วิถีคนอยากมีบ้าน: ทำอย่างไรดี เมื่อฟรีแลนซ์อยากเริ่มต้นซื้อบ้านหลังแรก

DDproperty Editorial Team
วิถีคนอยากมีบ้าน: ทำอย่างไรดี เมื่อฟรีแลนซ์อยากเริ่มต้นซื้อบ้านหลังแรก

จากเรื่องราวของ ‘อัศนัย’ คงได้เห็นกันแล้วว่าชีวิตของฟรีแลนซ์นั้นไม่ง่ายเลยสำหรับการฝันว่าจะมีบ้านสักหลัง คำถามที่มักได้ยินกันบ่อยๆ จากผู้ที่ทำงานฟรีแลนซ์คือ ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีเงินในบัญชี ไม่มีหลักฐานการเสียภาษี จะกู้บ้านผ่านไหม คำตอบง่ายๆ คือ ถ้าไม่มีอะไรเลย ก็เตรียมรับการปฏิเสธจากธนาคารได้เลย เพราะสิ่งที่ธนาคารจะพิจารณาคือความมั่นคงของรายได้ ดังนั้นฟรีแลนซ์ทั้งหลายจึงต้องใช้ทั้งวินัยและเวลาในการทำสิ่งเหล่านี้ให้ได้

1. บอกให้ได้ว่าตนเองทำงานอะไร

สิ่งแรกที่ต้องแสดงให้ธนาคารรู้คือเราทำงานอะไร โดยอาจจะมีเอกสารที่แสดงให้เห็นว่าเราทำงานนั้นๆ ได้แก่
– สัญญาว่าจ้าง ไม่ว่าจะเป็นสัญญาว่าจ้างเป็นชิ้นงาน หรือเป็นสัญญาว่าจ้างระยะยาว
ยื่นขอเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ถือเป็นหลักฐานชั้นดีที่จะช่วยยืนยันว่าเป็นผู้มีรายได้จริงๆ มีรายได้มาจากอะไร จำนวนเงินเท่าไร ซึ่งธนาคารสามารถนำมาคำนวณเป็นรายได้ต่อเดือนได้
– หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เหมือนเป็นใบเสร็จที่ได้รับจากบริษัทที่เราทำงานให้ โดยในหนังสือรับรองดังกล่าวจะมีรายละเอียดที่แสดงว่าได้รับเงินจากบริษัทไหน เป็นจำนวนเงินเท่าไร ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเท่าไร และเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทไหน
– การจดทะเบียนพาณิชย์หรือทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะเหมือนกับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของกิจการ เมื่อจดทะเบียนแล้ว อาชีพที่ทำอยู่จะเป็นที่รับรู้และถูกรับรองตามกฎหมายทันที รายรับ-รายจ่ายแต่ละเดือนจะมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ แต่ก็ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มด้วยซึ่งก่อนทำต้องชั่งใจคิดให้ดีว่าคุ้มค่าหรือไม่

2. นำเงินเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ

ฟรีแลนซ์บางคนมีเงินเป็นกอบเป็นกำมากกว่าคนทำงานประจำ แต่กลับขอสินเชื่อไม่ผ่าน เพราะมาตกม้าตายตรงที่ไม่ได้นำเงินเข้าบัญชี ซึ่งปัญหานี้มักเกิดกับฟรีแลนซ์ที่รับเป็นเงินสด การนำเงินเข้าระบบบัญชีจะช่วยสร้างข้อมูลที่จับต้องได้ให้ธนาคารตรวจสอบ
ระยะเวลาการเดินบัญชีที่เหมาะสมคือประมาณ 1 ปี โดยต้องมียอดเงินเข้าออกในบัญชีแต่ละเดือนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมีเงินเหลือในบัญชีเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าใช้จนหมดไม่มีเหลือเลยในแต่ละเดือน หากมีเงินมากก็สร้างเครดิตได้ดี ยิ่งมีมากกว่าจำนวนเงินที่ขอกู้ยิ่งได้รับการอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น
นอกจากเหตุผลทางความสวยงามของบัญชีแล้ว ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อให้คุณ ถ้าอยากรู้ต้องลองคลิกดู
Coins, calculator and pen on bank account book

