แม้ว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2563 จะชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลต่อกำลังซื้อที่ลดลง แต่เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็น 1 ในปัจจัยสี่ที่สำคัญ จึงยังมีเรียลดีมานด์หรือความต้องการที่แท้จริงอยู่อย่างต่อเนื่อง
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า ทำเลยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยหรือลงทุนนำพิจารณาอันดับต้น ๆ โดยผู้บริโภคค้นหาบ้านในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ มากที่สุด
10 ทำเล กรุงเทพฯ ติดอันดับคนซื้อบ้านค้นหาสูงสุด
สอดคล้องกับการค้นหาที่อยู่อาศัยบนเว็บไซต์ DDproperty.com ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 โดยพบว่า 10 ทำเลในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับการค้นหาในช่วงไตรมาส 2 ของปีเดียวกัน (QoQ) มีดังนี้
อันดับ 1 ค้นหาบ้านในมีนบุรี เพิ่มขึ้น 53%
อันดับ 2 ค้นหาบ้านในหนองแขม เพิ่มขึ้น 43%
อันดับ 3 ค้นหาบ้านในบางกอกใหญ่ เพิ่มขึ้น 42%
อันดับ 4 ค้นหาบ้านในบางแค เพิ่มขึ้น 29%
อันดับ 5 ค้นหาบ้านในภาษีเจริญ เพิ่มขึ้น 28%
อันดับ 6 ค้นหาบ้านในคลองสามวา เพิ่มขึ้น 17%
อันดับ 7 ค้นหาบ้านในสายไหม เพิ่มขึ้น 17%
อันดับ 8 ค้นหาบ้านในหนองจอก เพิ่มขึ้น 14%
อันดับ 9 ค้นหาบ้านในสะพานสูง เพิ่มขึ้น 13%
อันดับ 10 ค้นหาบ้านในลาดกระบัง เพิ่มขึ้น 7%
จะเห็นได้ว่าทำเลที่มีความสนใจเพิ่มมากขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่รอบนอกศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ และพื้นที่ชานเมือง ส่วนหนึ่งมาจากอานิสงส์ของโครงข่ายรถไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคต อาทิ เขตมีนบุรี มีรถไฟฟ้าพาดผ่านถึง 2 สาย ได้แก่ สายสีชมพู (แคราย-รามอินทรา-มีนบุรี) และสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) ที่เชื่อมโยงการเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เปลี่ยนภาพทำเลชานเมืองกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกให้พัฒนาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยใกล้เมืองมากยิ่งขึ้น กลายเป็นทำเลดาวรุ่งพุ่งแรงที่น่าจับตา
ยอดค้นหาที่อยู่อาศัย 1-3 ล้านบาท เพิ่มสูงสุด
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบระดับราคาที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ในไตรมาส 3 ปี 2563 พบว่า ระดับราคา 1-3 ล้านบาท ได้รับความสนใจสูงสุด โดยเพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ระดับราคา 3-5 ล้านบาท ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น 2% และระดับราคา 5-10 ล้านบาท ได้รับความสนใจคงที่จากไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ผู้บริโภคให้ความสนใจลดลง 1% และระดับราคาน้อยกว่า 1 ล้านบาท ลดลง 2% ตามลำดับ
ทั้งนี้ การที่ที่อยู่อาศัยระดับราคา 1-3 ล้านบาท ได้รับความสนใจสูงสุด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ด้วยการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2562-24 ธันวาคม 2563
ขณะเดียวกันสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อัตราดอกเบี้ยคงที่ ด้านผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ก็งัดโปรโมชั่นกระตุ้นกำลังซื้อ จึงถือเป็นโอกาสของผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยที่คุ้มค่าในระดับราคาที่เอื้อมถึงในช่วงนี้
พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน เบนเข็มสนใจแนวราบ
ที่อยู่อาศัยแนวราบได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากกว่าแนวสูง สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งการใช้ชีวิตและการเลือกที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน ต้องการที่อยู่อาศัยที่สามารถรองรับความต้องการการใช้พื้นที่ทำงานอยู่ที่บ้าน รวมถึงใช้พื้นที่ทำกิจกรรมส่วนตัว และกิจกรรมร่วมกับครอบครัว
นอกจากนี้การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมอย่างรถไฟฟ้าในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในทำเลใจกลางเมืองเท่านั้น ทำให้การเดินทางเชื่อมต่อเข้า-ออกเมืองเป็นเรื่องง่ายและสะดวกรวดเร็ว ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ที่อยู่อาศัยแนวราบ พื้นชานเมืองได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น
ทำเลยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยหรือลงทุนนำพิจารณาอันดับต้น ๆ โดยผู้บริโภคค้นหาบ้านในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ มากที่สุดถึง 46%
อย่างไรก็ดี การจะเลือกซื้อบ้านหรือลงหลักปักฐาน ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการเลือกทำเลที่มีศักยภาพ เดินทางได้หลากหลายเส้นทาง รายล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก และมีแนวโน้มเติบโตเพื่อรองรับความเจริญรอบด้านที่จะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า