เมื่อจะซื้อบ้านสักหลัง เรามักคำนึงถึงทำเลมาเป็นอันดับแรก ๆ หลายคนอยากได้บ้านอยู่ในทำเลดี แต่บ้านทำเลดีก็มีราคาสูง หรือโครงการบ้านใหม่ ๆ ขายหมดไปแล้ว บ้านจากทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร (NPA) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เราได้บ้านในทำเลที่ถูกใจ และอาจได้บ้านในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายในท้องตลาด แต่ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อทรัพย์สินรอการขาย เราต้องให้ความสำคัญในเรื่องใดบ้าง K-Expert มีคำแนะนำมาฝากกัน
ดูสภาพบ้านจริงก่อนตัดสินใจยื่นเสนอซื้อ
ส่วนใหญ่การเลือกซื้อบ้านจากทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร ผู้ซื้อมักจะค้นหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ทรัพย์สินรอการขายของธนาคารต่าง ๆ ซึ่งหากการเลือกซื้อบ้านดูเพียงแค่รูปภาพในเว็บไซต์อย่างเดียว ก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะรูปทรัพย์สินรอการขายอาจแตกต่างจากสภาพจริงในปัจจุบัน ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้บ้านที่ถูกใจ แนะนำว่าควรเข้าไปตรวจดูสภาพบ้านจริงก่อนตัดสินใจยื่นเสนอซื้อทรัพย์สินรอการขายนั้นโดยเราสามารถติดต่อกับธนาคารขอเข้าไปดูสภาพบ้านที่สนใจได้
นอกจากนี้ หากสภาพทรัพย์สินรอการขายนั้น ๆ มีความทรุดโทรมต้องซ่อมแซม ก็ควรพาผู้รับเหมาเข้าไปตรวจสอบประเมินราคาค่าซ่อมแซมด้วย จะได้รู้ว่าต้องเตรียมเงินสำหรับค่าซ่อมแซมบ้านเท่าไร หรือประเมินว่าหากต้องซ่อมแซมแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งถ้าหากจำเป็นต้องซ่อมแซมแล้วเงินไม่เพียงพอจริง ๆ สามารถขอสินเชื่อเพื่อซ่อมแซม ตกแต่งบ้านได้
ประเมินความสามารถในการผ่อนก่อนวางเงินเสนอซื้อ
การยื่นเสนอซื้อทรัพย์สินรอการขาย โดยปกติแล้วธนาคารจะให้มีการวางเงินค่าประกันการเสนอซื้อ หรือวางเงินมัดจำตามที่ธนาคารกำหนด เช่น 1% ของราคาที่เสนอซื้อ โดยก่อนที่จะยื่นเสนอซื้อและจ่ายเงินค่าประกันการเสนอซื้อทรัพย์สินรอการขายนั้น ๆ ต้องมั่นใจก่อนว่าเรามีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ทรัพย์สินรอการขายนั้นเพียงพอเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของธนาคารหรือไม่ เนื่องจากบางธนาคารอาจมีข้อกำหนดที่จะไม่คืนเงินค่าประกันการเสนอซื้อ ในกรณีที่เรายื่นกู้เงินกับธนาคารไม่ผ่าน ดังนั้นเพื่อป้องกันการโดนยึดเงินค่าประกันการเสนอซื้อและให้พร้อมยื่นกู้ แนะนำว่าควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ธนาคารประเมินความสามารถในการชำระหนี้เสียก่อน หรือที่เรียกว่า Pre Approve ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าวงเงินกู้สูงสุดตามความสามารถในการชำระหนี้เป็นจำนวนเท่าไร เพียงพอกับการกู้ซื้อทรัพย์สินรอการขายหรือไม่
เปรียบเทียบดอกเบี้ยและโปรโมชั่นของแต่ละธนาคารก่อนยื่นกู้
หลังจากที่เราได้รับเลือกเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินรอการขายแล้ว ธนาคารจะติดต่อให้วางเงินดาวน์ เช่น 10% ของราคาขาย และจะมีการทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย เพื่อใช้เป็นเอกสารในการยื่นกู้เงินกับธนาคาร ทั้งนี้ หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าต้องยื่นกู้กับธนาคารที่ขายทรัพย์สินรอการขายให้เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถยื่นกู้เงินกับธนาคารอื่น ๆ ก็ได้ ดังนั้นในการตัดสินใจยื่นกู้กับธนาคาร ก็ควรเปรียบเทียบดอกเบี้ยและโปรโมชั่นของธนาคารต่าง ๆ ที่เราสนใจก่อน เพื่อให้ได้ประโยชน์และประหยัดดอกเบี้ยจ่ายมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม หลังจากทำหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สินรอการขายแล้ว ธนาคารมักจะกำหนดระยะเวลาในการทำเรื่องยื่นกู้ หากเราไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ก็จะทำให้ถูกริบเงินดาวน์ทั้งหมด
บทความที่คุณอาจสนใจ:
- 4 ช่องทางค้นหาบ้าน-คอนโดฯ มือสอง เพื่อการลงทุน
- ปัญหาที่อาจเจอเมื่อซื้อบ้านที่เป็นทรัพย์สินรอการขาย (NPA)
- อัพเดทอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน กู้ซื้อบ้าน
ทั้งนี้ การซื้อทรัพย์สินรอการขายของธนาคารมักมีข้อกำหนดต่าง ๆ ผู้ที่สนใจจึงควรศึกษาข้อกำหนดต่าง ๆ ให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและป้องกันการถูกริบเงินในกรณีที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขหรือข้อกำหนดได้
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องบ้าน สามารถเข้าไปค้นหาคำตอบได้ที่ เว็บบอร์ด Askguru ที่จะช่วยตอบทุกคำถาม ในขณะเดียวกันสำหรับคนที่สนใจจะซื้อหรือเช่า เรายังมี ทำเลที่น่าสนใจอีกมากมายใน AreaInsider และมีโครงการบ้าน-คอนโดฯ ให้คุณค้นหา
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นารีรัตน์ กำเลิศทอง AFPTTM K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