แต่งบประมาณน้อยก็เลือกที่จะปลูกบ้านชั้นเดียวแต่เน้นพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ภายในตัว เพราะการก่อสร้างบ้านชั้นเดียวนั้นถือว่ามีงบประมาณการก่อสร้างที่ถูกกว่าบ้านสองหรือสามชั้นเป็นเท่าตัว ซึ่งทั้งนี้งบประมาณในส่วนนี้จะต้องสอดคล้องกับการจ้างผู้รับเหมาด้วย ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เสียเปรียบ จึงต้องมองกลับไปในข้อแรกในเรื่องการสืบหาข้อมูลให้ดี
งบสำหรับการตกแต่งภายใน งบที่สองต่อจากงบหลักเป็นงบที่ใช้เงินรองลงมา ส่วนใหญ่จะถูกแบ่งออกมาประมาณ 20 – 30% เพราะการตกแต่งภายในไม่ได้หมายถึงเฉพาะการปูผนังด้วยวอลเปเปอร์ หรือการบิวท์อินตู้เสื้อผ้า แม้กระทั่งโถสุขภัณฑ์ แต่รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ภายในตัวบ้าน โดยเฉพาะม่านถือเป็นตัวดูดทรัพย์ของการตกแต่งภายใน การติดตั้งม่านถือเป็นหนึ่งในเฟอร์นิเจอร์ประดับบ้านที่ใช้ทุนสูงมาก แต่ก็มีตัวเลือกของวัสดุผ้าที่แตกต่าง โดยไม่จำเป็นต้องติดม่านสวยก็สามารถทำบ้านให้หรูได้ ดังนั้นงบที่แบ่งออกมาอีก 20-30% จึงควรคิดทบทวนทุกอย่างให้ครบครัน หากขาดเหลืออะไรไประหว่างตกแต่งบ้านเสร็จ อาจจะต้องเสียเงินเพิ่ม ซึ่งจะทำให้เกินงบประมาณที่กำหนดไว้
งบสำหรับการตกแต่งภายนอก ส่วนนี้ถือเป็นงานสุดท้าย หรือ เรียกว่าเป็นการเก็บงานการสร้างบ้านของผู้รับเหมาก็ได้ งบประมาณที่ใช้จึงเป็นงบประมาณที่เหลือจาก 2 ส่วน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ปลูกบ้านเองอยากได้ฟังก์ชันการใช้งานแบบไหน บางคนอาจอยากได้สนามหญ้ากว้างๆ หรือกระทั่งสระว่ายน้ำ หรือพื้นที่ Outdoor ที่สามารถกิจกรรมในครอบครัวได้ ก็ต้องดึงงบในการตกแต่งภายในออกมาเพื่อให้ได้ในส่วนนี้ รวมไปถึงงานรั้ว งานประตู งานสวนต่างๆ อย่าลืมเด็ดขาด เพราะทุกสิ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้บ้านเป็นบ้านจริงๆ
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย กิตติคม พจนี Content Writer ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com