คิดให้ดีก่อนมีหนี้

DDproperty Editorial Team
คิดให้ดีก่อนมีหนี้
Business loan from a bank employee. finance concept
“บ้าน” คือความฝันของใครหลายๆ คน แม้ว่าการจะมีบ้านสักหลังหรือคอนโดมิเนียมสักห้องอาจจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อมีตัวแปรอย่าง “เงิน” เข้ามาเกี่ยวข้อง และถ้าไม่มีหรือมีไม่พอล่ะต้องทำอย่างไร? คำตอบที่ผุดขึ้นมาในใจของหลายๆ คนก็คือ “กู้” ซึ่งการกู้ที่ปลอดภัยที่สุดก็หนีไม่พ้นการกู้พ่อ-แม่สุดที่เลิฟ ซึ่งจะว่าไปก็เหมือนกับการยืมเงินตัวเองในอนาคตมาใช้ก่อน อาจจะมีดอกเบี้ยบ้างเล็กน้อย ส่วนเรื่องเงื่อนไขก็ขึ้นอยู่กับความสามารถส่วนบุคคล
ส่วนคนที่ไม่สามารถกู้แบบนี้ได้ ก็คงต้องหันมากู้จากธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์หรือตามสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อที่ต่างกันออกไป เช่น บางแห่งเน้นปล่อยสินเชื่อให้แก่ที่พักอาศัยในระดับไม่เกิน 5 ล้านบาท บางแห่งอาจจะเน้นไปที่ระดับถูกลงมาหน่อย ขึ้นอยู่กับแผนการตลาดของแต่ละที่
พวกเราในฐานะผู้ซื้อก็ต้องมีความรอบคอบในการหาข้อมูลและเงื่อนไขสินเชื่อที่เหมาะกับสถานการณ์การเงินของเราในขณะนั้น เพราะอย่าลืมนะคะว่าการขอสินเชื่อบ้าน นอกจากดอกเบี้ยที่เราต้องเสียแล้ว ในการทำสัญญากู้ธนาคารแต่ละครั้ง เราจะต้องถูกบังคับให้ต้องทำสัญญาจำนองไว้จากธนาคารผู้ให้กู้ โดยส่วนใหญ่ธนาคารจะถอนจำนองให้ก็ต่อเมื่อเราได้ชำระเงินงวดสุดท้ายแล้ว เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีที่เราไม่สามารถชำระเงินกู้คืนให้แก่ธนาคารได้ บ้านที่เราผ่อนมาก็อาจถูกยึดบังคับชำระหนี้ ซึ่งเท่ากับว่าเราให้ธนาคารยืมเงินไปหมุนเล่นแถมบ้านให้อีกหนึ่งหลัง
ดังนั้น หากคิดจะขอสินเชื่อบ้าน ขอให้คุณผู้อ่านพิจารณาสถานะทางการเงินของตัวคุณในขณะนั้นด้วยว่า เงื่อนไขของธนาคารไหนเหมาะสมกับตัวเราในสถานการณ์ตอนนั้น
ก่อนอื่น คุณต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เงื่อนไขการกู้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละแห่งว่าที่ไหนตอบโจทย์คุณได้มากที่สุด ซึ่งส่วนมากวงเงินที่ธนาคารจะให้คุณกู้จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70-95 ของราคาประเมินหลักทรัพย์ ขึ้นอยู่กับลำดับความน่าเชื่อถือที่คุณได้รับและนโยบายของธนาคารแต่ละแห่ง โดยความน่าเชื่อถือของคุณจะพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการกู้ตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น ลักษณะที่อยู่อาศัยว่าเป็นบ้านเดี่ยวหรืออาคารพาณิชย์ คุณสมบัติส่วนตัวของท่านว่าอายุเท่าไร ประกอบธุรกิจอะไร มีรายได้ประจำหรือไม่ เท่าไร เคยขึ้นแบล็คลิสต์หรือเปล่า ต้องการกู้เงินเท่าไร และจะผ่อนชำระโดยเสียดอกเบี้ยแบบไหน ระยะเวลาในการกู้นานแค่ไหน มีคนกู้ร่วมหรือไม่ เป็นต้น หลังจากที่ธนาคารได้ข้อมูลดังกล่าวไปก็จะไปประเมินว่าธนาคารจะมีความเสี่ยงแค่ไหน จะปล่อยให้คุณกู้ได้มากน้อยเพียงใด คำนวณสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งวงเงินกู้ การผ่อนชำระรายเดือนและสินเชื่อรีไฟแนนซ์ได้ที่นี่
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้คุณได้รับสินเชื่อตามความต้องการหรือไม่นั้นก็คือ เจ้าหน้าที่ที่เสนอเรื่องให้คุณ คนๆนี้ถือเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้ท่านได้รับอนุมัติได้เลย
ในส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ย การกำหนดประเภทอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยในหลายรูปแบบ ซึ่งจะขอแยกเป็นประเภทดังนี้

อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว

คุณคงเคยได้ยินคำว่า MLR (Minimum Lending Rate) ลบหนึ่ง ลบศูนย์จุดเจ็ดห้า เป็นต้น อัตราเงินกู้ในลักษณะนี้ คุณจะเสียดอกเบี้ยไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในแต่ละครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เดือนที่ 3 ธนาคารที่คุณกู้ประกาศว่าอัตราดอกเบี้ย MLR คือ 5% หากในสัญญากู้ธนาคารให้ MLR-1% กับคุณ ให้นำมาลบกันก็จะได้อัตราดอกเบี้ยที่คุณต้องเสีย เช่น หากคุณต้องส่งค่างวด 100 บาท ก็จะเสียดอกเพิ่ม 4 บาท เป็นต้น ปัญหาคือว่า เราไม่สามารถที่จะทราบได้เลยว่าธนาคารจะปรับอัตราดอกเบี้ยเท่าไร เมื่อไร ดังนั้น อัตราเงินกู้ประเภทนี้จึงค่อนข้างมีความเสี่ยงมากในกรณีที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี

อัตราดอกเบี้ยแบบคงที่

เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ไม่มีการปรับขึ้นหรือลงตลอดระยะเวลากู้

อัตราดอกเบี้ยแบบผสม

เป็นการรวมร่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวและคงที่ กล่าวคือ ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2 ปีแรก หลังจากนั้นใช้อัตรา MLR เป็นต้น
หากคุณตัดสินใจยื่นกู้โดยดูจากอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด อาจจะต้องเหนื่อยหน่อยในภายหลังเพราะธนาคารมักจะอิงตามดอกเบี้ย MLR ที่อาจจะสูงขึ้นในอนาคต ดังนั้น หากคุณคิดว่าไม่พร้อมที่จะรับความเสี่ยงในอนาคต คุณควรเลือกอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ แต่หากคิดว่าคุณสามารถรับความเสี่ยงในอนาคตได้ คุณก็อาจจะเลือกอัตราดอกเบี้ยต่ำได้
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขอสินเชื่อด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการร้อยละ 0.1-1.0 ของวงเงินสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติ ค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ประมาณ 2,500-5,000 บาท ค่ากรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ค่าปรับในกรณีที่ท่านชำระเงินกู้หมดก่อน 3 ปี โดยคิดเป็นอัตราร้อยละ 1.5-3 ของวงเงินกู้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในสัญญาและนโยบายของแต่ละธนาคาร
ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจยื่นกู้กับสถาบันการเงินแห่งใดก็ตัดสินใจอย่างมีสตินะ
อ่านบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย กาญจนา พาหา บรรณาธิการ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อบ้าน คู่มือซื้อขาย สามารถเป็นตัวช่วยตอบได้ทุกคำถาม พร้อมบอกรายละเอียดการคำนวณสินเชื่อบ้านให้คุณตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น”
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