ภาครัฐดึงเศรษฐีชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม อยู่อาศัยระยะยาวในไทย พร้อมให้สิทธิประโยชน์มากมาย อาทิ วีซ่าระยะยาว 10 ปี ให้สิทธิถือครองที่ดินได้ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
สรุป 2 มาตรการอสังหาฯ เอื้อชาวต่างชาติ
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย มีดังนี้
1. การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa)
การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ซึ่งเป็นการอนุญาตให้คนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการพำนักระยะยาว (Long-term resident visa : LTR Visa) สาระสำคัญมีดังนี้
1) กำหนดประเภทการตรวจลงตรา สำหรับผู้พำนักระยะยาวขึ้นใหม่ (Long-term resident visa : LTR Visa) โดยมีอายุการตรวจลงตรา 10 ปี
2) กำหนดคุณสมบัติของคนต่างด้าว 4 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ รวมถึงผู้ติดตามของคนต่างด้าว (คู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีอายุไม่เกิน 20 ปีจำนวนไม่เกิน 4 คน)
3) กำหนดให้คนต่างด้าวและผู้ติดตามของคนต่างด้าวที่ได้รับเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตาครั้งเดียวในอัตรา 50,000 บาท (จากเดิม 100,000 บาท) และสามารถยื่นคำขอใบอนุญาตทำงานตามกฏหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
ต่างชาติซื้อคอนโด ซื้อบ้านในไทยได้?
คุณรู้หรือไม่ ต่างชาติซื้อคอนโด ซื้อบ้านในไทยได้อย่างไรบ้าง ดูได้ที่นี่
มาตรการดึงต่างชาติ 4 กลุ่ม ซื้อที่ดินในไทย
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการสร้างรายได้ การลงทุน และเพิ่มโอกาสการจ้างงานภายในประเทศ โดยมุ่งเน้นใน 4 กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย
1) กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง
2) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ
3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย
4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
สาระสำคัญในการที่กลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม สามารถครอบครองที่ดินได้มีดังนี้
1) จำนวนเนื้อที่ที่ได้รับสิทธิ ไม่เกิน 1 ไร่ ตามมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง
2) ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
3) ต้องมีจำนวนเงินลงทุนในธุรกิจหรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (เพิ่มขึ้นใหม่จากกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2545)
4) หากถอนการลงทุนในธุรกิจ หรือกิจการก่อนครบกำหนดเวลาการดำรงทุน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถอนการลงทุน
5) ระยะเวลาบังคับใช้กฎหมาย 5 ปี
ประกาศขายที่ดิน
รวมประกาศขายที่ดินในกรุงเทพฯ หลายระดับราคา และหลายทำเล
ทั้งนี้ ร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ได้เพิ่มเติมหลักการในส่วนประเภทการลงทุน และระยะเวลาการดำรงการลงทุน (จาก 5 ปี ลดเหลือ 3 ปี) แตกต่างไปจากกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับร่างกฎหมายฉบับเพิ่มเติมนี้ยังอยู่ในระหว่างการนำกลับไปทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง หลังจากมีหลายฝ่ายกังวลว่าจะเอื้อต่อต่างชาติมากเกินไป จนส่งผลต่อคนไทยในอนาคต

มาตรการดึงต่างชาติส่งผลอย่างไร
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดระยะเวลาดำเนินการมาตรการภายใน 5 ปีงบประมาณ (พ.ศ. 2565-2569) จะช่วยให้
1. เพิ่มจำนวนชาวต่างชาติที่พักอาศัยในไทย 1 ล้านคน
2. เพิ่มปริมาณใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 1 ล้านล้านบาท
3. เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท สร้างรายได้จากการเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท
4. ทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพียงพอให้กับภาคธุรกิจที่รัฐบาลมุ่งส่งเสริมซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ในประเด็นอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต และโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล
สถานการณ์การโอนคอนโดของชาวต่างชาติ
จากรายงานของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า ในไตรมาส 4 ปี 2565 โดยพบว่า หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 3,780 หน่วย เพิ่มขึ้น 82.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
ถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเชิงจำนวนหน่วยนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 และเป็นจำนวนหน่วยที่สูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส นับจากไตรมาส 1 ปี 2562 และยังมีจำนวนหน่วยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยรายไตรมาสในช่วง 2 ปี ที่เกิดโควิด-19 (ปี 2563-2564) ถึง 80.7% ที่มีจำนวน 2,092 หน่วย/ไตรมาส
สำหรับมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติทั่วประเทศมีจำนวน 19,544 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 95.8% YoY ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 2565 และเป็นมูลค่าที่สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส นับจากไตรมาส 1 ปี 2561 และยังเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ฯ ในช่วง 2 ปี ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีมูลค่าเพียงไตรมาสละ 9,979 ล้านบาท/ไตรมาส
สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติในไตรมาส 4 ปี 2565 มีสัดส่วนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ 11.5% โดยเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนเพียงเล็กน้อย ซึ่งมีสัดส่วน 7.7% ขณะที่มูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติ มีสัดส่วน 21.1% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนมากพอควร ซึ่งมีสัดส่วน 13.8%
สัญชาติที่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด
ในปี 2565 จะพบว่า ชาวจีน เป็นสัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุดทั่วประเทศมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีนไปแล้วทั้งหมด 5,707 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 49.4% ของหน่วยทั้งหมด โดยมี 4 สัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์อันดับรองลงมา ได้แก่ รัสเซีย จำนวน 813 หน่วย (สัดส่วน 7%), สหรัฐอเมริกา จำนวน 542 หน่วย (สัดส่วน 4.7%), สหราชอาณาจักร จำนวน 393 หน่วย (สัดส่วน 3.4%) และ ฝรั่งเศส จำนวน 351 หน่วย (สัดส่วน 3%)
หากพิจารณาในปี 2565 จะพบว่าตั้งแต่ ปี 2561 ถึง ปี 2564 ที่มีจำนวนหน่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และเยอรมัน ตามลำดับ แต่ในปี 2565 กลับพบว่า หน่วยสะสมสูงสุด 5 อันดับแรกเปลี่ยนแปลงดังนี้ จีน, รัสเซีย, สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า 3 อันดับแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลง
สัญชาติที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด
ในส่วนของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศให้คนต่างชาติทั่วประเทศในปี 2565 จะพบว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวจีน เป็นมูลค่าสูงสุด จำนวน 29,038 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 49% ของมูลค่าทั้งหมด ส่วน 4 สัญชาติที่มีมูลค่าการโอนรองลงมาคือ รัสเซีย จำนวน 2,682 ล้านบาท (สัดส่วน 4.5%), พม่า จำนวน 2,551 ล้านบาท (สัดส่วน 4.3%), สหรัฐอเมริกา จำนวน 2,389 ล้านบาท (สัดส่วน 4%) และฝรั่งเศส จำนวน 1,912 ล้านบาท (สัดส่วน 3.2%)
เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวพม่า มีมูลค่ารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดสะสมปี 2565 ติดลำดับ 1 ใน 5 นับตั้งแต่ไตรมาสก่อนหน้า
จากข้อมูลที่พบในปี 2565 มีข้อสังเกตว่า ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดชาวจีนมีจำนวน 5,707 คน คิดเป็น 49.4% และมีมูลค่า 29,038 ล้านบาท คิดเป็น 49.0% ของชาวต่างชาติที่โอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของผู้ซื้อชาวจีนได้ปรับลดลงเหลือประมาณ 50% จากที่ในปีช่วงก่อนหน้าอยู่ที่ประมาณ 55%-60% ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจาการดำเนินนโยบาย Zero-COVID ในประเทศจีน ทำให้การเดินทางของชาวจีนมีข้อจำกัดในช่วงที่ผ่านมา
