หัวอกของคนเช่าบ้าน ในภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดเช่นนี้ ดูเหมือนทุกอย่างจะแพงไปหมด ยิ่งหากเลือกโซนทำเลในเมือง ใกล้รัศมีเส้นทางรถไฟฟ้าด้วยแล้ว ราคายิ่งสูงปรี้ดทะลุปรอทแตก แถมเจ้ากรรมดันแจ๊คพอตเจอเจ้าของบ้านมหาโหดเข้าอีก
หรือโชคดีอาจเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิด เจ้าของบ้านเกิดดันเสียชีวิต จากไปอย่างไม่ร่ำลา คุณพระ! ฐานะผู้เช่าตัวน้อยนี้จะเป็นเช่นไร สัญญาเช่าที่เคยทำไว้กลายเป็นโมฆะหรือไม่ คำถามเหล่านี้ต่างวนเวียนอยู่ในหัว ต่อไปนี้หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเหล่านี้ขึ้น อันดับแรกขอให้ตั้งสติ แล้วรับมือกับกระบวนความรู้ด้านกฎหมายที่รู้ไว้ จะได้ไม่ต้องตกใจเป็นกระต่ายตื่นตูมเก้อ
-
3 ข้อที่ผู้เช่าต้องรู้ หากเจ้าของบ้านเช่าเสียชีวิต
1.พึงรู้ไว้ ต่อให้เจ้าของบ้านตาย สัญญาเช่าไม่ถูกระงับ
วันดี คืนดี เจ้าของบ้านที่เราจ่ายเงินค่าเช่าอยู่ทุกเดือน กับลาโลกจากไปอย่างไม่ร่ำลา แล้วอย่างนี้ในฐานะผู้เช่า สัญญาเช่าที่เคยทำไว้จะมีการระงับหรือไม่ ในทางกฎหมายสามารถตอบได้ทันทีว่า ผู้ให้เช่าถือว่าเป็นบุคคลที่ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญาเช่า
ดังนั้นแม้ผู้ให้เช่าเกิดตาย สัญญาเช่าที่ทำไว้เมื่อครั้นมีชีวิตอยู่จะไม่มีถูกระงับได้ โดยผู้ที่มารับช่วงต่อจะต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่ตามสัญญาเช่าซึ่งได้รับเป็นมรดกนั้นมา
2.เจ้าของบ้านคนใหม่ ไม่มีสิทธิไล่ผู้เช่า
ผู้ที่มารับช่วงต่อ แล้วรับหน้าที่เป็นเจ้าของบ้านคนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือลูกหลานมารับมรดกแทน นั้นมีเพียงสิทธิในการบริหารจัดการบ้านเช่าหลังงามได้อย่างเต็มที่ แต่ไม่มีอำนาจในการคัดผู้เช่าออก ตามที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุไว้
นอกเหนือจากเกิดเหตุการณ์ผู้เช่าทำผิดกฎระเบียบตามที่ระบุสัญญา สามารถบอกเลิกสัญญาเช่าได้ โดยต้องบอกล่วงหน้าให้ผู้เช่าเตรียมใจล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน เป็นต้น
3.จะเปลี่ยนแปลงค่าเช่า ต้องยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย
ด้วยสภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด หรือเจ้าของบ้านเช่าคนใหม่ เกิดใจดีอย่างเปลี่ยนแปลงค่าเช่า ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง จำเป็นต้องมีการประกาศเรียกคุยระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่า เพื่อตกลงยินยอมกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้ทันที
ข้อควรรู้
เมื่อคิดจะเช่าบ้าน นอกจากจะพินิจพิเคราะห์ถึงตัวบ้าน รายละเอียดต่าง ๆ แล้ว หนังสือหรือสัญญาเช่า ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากวันดีคืนดี เจ้าของบ้านเจ้ากรรมดันเสียชีวิต หรือมีข้อพิพาทต่าง ๆ เกิดขึ้น
สัญญาจะกลายเป็นเกาะป้องกันให้สามารถฟ้องร้อง เรียกผลประโยชน์ในฐานะผู้เช่าตามกฎหมายได้ โดยขอให้พึงระลึกเสมอว่าสัญญาเช่าส่วนใหญ่จะกำหนดไม่ให้มีอายุนานเกิน 30 ปี
แหล่งข้อมูลอ้างอิง หนังสือกฎหมายใกล้ตัว ไม่รู้…ไม่ได้!! เล่ม 2
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