3. เคลียร์หนี้ให้เรียบร้อยก่อนขอสินเชื่อ

ข้อนี้ต้องเริ่มสร้างวินัยทางการเงินก่อนเริ่มขอสินเชื่อตั้งแต่เนิ่นๆ ข้อสำคัญคือมีห้ามมีประวัติหนี้เสียหรือหนี้คงค้างเด็ดขาด หากมีอะไรที่กำลังผ่อนติดผันอยู่ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือโทรศัพท์มือถือก็ต้องจ่ายให้ตรงเวลา ทางที่ดีไม่ควรผ่อนอะไรเลยในช่วงที่ขอสินเชื่อเพราะธนาคารจะคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือน ทำให้วงเงินที่จะกู้ได้น้อยลง สำหรับผู้ที่ชอบใช้จ่ายเป็นเงินสดแนะนำให้หาบัตรเครดิตติดไว้สักหนึ่งใบ เพื่อสร้างประวัติทางการเงิน แต่แน่นอนว่าไม่ควรใช้จนเลยเถิด และจ่ายให้ตรงเวลาทุกรอบบิล นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการค้ำประกันให้กับคนอื่นในช่วงการขอสินเชื่อ

4. หาคนมากู้ร่วม

เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด โดยเลือกผู้ร่วมกู้ที่มีรายได้แน่นอน หรือทำงานอยู่ในระบบบริษัท จะทำให้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อง่ายขึ้น รวมทั้งยอดสินเชื่อจะถูกประเมินจากรายได้ของ 2 คนรวมกัน ยิ่งทำให้ได้จำนวนวงเงินสูงกว่าขอสินเชื่อเพียงคนเดียวด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ฟรีแลนซ์ควรคำนึงถึงอีกข้อหนึ่งคือ “การทำรังอย่างพอตัว” โดยเลือกซื้อที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตามให้พอเหมาะกับกำลังของตนเอง เพราะใช่ว่าธนาคารจะให้สินเชื่อเต็มราคาบ้าน ด้วยงานและเงินที่ไม่แน่นอนจึงต้องคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนแต่ละเดือนด้วยจะได้ไม่ต้องเดือดร้อนวิ่งหยิบยืม หรือโดนยึดบ้านไปในภายหลัง
Happy romantic couple in love gesturing a heart with fingers
อยากรู้ไหมว่าในแต่ละเดือนจะต้องเสียเงินค่าผ่อนบ้านเท่าไหร่ คำนวณการผ่อนชำระด้วยตนเองได้ที่นี่
ทัั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการเตรียมความพร้อมก่อนออกสตาร์ทสำหรับคนที่อยากมีบ้านสักหลัง โดยทำอาชีพอิสระหรือเป็นฟรีแลนซ์เหมือนอัศนัย อย่าเพิ่งกังวลไป หากศึกษาข้อแนะนำก่อนซื้อบ้านหลังแรก รวมถึง อัพเดทอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน กู้ซื้อบ้านอยู่สม่ำเสมอ ยังไงก็มีชัยไปกว่าครึ่ง
สามารถดาวน์โหลด DDproperty Property Index Q3 2017 รายงานที่รวบรวม ข้อมูลที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ และนำมาวิเคราะห์แบบเจาะลึกที่จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อบ้านหลังแรกสำหรับผู้ที่อยากมีบ้าน
อ่านบทความอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อบ้าน คู่มือซื้อขาย สามารถเป็นตัวช่วยตอบได้ทุกคำถาม พร้อมบอกรายละเอียดการคำนวณสินเชื่อบ้านให้คุณตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น