แต่ได้พบว่า กลุ่มผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ในกลุ่มประเทศรัสเซีย, ยุโรป และสหรัฐอเมริกาเริ่มมีสัดส่วนที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน และเป็นที่น่าสนใจอย่างมากอีกเช่นกันที่ได้เห็นตัวเลขของหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนที่แม้ว่าจะมีจำนวนหน่วยและมูลค่าการซื้อไม่มากนัก แต่กลับมีสัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดปรับเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ เช่น เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม รวมถึงชาวมาเลเซียที่มีการเข้ามาซื้อห้องชุดไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
อาจกล่าวได้ว่าเป็นอานิสงค์ที่ได้รับจากการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ มากขึ้น
ชาวต่างชาติ สนใจคอนโดในกรุงเทพฯ มากที่สุด
ในปี 2565 จะพบว่าจังหวัดที่มีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ, ชลบุรี, สมุทรปราการ, ภูเก็ต และเชียงใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ใน 2 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพฯ มีจำนวน 5,260 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 45.5% และชลบุรี จำนวน 3,567 หน่วย (สัดส่วน 30.9%) โดยทั้ง 2 จังหวัด มีสัดส่วนจำนวนหน่วยรวมกันสูงถึง 76.4% ของทั่วประเทศ
ประกาศขายคอนโด
รวมประกาศขายคอนโดในกรุงเทพฯ หลายราคาและระดับราคา
เปิดช่องต่างชาติซื้อที่ดินในไทย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทางศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ยังให้ความเห็นว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเรื่องการเปิดให้สามารถซื้อบ้านพร้อมที่ดินหรือซื้อที่ดินเพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างชาตินั้น
ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนหนึ่ง ที่จะดึงดูดคนต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการสร้างให้เกิดอุปสงค์ใหม่ ๆ ที่มีกำลังซื้อสูงในประเทศเพื่อเข้ามาอยู่อาศัยในระยะยาว และจับจ่ายใช้สอยในสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศไทยเปิดให้คนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ โดยพบว่า ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีการโอนกรรมสิทธิ์ปีละมากกว่า 10,000 หน่วย มูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาท หรือประมาณ 5% ของการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ
แต่หากเปิดให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านพร้อมที่ดินได้ คาดว่าก็น่าจะทำให้เกิดมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มสูงสุดได้อีกประมาณ 50,000 หน่วย มูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะทำให้สัดส่วนของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่ซื้อโดยคนต่างชาติเพิ่มจาก 5% เป็น 15% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งประเทศ
ข้อกังวลในการเปิดช่องให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดิในไทย
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการนโยบายนี้ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า รัฐบาลจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านและที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยระยะยาวในประเทศไทยในช่วงกี่ปี อาจไม่ต้องเปิดนโยบายนี้ตลอดไป
รวมทั้งยังควรกำหนดให้ชัดเจนว่าเป็นที่อยู่อาศัยระดับราคาใด เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อที่ดินและที่อยู่อาศัยในระดับราคาที่อยู่ในกำลังซื้อของคนไทยส่วนใหญ่ เช่น รัฐบาลอาจไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อบ้านและที่ดินในระดับราคาไม่เกิน 10 – 15 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่
นอกจากนี้ ควรกำหนดระยะเวลาในการถือครองกรรมสิทธิ์ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการเก็งกำไร เช่น ไม่น้อยกว่า 3 – 5 ปี ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดการเก็งกำไรในที่ดินและราคาที่อยู่อาศัย และยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ได้ รวมถึงควรมีการกำหนดภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องสำหรับผู้ที่ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เป็นคนต่างชาติในอัตราที่แตกต่างจากคนไทย และการกำหนดเรื่องกฎเกณฑ์การขายบ้านและที่ดินเมื่อชาวต่างชาติต้องการขายต่อเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่งแล้วให้ชัดเจน
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า