น้ำประปาเค็มถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ซื้อบ้าน-คอนโด อาจต้องพบเจอ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่วิกฤตมากขึ้นทุกปี และน้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้น้ำประปาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจมีปัญหาน้ำไหลช้า ไหลอ่อน และมีปัญหาน้ำกร่อย รวมถึงทำให้น้ำประปาเค็มในบางช่วงเวลา ลองมาดูสาเหตุน้ำประปาเค็ม วิธีแก้มีอะไรบ้างได้ที่นี่
น้ำประปาเค็มเกิดจากอะไร
น้ำประปาเค็มในปีนี้เกิดจากน้ำต้นทุนหรือน้ำดิบมีน้อยมาก เนื่องจากปริมาณฝนน้อย และปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าในเวลาปกติการประปานครหลวงจะมียังสามารถผลิตน้ำประปาได้อยู่ แต่มีบางช่วงเวลาที่เป็นข้างขึ้น น้ำทะเลจะหนุนสูงมาก น้ำเค็มจะขึ้นสูงถึงสถานีสูบน้ำประปา จึงมีโอกาสที่จะมีน้ำเค็มเกินปริมาณที่กำหนด โดยจะส่งผลกระทบในการนำน้ำประปาไปดื่ม แต่การนำไปอุปโภคอย่างอื่นไม่มีปัญหา ทั้งนี้ ทางการประปานครหลวงจะพยายามสูบน้ำดิบในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
น้ำประปาจะมีรสที่เปลี่ยนไปเมื่อไหร่
ค่ามาตรฐานในน้ำประปาที่ส่งผลให้รับรู้รสกร่อย ประกอบด้วย โซเดียม (Sodium), ความเค็ม (Salinity), Total Dissolved Solids (TDS), คลอไรด์ (Chloride), ความนำไฟฟ้า (Conductivity) โดยเราจะเริ่มรู้รสกร่อยเมื่อ
– ความเค็มในน้ำประปาสูงเกิน 0.5 กรัม/ลิตร
– โซเดียมในน้ำประปาเกิน 200 มิลลิกรัม/ลิตร
– คลอไรด์ในน้ำประปาเกิน 250 มิลลิกรัม/ลิตร
– Total Dissolved Solids (TDS) ในน้ำประปาเกิน 1,000 มิลลิกรัม/ลิตร TDS คือ ปริมาณของแข็งที่ละลายอยู่ในน้ำรวมถึงไอออน แร่ธาตุ เกลือ หรือโลหะ
– ความนำไฟฟ้าสูงเกิน 1,200 โมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร (µs/cm) ค่าความนำไฟฟ้าคือความสามารถของน้ำในการส่งผ่านกระแสไฟฟ้า ซึ่งเกิดจากสารประกอบอนินทรีย์ที่ละลายอยู่ในน้ำ
10 ทำเลที่มีระดับน้ำประปาเค็มเกินมาตรฐาน
รสชาติน้ำประปาจะเปลี่ยนไป หากมีค่าความเค็มสูงเกิน 0.5 กรัม/ลิตร โดยทำเลที่มีค่าความเค็มสูงเกิน ข้อมูล ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 (15.00 น.) มีดังนี้
ทำเล | ค่าความเค็ม |
สถานีโรงงานธนบุรี | 1.18 กรัม/ลิตร |
สถานีสูบจ่ายน้ำบางเขน 1 | 1.14 กรัม/ลิตร |
สถานีสูบส่งน้ำบางเขน 3 | 1.09 กรัม/ลิตร |
สถานีโรงงานสามเสน 1 | 1.04 กรัม/ลิตร |
สถานีสูบจ่ายน้ำบางเขน 2 | 1.03 กรัม/ลิตร |
สถานีสูบจ่ายน้ำมีนบุรี | 0.90 กรัม/ลิตร |
สถานีสำนักงานประปาสาขาสุขุมวิท | 0.87 กรัม/ลิตร |
สถานีสูบจ่ายน้ำคลองเตย | 0.87 กรัม/ลิตร |
สถานีโรงงานสามเสน 3 | 0.84 กรัม/ลิตร |
สถานีพระราชวังดุสิต สวนจิตรลดา | 0.82 กรัม/ลิตร |
กรมอนามัยแจงน้ำประปาเค็มยังไม่น่าห่วง
กรมอนามัยแจ้งว่าความเค็มจากน้ำประปาอาจเพิ่มโซเดียมเข้าสู่ร่างกายต่อวันในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่อาจจะส่งผลต่อกลุ่มเสี่ยงที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรคไต เพราะหากดื่มน้ำประปาที่มีความเค็มจะทำให้ได้รับโซเดียมเพิ่มขึ้นจากปกติได้ เนื่องจากไตทำงานได้น้อยลง การกำจัดเกลือก็จะน้อยตามไปด้วย และมีความเสี่ยงภาวะไตวายได้

ผู้ซื้อบ้าน-คอนโด ควรรับมืออย่างไร
แม้ว่าปัญหาน้ำประปาเค็ม วิธีแก้อาจจะไม่สามารถทำได้จากในฝั่งของผู้ใช้ ที่ทำได้คงจะเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้น้ำประปา เพราะแม้ว่าระดับความเค็มจะยังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหากับบุคคลทั่วไปที่ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่ก็ไม่ควรละเลยที่จะดูแลตัวเอง โดยมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้
1. ใช้น้ำกรองผ่านระบบ Reverse Osmosis (RO) ซึ่งเป็นเครื่องกรองน้ำที่มีความละเอียดสูง และสามารถลดความเค็มของน้ำได้มเค็มของน้ำได้ (ลองมาดู 5 ข้อคิดก่อนตัดสินใจซื้อเครื่องกรองน้ำ)
2. การนำน้ำประปามาต้มไม่ช่วยให้ค่าความเค็มจืดจางลง
3. ควรลดการเติมเครื่องปรุงรส เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว ซอสปรุงรส ผงปรุงรส ให้น้อยลง
4. งดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น ขนมกรุบกรอบ และมันฝรั่งทอด
5. หากมีอาการคันตามผิวหนัง ระคายเคืองตา หรือเกิดสิวขึ้นง่ายกว่าปกติ ควรเปลี่ยนการใช้น้ำจากแหล่งอื่นแทน
ถือเป็นปัญหาของทั้งผู้ที่ซื้อบ้านและคอนโดฯ ควรรู้ เพราะปัญหานี้อาจไม่ได้เกิดเพียงแค่ปีนี้เพียงปีเดียว มาเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นอาจต้องลงทุนควักกระเป๋าซื้อน้ำดื่มมารับประทานเอง แม้ว่าจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ก็ยังดีกว่าต้องเสียเงินเข้าโรงพยาบาลในอนาคต
ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลคุณภาพน้ำประปาออนไลน์แบบเรียลไทม์ได้ด้วยตนเองทาง https://twqonline.mwa.co.th/ หรือแอปพลิเคชัน MWA onMobile
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า