ต่อจากดราม่าผู้รับเหมาชอบทิ้งงานเมื่อภาคที่แล้ว วันนี้ผมมีตอนจบของมหากาพย์ต่อเติมบ้าน แบบปวดหัวใจ มาแลกเปลี่ยนกันอีกครั้งครับ
อย่างที่ได้เรียนไปเมื่อตอนที่แล้วว่า ผู้รับเหมาเองก็ไม่ได้ตั้งใจอยากจะทิ้งงาน ถ้าหากมันเต็มกลืนจริง ๆ เพราะใคร ๆ ก็ย่อมอยากได้พอร์ตงานที่สำเร็จลุล่วงเอาไว้เพื่องานในอนาคต หรือถ้าหากจบอย่างสวย ๆ กับเจ้าของบ้านได้ ก็อาจมีงานอื่น งานแนะนำ งานบอกต่อ ๆ กัน เรียกได้ว่ามีงานทำไปได้ตลอดทั้งปีนั่นแหละครับ
แต่ชีวิตมันก็ไม่ได้ง่ายดายเช่นนั้นเสมอไป วันนี้จึงจะขอเสนออีกหนึ่งบทละคร ใช้ชื่อเรื่องว่า “คู่กรรม” ก็แล้วกันนะครับ
คู่กรรม: เจ้าของบ้านมนุษย์ป้า VS ผู้รับเหมาฉวยโอกาส
โดยทั่วไป การทำงานอะไรร่วมกัน ถ้าหากแต่ละฝ่ายเคารพซึ่งกันและกัน ไม่มุ่งเอารัดเอาเปรียบกัน ปัญหาย่อมเกิดขึ้นน้อย เช่น เมื่อมีสัญญาการทำงานระหว่างกัน และต่างเคารพสัญญานั้น ๆ การทำงานก็จะราบรื่น แต่ส่วนหนึ่งของปัญหาการทิ้งงานก่อสร้างที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ขอแบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ
1. เจ้าของบ้านมนุษย์ป้า
– ขอแจม…แถมเสมอ
เจ้าของบ้านประเภทนี้มักบอกให้ผู้รับเหมาทำงานเพิ่มเสมอ ๆ โดยมักจะไม่อยู่ในขอบเขตของงานตั้งแต่แรก ซึ่งกินเวลาและแรงงานจากงานหลักของผู้รับเหมาไป และมักไม่จ่ายเงินเพิ่ม หรือให้น้อยจนไม่คุ้มกับต้นทุนที่ผู้รับเหมาที่เกิดขึ้น (ทั้งต้นทุนเวลาและค่าแรงลูกน้อง) เช่น ซื้อผ้าม่านมาให้ติดทั้งห้อง หรือให้ช่วยประกอบเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
– เจอทีหลัง…สั่งรื้อ
เจ้าของบ้านประเภทนี้จะค่อนข้างจู้จี้จุกจิกกับช่าง เข้ามาดูงานแทบจะตลอดเวลา แต่…มักไม่ทักท้วงรายละเอียดหลัก ๆ แล้วสั่งแก้ สั่งทุบ สั่งย้ายในภายหลังตอนที่งานใกล้จะส่งมอบ หรือแล้วเสร็จ เจอแบบนี้ก็ปวดหัวใจนะครับ แถมส่วนใหญ่ พอผู้รับเหมาท้วงไป เจ้าของบ้านก็มักจะปฏิเสธความรับผิดชอบ
งานแบบนี้ ส่วนมากมักจะเกิดกับงานที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ที่อาจไม่ได้ระบุชัดในสัญญา เช่น วิธีการปูกระเบื้อง, การสลับลาย, ตำแหน่งของก๊อกหรือสุขภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งงานลักษณะนี้ ผู้รับเหมามักอ้างอิงระยะต่าง ๆ ตามหลักการใช้งานทั่ว ๆ ไป ดังนั้น หากเจ้าของบ้านที่ต้องการระยะที่เป็นงานเฉพาะตัวของตัวเอง ก็ควรเข้ามาดูแลการมาร์คระยะต่าง ๆ ด้วยตนเองอย่างละเอียดก่อนการทำงานนะครับ
– เพื่อนบ้านฉัน…ธุระของช่าง
เจ้าของบ้านบางรายมีปัญหากับเพื่อนบ้านอยู่แล้ว พอมีการต่อเติม มักเลี่ยงการขออนุญาตจากเพื่อนบ้าน เพราะไม่อยากจะคุยกัน (และแน่นอนว่า มักเลี่ยงการขออนุญาต จากหน่วยงานโยธาฯ ด้วยเช่นกัน) ดังนั้น เมื่อการก่อสร้างดำเนินไปแล้ว มักถูกเพื่อนบ้านกลั่นแกล้ง เช่น แจ้งเขตเพื่อชะลองาน, แจ้งนิติบุคคลหมู่บ้านเพื่อยับยั้งการทำงาน, แจ้งตำรวจ, ฟ้องร้องต่อศาล, ฯลฯ
