ค้างค่าไฟได้กี่เดือน/ค้างค่าน้ำประปาได้กี่เดือน 2566 จาก กฟน. และ กปน.

DDproperty Editorial Team
ค้างค่าไฟได้กี่เดือน/ค้างค่าน้ำประปาได้กี่เดือน 2566 จาก กฟน. และ กปน.
ในกรณีปกติ หากเจ้าของบ้านไม่จ่ายค่าไฟ หรือค่าน้ำตามระยะเวลาที่กำหนด สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือการงดจ่ายน้ำ และงดจ่ายไฟฟ้า หรือที่เรียกกันง่าย ๆ "ตัดน้ำ-ตัดไฟ" นั่นเอง หากคุณถูกตัดน้ำ-ตัดไฟแล้วควรทำอย่างไร ลองมาดูขั้นตอน และค่าใช้จ่าย หากถูกตัดน้ำ-ตัดไฟ ได้ที่นี่
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ

ทำอย่างไรเมื่อโดนตัดน้ำ

จากข้อมูลโดยการประปานครหลวง (กปน.) เมื่อมีการใช้น้ำไปแต่มีการค้างชำระเป็นเวลา 2 เดือน กปน.จะระงับการใช้น้ำ โดย กปน. จะปฏิบัติตาม ระเบียบการประปานครหลวง ฉบับที่ 180 ว่าด้วย การระงับการใช้น้ำชั่วคราวและถาวร กรณีค้างชำระค่าน้ำประปา โดยจะปิดประตูน้ำหน้ามาตรวัดน้ำ ผูกลวดล็อกมิเตอร์
ทั้งนี้ จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน โดยจะจดบันทึกรายละเอียดลงในใบแจ้งระงับการใช้น้ำ และส่งมอบให้ผู้ใช้น้ำทุกครั้ง หากไม่พบผู้ใช้น้ำ จะใช้วิธีปิดประกาศ หรือใส่ตู้รับจดหมายตามความเหมาะสม แล้วแต่กรณี
ถูกตัดน้ำนานเกินไปต้องดำเนินการเหมือนขอติดตั้งใหม่

1. การงดจ่ายน้ำชั่วคราว

เป็นการงดจ่ายน้ำขั้นแรก โดยการปิดประตูน้ำหน้ามาตรวัดน้ำ ผูกลวด นัดชำระเงิน หรือแจ้งให้ทราบโดยวิธีอื่น หากมีการชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดภายใน 15 วันนับจากวันที่งดจ่ายน้ำ ให้ชำระค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนเงิน 100 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

2. การงดจ่ายน้ำถาวร

กำหนดค่าธรรมเนียมเป็น 3 อัตรา ดังนี้
กรณีรายละเอียด
กรณีที่มีการชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมด เกินกว่า 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่งดจ่ายน้ำชั่วคราวให้ชำระค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนเงิน 10% ของค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายในการติดตั้งประปาใหม่ ตามขนาดมาตรวัดน้ำ
กรณีที่มีการชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมด เกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 180 วันนับจากวันที่งดจ่ายน้ำชั่วคราวให้ชำระค่าธรรมเนียมเป็นจำนวนเงิน 20% ของค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายในการติดตั้งประปาใหม่ ตามขนาดมาตรวัดน้ำ
กรณีที่มีการชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมด เกินกว่า 180 วันนับจากวันที่งดจ่ายน้ำชั่วคราวให้ชำระค่าธรรมเนียมเท่ากับเท่ากับค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายในการติดตั้งประปาใหม่ ตามขนาดมาตรวัดน้ำ
หมายเหตุ: อัตราค่าธรรมเนียมการยกเลิกการงดจ่ายน้ำไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม กปน. ยังคงดำเนินตามมาตรการ ยกเว้นการตัดน้ำ ทั้งมาตรชั่วคราวและมาตรถาวร งดการผูกลวด และงดการถอดมิเตอร์น้ำ สำหรับผู้ใช้น้ำ ที่ไม่ชำระค่าน้ำตามกำหนด ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและแบ่งเบาภาระประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ด้วย

ทำอย่างไรเมื่อโดนตัดไฟ

เหตุผลในการงดจ่ายไฟฟ้า
1. ไม่ชำระค่าไฟฟ้า หรือไม่ชำระหนี้สินอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ไฟฟ้าตามกำหนด
2. ไม่วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าเพิ่มให้ครบถ้วนตามที่การไฟฟ้านครหลวงกำหนด
3. ขาย หรือต่อโยงไฟฟ้า
4. ไม่ดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในให้มีความปลอดภัยเพียงพอและการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้เตือนเป็นหนังสือแล้ว
5. มีการกระทำโดยมิชอบเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า
6. ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ก่อให้เกิดคลื่นรบกวนผู้ใช้ไฟฟ้าบริเวณข้างเคียง
7. ใช้ไฟฟ้าอันก่อให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ
8. ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ พ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการไฟฟ้านครหลวงว่าด้วยการใช้ไฟฟ้าและบริการ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2538
ถูกตัดไฟเกิน 1 ปี ต้องดำเนินการเหมือนขอติดตั้งใหม่
หากไม่ชำระค่าไฟฟ้าตามกำหนด เมื่อถูกงดจ่ายไฟฟ้า หรือถูกตัดไฟ ผู้ใช้มีสิทธิ์ขอต่อกลับภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) งดจ่ายไฟฟ้า โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาดังนี้

