ปลายเดือนเมษายน ประเทศไทยนอกจากจะเข้าสู่ช่วงพีคสุด ๆ ของหน้าร้อนแล้ว ปีนี้อากาศที่ร้อนระอุ ยังมาคู่กับการระบาดรอบใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นอีกครั้งที่พวกเราต้องเคร่งครัดกับการปฏิบัติตัวภายใต้ “วิถีชีวิตใหม่” หรือ New Normal
1 ปีที่ผ่านมาในวงการนักอนุรักษ์มักจะหยิบยกเรื่องของวิถีชีวิตใหม่ และเส้นทางของการทำงานอนุรักษ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเมือง ไม่มีใครปฏิเสธว่าเมืองเป็นต้นทางของการสร้างมลภาวะต่าง ๆ อาทิ ขยะ น้ำเสีย อากาศเป็นพิษ
โดยก่อนที่เราจะตกอยู่ในวังวนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 บ้านเราถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีความเคลื่อนไหวในเมืองใหญ่ ๆ ที่จะขับเคลื่อนแนวทางการเติบโตของเมืองคู่ขนานไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหาที่สะสมมานาน อย่างเช่น ปัญหาขยะพลาสติก
แต่แล้ว วิถีชีวิตใหม่ที่เราต้อง “ใส่ใจ” เรื่องความสะอาด และสุขอนามัยอย่างยิ่งยวด ทำให้เราพบภาพของ “อุปกรณ์เสริม” ที่ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรามีความมั่นใจในความสะอาดเพิ่มขึ้นมากมาย ไม่เพียงแต่ในร้านอาหารต่าง ๆ เท่านั้น กระทั่งสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของเราเอง ยังมีตัวช่วยมากมายที่เป็นที่พึ่งทางใจให้เราได้ว่าสิ่งที่เรากำลังจะหยิบจับใช้สอยนั้น สะอาดปลอดภัย
พลาสติกชนิดต่าง ๆ มากมายเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น แก้วน้ำส่วนตัวที่เราเคยพกไปทุกที่ก็ถูกปฏิเสธ ช้อนส้อมตามร้านอาหารก็ถูกห่อด้วยพลาสติกอย่างมิดชิด ภาชนะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งพบเห็นได้บ่อยพอ ๆ กับถุงพลาสติก Single use ที่ทุกคนคงลืมไปแล้วว่าประเทศไทยเคยประสบความสำเร็จในการรณรงค์อย่างน่าภาคภูมิใจเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
คำถามที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนทำงานสิ่งแวดล้อมอย่างพวกเราเสมอ คือ เราจะมองหาสมดุลย์จากวิถีชีวิตใหม่ที่สร้างขยะที่ถือว่าจำเป็นไปเสียแล้ว กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร? ดิฉันมีโอกาสได้พูดคุยกับ เจ้าหน้าที่ของโครงการเมืองปลอดมลภาวะขยะพลาสติก ของ WWF ประเทศไทยในประเด็นนี้ ซึ่งได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจ
“เราคงลดการใช้ได้ยากในยุคนี้ แต่สิ่งที่คนทำงานเรื่องขยะพลาสติกพูดกันมาตลอดตั้งแต่ก่อนจะเกิดโควิดระบาด คือเรื่องของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy คือการนำขยะกลับมาใช้และสร้างประโยชน์จากมันใหม่”
แต่เรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียนในวันนี้ยังดูไกลจากผู้บริโภคอย่างเรา ๆ และเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนขนาดใหญ่และภาครัฐกำลังทำงานกันอย่างเข้มข้น คำถามคือ หากผู้บริโภคตัวเล็ก ๆ อย่างเราอยากจะรักษาสิ่งแวดล้อมในยุคที่เราต้องใช้พลาสติกกันอย่างหนัก เราจะทำได้อย่างไร
“ผมมองว่าในระดับครัวเรือน เราแค่ตั้งเป้าว่าขยะที่เราสร้างขึ้นในแต่ละวัน ถ้าเราลดการใช้ไม่ได้ แต่เราสามารถลดการพามันไปสู่ landfill หรือกองขยะฝังกลบจะทำได้ง่ายกว่าไหม” อิทธิภัทร วัฒนเธียร เจ้าหน้าที่โครงการของ WWF ให้ความเห็น
ขยะรายวันของกรุงเทพมหานครจำนวน 10,700 กว่าตัน มีเพียง 180 ตันเท่านั้นที่ถูกนำกลับเข้าไปสู่กระบวนการรีไซเคิล ที่เหลืออีกกว่าหมื่นตันถูกนำไปฝังกลบยังที่ต่าง ๆ และเราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการฝังกลบไม่ใช่ทางเลือกที่ดี แต่เป็นทางเลือกเดียวในการกำจัดขยะปริมาณมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว
