จากวิกฤตการณ์โลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกปี ดวงอาทิตย์ที่สาดแสงใส่หลังคาอยู่ทุกวัน ก็ยิ่งแผดเผาให้ความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านมากขึ้นทุกที การติดฉนวนกันความร้อนหลังคาเพื่อลดความร้อนใต้หลังคา จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อบ้านทุกหลังในยุคนี้ แต่วัสดุฉนวนกันความร้อนก็มีหลายแบบ
เจ้าของบ้านจึงต้องเลือกฉนวนกันความร้อนให้เหมาะสมกับบ้านและงบประมาณของตนเอง และด้วยข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับฉนวนกันความร้อนหลังคาต่อไปนี้ การเลือกฉนวนให้ถูกใจ ลดความร้อนใต้หลังคา ช่วยให้บ้านเย็นอยู่สบาย ก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ฉนวนกันความร้อนหลังคาคืออะไร
ฉนวนกันความร้อน คือ วัสดุที่ใช้ป้องกันไม่ให้ความร้อนทะลุจากด้านหนึ่งสู่อีกด้านหนึ่ง โดยมักจะติดไว้ใต้หลังคา บนฝ้า หรือในผนัง ฉนวนกันความร้อนหลังคาจึงมีหน้าที่ในการดูดซับและป้องกันความร้อนจากหลังคา ลดความร้อนใต้หลังคาหรือต้านทานความร้อนให้เหลือน้อยที่สุดก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน
และยังมีแผ่นฉนวนกันความร้อนอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า แผ่นสะท้อนความร้อน ซึ่งใช้วิธีป้องกันความร้อนที่แตกต่างกัน โดยเน้นการสะท้อนคลื่นความร้อนออกจากตัวบ้านเป็นหลัก
รูปแบบการติดฉนวนกันความร้อนหลังคา ลดความร้อนใต้หลังคา
1. ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น
ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่นเป็นฉนวนกันความร้อนสำเร็จรูปที่ผลิตจากวัสดุหลากหลายประเภท มีลักษณะเป็นแผ่นที่มีความอ่อนตัว สามารถดัดโค้งให้เข้ากับโครงสร้างได้ จึงง่ายต่อการติดตั้ง ไม่ว่าจะติดฉนวนกันความร้อนหลังคา ทั้งเหนือหรือใต้แปรองแผ่นหลังคา หรือปูฉนวนกันความร้อนบนฝ้าก็ตาม ขอเพียงฉนวนที่ใช้มีน้ำหนักเบา

2. ฉนวนกันความร้อนแบบพ่น
ฉนวนกันความร้อนแบบพ่นเป็นการนำวัสดุฉนวนกันความร้อนที่ละลายเป็นของเหลว พ่นทับบนพื้นผิวที่ต้องการป้องกันความร้อน โดยพ่นทับได้แทบทุกพื้นผิว และฉนวนบางชนิดยังใช้พ่นพื้นผิวนอกอาคารได้ด้วย จึงเหมาะกับพื้นที่ที่มีความซับซ้อน หรือยากต่อการปูฉนวนเป็นแผ่น แต่ต้องพ่นฉนวนโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีเครื่องมือเฉพาะทางเท่านั้น
ฉนวนกันความร้อน ติดตั้งอย่างไร
1.ติดตั้งบนฝ้า ช่วยหน่วงความร้อนไม่ให้สะสมในส่วนใต้หลังคาแต่ต้องมีช่องระบายความร้อนออกตรงฝ้าชายคาบ้านด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความร้อนสะสมใต้หลังคามากเกินไป
2.ติดตั้งใต้แผ่นหลังคา ทำหน้าที่หน่วงความร้อนไม่ให้เข้าสู่ใต้หลังคา โดยต้องติดตั้งไปพร้อม ๆ กับสร้างหลังคาตั้งแต่สร้างบ้าน
3.ติดตั้งบนหลังคา สะท้อนความร้อนไม่ให้เข้าสู่ใต้หลังคาบ้าน การติดตั้งแบบนี้แนะนำให้ใช้เป็นตัวเสริมกับการติดตั้งฉนวนแบบอื่น ๆ เนื่องด้วยการทาสีมีพื้นผิวที่บาง และหากเกิดคราบสกปรกประสิทธิภาพการสะท้อนแสงจะลดลง
การเลือกประเภทฉนวนกันความร้อนหลังคา ลดความร้อนใต้หลังคา
ฉนวนกันความร้อนมีให้เลือกหลายแบบ ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและวัสดุที่ใช้ผลิตฉนวน โดยวัสดุฉนวนกันความร้อนหลังคาที่น่าสนใจจะมีอะไรบ้าง สามารถดูได้จากตาราง ดังนี้
ฉนวนใยแก้ว
- ทนความร้อนสูง
- ป้องกันความร้อนได้ดี
- ป้องกันเสียงได้ดี
- ติดไฟได้ แต่ไม่ลามไฟ
- มีความหนาที่สุด
- หากถุงขาดรั่ว ใยแก้วจะเป็นอันตรายต่อคนที่แพ้
ราคาปานกลาง
ฉนวนอลูมิเนียมฟอยล์
- เบาและบางที่สุด
- สะท้อนรังสียูวีได้ดี
- มีความเหนียว เข้ารูปง่าย
- ไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟ
- ไม่ป้องกันเสียง
- ต้องปูติดใต้หลังคา จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด
ราคาถูกที่สุด
ฉนวนโฟมโพลีเอธิลีน (PE)
- น้ำหนักเบา
- มีความเหนียวและแน่น
- ป้องกันความร้อนได้ดี
- ทนสารเคมีและความชื้น
- ติดไฟง่าย ลามไฟง่าย
- เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายเมื่อถูกเผาไหม้
ราคาถูก
ฉนวนโฟมโพลีสไตรีน (PS)
- น้ำหนักเบามาก
- ทนต่อแรงกดทับ
- ไม่ดูดซับความชื้น
- ติดตั้งร่วมกับวัสดุอื่นได้ เช่น ติดกับฝ้ายิบซัม
- ติดไฟง่าย ลามไฟง่าย
- ดัดงอไม่ได้ จึงแตกหักง่ายเหมือนกล่องโฟม
ราคาถูก
ฉนวนโฟมโพลียูรีเทน (PU)
- มีทั้งฉนวนแผ่นและพ่น
- ยึดเกาะได้กับทุกพื้นผิว
- ป้องกันน้ำและการรั่วซึม
- ป้องกันทั้งความร้อนและความเย็น
- ติดไฟง่าย ลามไฟง่าย
- เปลี่ยนรูปได้เมื่อถูกความร้อนสูง
ราคาสูง
ฉนวนเยื่อกระดาษ
- มีทั้งฉนวนแผ่นและพ่น
- ป้องกันความร้อนได้ดี
- ป้องกันเสียงได้ดี
- เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ไม่ทนต่อน้ำและความชื้น
- มีโอกาสหลุดร่วงและยุบตัว หากควบคุมความหนาแน่นขณะพ่นไม่ดีพอ
ราคาปานกลาง
ตารางข้างต้นเป็นเพียงคุณสมบัติพื้นฐานของฉนวนกันความร้อนหลังคาแต่ละประเภท โดยผู้ผลิตแต่ละราย ยังมีการเพิ่มคุณสมบัติให้ฉนวนมีคุณภาพยิ่งขึ้น เช่น ฉนวนโฟมที่ผสมสารป้องกันการลามไฟ หรือฉนวนโฟมที่ปิดผิวด้วยฉนวนอลูมิเนียมฟอยล์อีกชั้น
ฉนวนกันความร้อน ลดความร้อนใต้หลังคา จึงมีตัวเลือกมากมายในท้องตลาด และมีราคาแตกต่างกันตามคุณภาพของวัสดุและคุณสมบัติที่ใส่เพิ่มเติม
เมื่อทราบข้อมูลทั้งหมดแล้วก็จะพบว่า ฉนวนกันความร้อนหลังคาแต่ละแบบต่างก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน และไม่มีฉนวนกันความร้อนชนิดใดที่ดีที่สุด ในการเลือกใช้เพื่อลดความร้อนใต้หลังคา จึงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งานและงบประมาณมากกว่า และไม่จำกัดด้วยว่าจะต้องใช้ฉนวนเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายวิธีที่ช่วยลดความร้อนในบ้านได้ ลดความร้อนใต้หลังคา เลือกเทคนิคดี ๆ จากบทความในลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า