1. กรณีขอต่อกลับภายใน 6 เดือน

ผู้ขอต่อกลับจะต้อง
– ชำระค่าต่อกลับ
– วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้าใหม่ หากผู้ขอต่อกลับไม่เคยวางหลักประกัน การใช้ไฟฟ้ามาก่อน
– ชำระค่าตรวจสอบอุปกรณ์ภายใน กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง
– ชำระค่าอุปกรณ์ระบบจำหน่ายไฟฟ้า ตามค่าใช้จ่ายจริง ในกรณีที่ กฟน. ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง อุปกรณ์ระบบจ่ายไฟฟ้าอันเนื่องมาจากการใช้ไฟฟ้าของผู้ต่อกลับ
– กรณีที่ถูกตัดไฟเนื่องจากค้างชำระค่าไฟฟ้าหรือไม่ได้วางหลักประกันการใช้ไฟฟ้า กฟน. จะต่อกลับไฟฟ้าให้ได้ภายใน 1 วันทำการ

2. กรณีขอต่อกลับ 6 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี

ผู้ขอต่อกลับจะต้องดำเนินการดังเช่นข้างต้น แต่จะมีเพิ่มเติมในส่วนของค่าตรวจอุปกรณ์ไฟฟ้าภายใน ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในหรือไม่ก็ตาม

3. หากงดจ่ายไฟฟ้าเกินกว่า 1 ปี

จะขอต่อกลับไม่ได้ หากต้องการใช้ไฟฟ้าอีกต้องยื่นเรื่องเหมือนขอใช้ไฟฟ้าใหม่

อยู่คอนโดค้างจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ จะถูกตัดน้ำ-ตัดไฟหรือไม่

สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโด หากค้างค่าไฟ ทางการไฟฟ้าย่อมมีสิทธิที่จะตัดไฟได้ตามสัญญาที่ให้บริการของการไฟฟ้าอยู่แล้ว เพราะมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นของเจ้าของคอนโดแต่ละราย ส่วนในกรณีน้ำประปา การประปาไม่สามารถไปตัดน้ำแต่ละรายได้ เนื่องจากการประปาขายน้ำให้นิติบุคคคล และนิติบุคคลส่งต่อไปให้ห้องชุดแต่ละห้องอีกทีหนึ่ง

ไม่จ่ายค่าส่วนกลางตัดน้ำ-ตัดไฟได้หรือไม่

ส่วนอีกหนึ่งกรณีคือ ถ้าผู้อยู่อาศัยคอนโดหรือหมู่บ้านจัดสรรไม่จ่ายค่าส่วนกลาง นิติบุคคลสามารถตัดน้ำ-ตัดไฟ หรืองดให้ใช้พื้นที่ส่วนกลางได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ได้ เพราะวิธีการดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินส่วนกลางของเจ้าของห้องหรือเจ้าของบ้าน หากผู้อยู่อาศัยไม่จ่ายค่าส่วนกลาง นิติบุคคลต้องฟ้องร้องเอาเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงจากความยุ่งยากต่าง ๆ ทางที่ดี เราควรรักษาวินัยโดยการจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ตามเวลาที่กำหนด
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

ค้างค่าน้ำ ค้างค่าไฟ ทำอย่างไร

เมื่อมีการใช้น้ำแต่มีการค้างชำระเป็นเวลา 2 เดือน ทางการประปาจะระงับการใช้น้ำชั่วคราว โดยจะปิดประตูน้ำหน้ามาตรวัดน้ำ ผูกลวดล็อกมิเตอร์ โดยจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน

การจ่ายค่าไฟจะต้องจ่ายค่าไฟไม่น้อยกว่า 15 วันนับตั้งแต่วันลงใบแจ้งหนี้ หากผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระตามกำหนด ผู้ให้บริการต้องส่งหนังสือเตือน และผู้ใช้ไฟฟ้าต้องชำระค่าไฟไม่น้อยกว่า 5 วันนับจากวันที่ครบกำหนดชำระ กรณีผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ชำระค่าไฟ ผู้ให้บริการไฟฟ้ามีสิทธิงดจ่ายไฟได้

เมื่อผู้ใช้ไฟฟ้าค้างค่าไฟ แล้วโดนตัดไฟ รวมทั้งปลดมิเตอร์ไฟฟ้า ผูใช้บริการจะต้องชำระเงินที่ค้างอยู่ทั้งหมด บวกค่าปรับการตัด-ต่อกลับมิเตอร์อีก 107 บาท