การที่เจ้าของบ้านทิ้งปัญหาและความเสียหายไว้กับผู้รับเหมา โดยไม่มีการจ่ายชดเชยให้ผู้รับเหมา และเมื่อแผนการทำงานรวนและเบิกงวดไม่ได้ ผู้รับเหมาก็จำเป็นต้องทิ้งงานไปทำงานอื่นละครับ
2. ผู้รับเหมาฉวยโอกาส
– เผลอลัก…กำไรอยู่ตรงนี้
ช่างหรือผู้รับเหมาประเภทนี้ สังเกตง่าย ๆ ครับ คือจะจ้องหาช่องทางเสมอ ๆ เผลอเข้าบ้าน เปิดห้องลูกค้าขโมยทรัพย์สิน หรือหาลู่ทางย้อนกลับมาขโมยในภายหลัง ดีไม่ดีอาจแวะเยี่ยมบ้านหลังข้างเคียงด้วย เพราะไม่มีอะไรที่เจ้าของบ้านจะตามเอาผิดทางอาญาได้ ไร้ตัวตน ไร้หลักฐาน
– ผู้รับเหมานักมายากล…เบิกงวดแล้วหายตัวได้
ผู้รับเหมาประเภทนี้ไม่ได้อยากจะตั้งใจทำงานให้เสร็จ ตั้งแต่แรกอยู่แล้วละครับ เพราะตีราคางานถูกมาก จึงขอเบิกงวดแรกเพื่อซื้อวัสดุมากองหน้างาน แต่พอทำงานงวดแรกเสร็จ (มักเป็นงานโครงสร้าง-ง่ายและใช้เวลาไม่มาก) เมื่อได้ค่างวดที่ 2 จะหายสาปสูญไปเลย ติดต่อไม่ได้ ปิดโทรศัพท์ถาวร หรือบอกผลัดไปเรื่อย ๆ
ดังนั้น ข้อแนะนำในการจ้างผู้รับเหมาที่มีมาตรฐานและไม่เสี่ยงชอกช้ำสำหรับดราม่าที่ผมนำเสนอ คือ
- ทำสัญญาอย่างละเอียด พร้อมแนบแบบก่อสร้างให้ละเอียดที่สุดที่สามารถจัดทำได้
- หากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจากแบบที่แนบสัญญา ต้องมีเอกสารหรือส่งเป็นอีเมล์ทุกครั้ง
- ขอหลักฐานระหว่างกันเพื่อยืนยันตัวตน
- การขออนุญาตต่อเติมเป็นหน้าที่ของเจ้าของบ้าน ทั้งส่วนของนิติบุคคลฯ โยธาเขต และเพื่อนบ้าน
- เคารพในสัญญาและหน้าที่ระหว่างกัน
- ไม่มีอะไรฟรี ทุกอย่างที่ขอเพิ่มเติมจากผู้รับเหมา ควรตกลงราคาก่อนลงมือทำงานทุก ๆ ครั้ง เราก็ไม่โดนลักไก่ฟัน ส่วนผู้รับเหมาก็ได้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
- ไม่จ่ายค่างวดก่อนที่งานในงวดนั้น ๆ จะเสร็จ (ต่อให้ผู้รับเหมาเป็นเพื่อนกันก็ตาม)
เอาล่ะครับ! คงพอได้เห็นภาพความแพรวพราวของทั้งมุมผู้ซื้อ และมุมผู้ขายกันบ้างแล้ว ก่อนจะตัดสินใจจ้างช่างชุดใด ๆ อย่าลืมนะครับว่า สัญญาจะเป็นเพียงเอกสารฉบับเดียวที่จะมีข้อมูลผูกมันและเอาความทางกฎหมายได้ ขอให้เพื่อน ๆ ทุก ๆ คนโชคดี เจอช่างที่ถูกใจกันนะครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
พงษ์ธร ปัทมจินตธำรง กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัทวอลรัส โฮม จำกัด www.walrushome.net หากมีข้อสงสัยหรือคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ walrushome@gmail.com
พงษ์ธร ปัทมจินตธำรง กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัทวอลรัส โฮม จำกัด www.walrushome.net หากมีข้อสงสัยหรือคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ walrushome@gmail.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