“แยกขยะกันดีกว่าไหมครับ ทำได้ง่ายด้วย” ฟังแล้วดูจะมีความหวัง จริง ๆ แล้วเรื่องของการแยกขยะก็เป็นส่วนหนึ่งที่แต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวจะช่วยกันเพื่อทำให้สิ่งแวดล้อมเราดีขึ้นได้ อาจไม่ใช่ทางตรง แต่ขยะที่ถูกคัดแยกก็จะสามารถทำให้รถขนขยะ เลือกและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น หรือหากบ้านไหนเก็บขยะที่แยกได้ในปริมาณมากพอสมควรก็ยังสามารถนำไปขายตามร้านขายของเก่าได้ มีเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการขายขยะไว้หยอดกระปุกอีกด้วย
เริ่มจากทำความรู้จักกับการแยกขยะง่าย ๆ 4 ประเภท ขยะอินทรีย์ ขยะที่เป็นพิษ ขยะที่รีไซเคิลได้ และขยะทั่วไป
- เศษอาหารที่เหลือจากการรับประทาน คือ ขยะอินทรีย์ที่สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักได้ ทั้งนี้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมระบุว่าขยะอินทรีย์คิดเป็นปริมาณถึง 64% ของขยะในชีวิตประจำวันซึ่งไม่ได้ถูกแยกและกำจัดอย่างถูกวิธี โดยขยะอินทรีย์นี่แหละ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการคัดแยกขยะ ทำให้ขยะรีไซเคิลจำนวนมากต้องไปจบลงที่ landfill หากไม่ได้มีการแยกตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้นหากแต่ละบ้านช่วย ๆ กันนำขยะอินทรีย์ไปแปลงร่างเป็นปุ๋ยหมัก หรือน้ำหมักชีวภาพได้ก็จะช่วยลดปริมาณขยะในแต่ละวันลงได้มากทีเดียว
- ขยะที่เป็นพิษ ส่วนนี้จะต้องแยกอย่างถูกต้องและนำไปทิ้งให้ถูกที่ ขยะจำพวกนี้ได้แก่ ถ่านไฟฉายเก่า แบตเตอรี่ หลอดไฟ หรือกระป๋องสเปรย์ต่าง ๆ ทางสำนักสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครได้จัดวางถังขยะสีแดง สำหรับขยะประเภทนี้ตามหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า อาทิ Tesco Lotus, The Mall, Macro สำนักงานเขต 50 เขต รวมทั้งร้านสะดวกซื้อในปั้มน้ำมัน 102 สาขา
- ขยะรีไซเคิล ทั้งพลาสติก ลังกระดาษ ขวดแก้ว และถุงพลาสติกชนิด Single Use ที่วันนี้ก็มีหลายหน่วยงานที่เริ่มรับขยะเหล่านี้ อาทิ โครงการวน โครงการ Precious Plastic หรือจะแยกไว้สำหรับไปขายที่ร้านขายของเก่าก็ทำได้เช่นกัน หรือหากแยกแล้วไม่รู้จะส่งไปที่ไหน ก็รวบรวมให้กับพนักงานเก็บขนขยะ เป็นรายได้เสริมให้กับพวกเขาก็ได้นะ รักษ์โลกแล้วยังได้บุญอีกด้วย
- ท้ายที่สุด คือ ขยะทั่วไปที่รถเก็บขยะจะมารับจากหน้าบ้านของเราไป ซึ่งถ้าหากเราได้แยกขยะตามด้านบนแล้ว มั่นใจเหลือเกินว่าขยะส่วนสุดท้ายนี้จะเหลือน้อยลงไปโดยอัตโนมัติ
“ปัจจุบันนี้ WWF ทำโครงการลดขยะพลาสติกในเมืองร่วมกับเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี และโครงการวน ที่รับพลาสติกกลับเข้าไปสู่กระบวนการรีไซเคิลและผลิตเป็นเม็ดพลาสติกใหม่ ส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักการแยกขยะ และเข้าใจว่าขยะไม่ใช่สิ่งที่ไม่มีค่า ซึ่งเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีประสบความสำเร็จอย่างมากในการชวนครัวเรือนต่าง ๆ มาคัดแยกขยะ แล้วก็นำมาแลกเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคกลับไปใช้ ตรงนี้ลดขยะที่ต้องจัดการฝังกลบลงไปได้มาก และสร้างการมีส่วนร่วมกับครัวเรือนได้มากเช่นกันครับ” อิทธิภัทร กล่าว
เราไม่ปฏิเสธวิถีชีวิตใหม่ที่ต้องใส่ใจเรื่องสุขอนามัยอย่างจริงจังมากขึ้น แต่เราก็ยังคงเป็นอนุรักษ์ได้จากกิจกรรมง่าย ๆ ที่ทุกบ้านเริ่มต้นทำได้ อย่างลืมคัดแยกขยะทุกครั้งก่อนทิ้ง เมื่อเราช่วยโลกแล้ว โลกก็จะมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ๆ มาอยู่คู่กับเราค่ะ
บทความโดย คุณดวงกมล วงศ์วรจรรย์ ผู้บริหารฝ่ายสื่อสารองค์กร WWF ประเทศไทย ท่านสามารถศึกษาข้อมูลของโครงการอนุรักษ์ต่างๆ และความเคลื่อนไหวขององค์กรได้ที่ Facebook: https://www.facebook.com/wwfthailand
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า