“เตรียมเงินค่าผ่อนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะตามมา ให้พร้อมก่อนกู้ซื้อคอนโดฯ สักห้อง ป้องกันปัญหาผ่อนไม่ไหว” – K-Expert
สำหรับคนรุ่นใหม่วัยเริ่มต้นทำงาน เมื่อทำงานไปได้สักพัก พอมีเงินเก็บบ้างแล้ว เชื่อว่าหลายคนคงมองหาคอนโดฯ สักห้องไว้อยู่อาศัยเพื่อให้ชีวิตสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องตื่นแต่เช้า เดินทางฝ่ารถติดจากบ้านมาถึงที่ทำงาน จะไปไหนมาไหนก็ใกล้ เหมาะกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบในปัจจุบัน แต่การซื้อคอนโดฯ สักห้องก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง พอๆ กับการซื้อบ้านสักหลังเลยทีเดียว นอกจากเงินดาวน์ เงินผ่อนต่อเดือนแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายตามมาอีกมากมายเมื่อเข้าอยู่คอนโดฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ว่าจะมีอะไรบ้างนั้น K-Expert ได้รวบรวมมาฝากดังนี้
ค่าเฟอร์นิเจอร์
ถ้าคอนโดฯ ที่ซื้อเป็นห้องเปล่าซึ่งยังไม่ได้ตกแต่งหรือมีเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์เครื่องใช้ใดๆ แน่นอนว่าต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อเฟอร์นิเจอร์มาตกแต่งห้องให้พร้อมอยู่ ไม่ว่าจะเป็น เตียงนอน ตู้เสื้อผ้า โซฟา รวมไปถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่จำเป็น รวมกันแล้วเป็นค่าใช้จ่ายหลักหมื่นถึงหลักแสนบาทเลยทีเดียว
ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง
ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้คือค่าดูแลรักษาทรัพย์สินของส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็น ระบบรักษาความปลอดภัย สระว่ายน้ำ ฟิตเนส สวนในโครงการ หรือที่จอดรถ ซึ่งจะเรียกเก็บจากเราล่วงหน้าเป็นรายปี โดยคิดราคาตามขนาดพื้นที่ห้อง เป็นราคาต่อตารางเมตร ทั้งนี้ อัตราค่าส่วนกลางจะแตกต่างกันไปในแต่ละโครงการ เช่น 50 บาท/เดือน/ตร.ม. สมมติเราเลือกคอนโดแบบ 1 ห้องนอน ขนาด 25 ตารางเมตร ค่าใช้จ่ายส่วนกลางจะอยู่ที่ 15,000 บาท ต่อปี
ค่าประกันอัคคีภัย
ค่าประกันอัคคีภัยถือเป็นอีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับการกู้ซื้อคอนโดฯ หรือนิติบุคคลเรียกเก็บจากเจ้าของร่วมทุกคน เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับคอนโดฯ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ปกติจะจ่ายพร้อมกับค่าผ่อนคอนโดฯ ในงวดแรก หรือถูกเรียกเก็บจากนิติบุคคลเป็นรายปี
โดยค่าเบี้ยประกันจะแตกต่างกันไปตามขนาดพื้นที่ห้อง รวมถึงชั้นของคอนโดฯ ที่อยู่ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณหลักพันบาทต่อปี แต่หากเลือกทำประกันให้มีระยะเวลาความคุ้มครองเกิน 1 ปี ค่าเบี้ยประกันก็จะถูกลง โดยระยะเวลาความคุ้มครอง 3 ปี จะคิดอัตราค่าเบี้ยประกัน 250% ของอัตราเบี้ยประกัน 1 ปี เช่น ทำประกันอัคคีภัยระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี ค่าเบี้ยประกันอยู่ที่ 2,000 บาท หากจ่ายเป็นรายปี เมื่อครบ 3 ปี ค่าเบี้ยประกันรวมกันแล้วจะอยู่ที่ 6,000 บาท แต่หากเลือกทำประกันอัคคีภัยระยะเวลาคุ้มครอง 3 ปี จ่ายค่าเบี้ยประกันเพียงครั้งเดียวค่าเบี้ยประกันจะอยู่ที่ 5,000 บาท เท่ากับว่าเราจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ 1,000 บาทนั่นเอง
ค่าสาธารณูปโภค
เมื่อเข้าอยู่คอนโดฯ แล้วย่อมมีค่าสาธารณูปโภคเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือค่าอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายเป็นประจำทุกเดือน แต่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ของแต่ละคน ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาทต่อเดือนขึ้นไป
จะเห็นว่าเมื่อรวมค่าใช้จ่ายต่างๆ เข้าด้วยกันแล้วจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว หากไม่เตรียมตัวเก็บเงินก้อนไว้ หรือไม่ได้วางแผนบริหารจัดการรายจ่ายในแต่ละเดือน แต่ละปีให้ดี ก็มีโอกาสที่จะกู้ซื้อคอนโดฯ แล้วผ่อนไม่ไหวค่ะ ดังนั้น ใครที่คิดว่าคอนโดฯ สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตได้ และสนใจอยากซื้อคอนโดฯ สักห้อง ต้องไม่มองเพียงแค่ว่ามีเงินดาวน์ เงินผ่อนแล้วจะเข้าอยู่ได้เลย ต้องเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จะตามมาด้วยค่ะ
ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารจะกำหนดให้เรามีภาระผ่อนต่อเดือนได้ถึง 40% ของรายได้ แต่ทางที่ดีแนะนำว่า ไม่ควรผ่อนเกิน 30% ของรายได้ เพราะต้องเผื่อเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะตามมาด้วย เพื่อไม่ให้ภาระผ่อนตึงมือจนเกินไปหรือกระทบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในแต่ละเดือนของเราค่ะ ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับการการซื้อบ้านได้ที่ K-Expert
K-Expert Action
- พิจารณาถึงความจำเป็นในการซื้อคอนโดก่อนตัดสินใจ
- ประเมินความสามารถในการผ่อน และวางแผนออมเงินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะตามมา
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