บริหารเงิน 2 ส่วน โบนัสก้อนโต-เงินเดือนก้อนใหญ่อย่างไรให้คุ้มค่า

DDproperty Editorial Team
บริหารเงิน 2 ส่วน โบนัสก้อนโต-เงินเดือนก้อนใหญ่อย่างไรให้คุ้มค่า
ในแต่ละเดือนหรือแต่ละปี สิ่งที่ทำให้คนทำงานยิ้มแก้มปริคงหนีไม่พ้นเงินเดือนก้อนใหญ่หรือโบนัสก้อนโต ซึ่งจะได้รับช่วงไหนแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน
แต่ที่ทุกคนทำเหมือนกันได้คือการบริหารจัดการเงินก้อนนั้นให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะของเงินที่ได้รับก็จะเกิดประโยชน์อย่างมาก จนอาจถึงขั้นปลดภาระหนี้สิน สามารถซื้อบ้าน-คอนโดมิเนียมเป็นของตนเองได้ด้วยซ้ำ แล้วจะบริหารจัดการอย่างไร K-Expert มีคำแนะนำมาฝาก
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ

1. บริหารโบนัสก้อนโต

เงินโบนัส มีลักษณะเป็นเงินก้อนซึ่งได้รับมาครั้งเดียวในแต่ละปี เราสามารถนำเงินก้อนนี้ไปต่อยอด โดยลงทุนให้งอกเงยได้
สำหรับคนที่ยังไม่เคยลงทุนมาก่อน อาจเริ่มต้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ แต่หากเคยลงทุนมาแล้ว สามารถลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่เรารับได้
โดยหากรับความเสี่ยงได้ต่ำ สามารถลงทุนในกองทุนตลาดเงิน หรือกองทุนตราสารหนี้ รับความเสี่ยงได้ปานกลาง สามารถลงทุนในกองทุนผสมที่ลงทุนทั้งในตราสารหนี้และหุ้น สำหรับใครที่รับความเสี่ยงได้สูง ก็สามารถลงทุนในกองทุนหุ้นได้
ส่วนคนที่มีหนี้ควรบริหารจัดการเงินโบนัสก้อนนี้ให้เหมาะกับรายจ่ายที่มีลักษณะเป็นก้อนเช่นกัน หากใครมีหนี้บัตรเครดิต หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง
โดยหนี้บัตรเครดิตคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 16% ต่อปี ส่วนหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดถึง 25% ต่อปี (ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป)
ดังนั้น ควรรีบนำเงินไปปิดหนี้เหล่านี้ให้หมดก่อน ส่วนใครที่มีหนี้บ้าน เงินโบนัสที่ได้รับมานี้อาจปิดหนี้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ให้โปะหรือชำระบางส่วนเพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยจ่ายได้
สำหรับคนที่วางแผนจะใช้เงินหรือคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่เกิดขึ้นในปีนี้ เช่น จ่ายค่าเทอมลูก เที่ยวต่างประเทศ ก็สามารถกันเงินโบนัสส่วนหนึ่งไว้ล่วงหน้าสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับคนที่รูดบัตรเครดิตไปจำนวนมากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะซื้อกองทุน RMF, จ่ายเบี้ยประกันชีวิต, ซื้อของขวัญปีใหม่, ให้รางวัลตัวเอง หรือไปปาร์ตี้สังสรรค์ ก็อย่าลืมกันเงินโบนัสไว้จ่ายบัตรเครดิตแบบเต็มจำนวนกันด้วย
บริหารเงิน 2 ส่วน โบนัสก้อนโต-เงินเดือนก้อนใหญ่อย่างไรให้คุ้มค่า

2. บริหารเงินเดือนก้อนใหญ่

สำหรับเงินเดือน ก็เหมือนชื่อคือมีลักษณะเป็นเงินที่เราทยอยรับทุกเดือน โดยทั่วไปแล้วเงินเดือนจะเพิ่มขึ้นปีละ 5-6% อาจดูไม่มากนัก แต่หากเราไม่นำไปใช้จ่ายจนหมด โดยนำเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ไปออมหรือลงทุนทุกเดือนก็จะงอกเงยเกิดประโยชน์อย่างมาก โดยขอแนะนำแนวทางในการออมและลงทุนดังนี้

– กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่บริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราสามารถนำเงินมาออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือหากได้ปรับเงินเดือนขึ้นก็สามารถนำมาออมมากขึ้นได้ด้วย เช่น จากเดิมออมอยู่เดือนละ 3% ก็ให้ออมเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม
วิธีนี้นอกจากจะช่วยให้เรามีเงินไว้ใช้ยามเกษียณมากขึ้นแล้ว ยังสามารถนำเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นอีกด้วย

– บัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี

ส่วนใครที่อยากออมเงิน แต่ยังทำไม่ได้สักที แนะนำให้ออมในบัญชีเงินฝากประจำปลอดภาษี เนื่องจากเป็นบัญชีที่ช่วยให้เราสามารถออมเงินได้ทุกเดือน โดยออมเท่ากันทุกเดือน ติดต่อกัน 24 เดือน เริ่มต้นที่เดือนละ 500 บาท
นอกจากจะช่วยให้เรามีเงินออมแล้ว ยังได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากทั่วไป แถมดอกเบี้ยที่ได้รับยังไม่เสียภาษีอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการลืมนำฝากสามารถให้ธนาคารหักบัญชีอัตโนมัติเพื่อนำฝากได้ทุกเดือน
ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์-ฝากประจำ

ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์-ฝากประจำ

– กองทุนรวม

ในส่วนของการลงทุน เราสามารถนำเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้มาลงทุนในกองทุนรวมอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน โดยเลือกกองทุนที่จะลงทุนให้เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่รับได้ และให้ธนาคารหักบัญชีอัตโนมัติในวันที่เงินเดือนออกเพื่อนำไปลงทุนทุกเดือน (Saving Plan) วิธีนี้จะช่วยให้เงินของเรางอกเงยมากขึ้น
ส่วนใครที่กำลังผ่อนบ้านอยู่ หากต้องการผ่อนบ้านให้หมดไว และช่วยประหยัดดอกเบี้ยจ่าย การนำเงินส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้มาผ่อนบ้านมากขึ้นในแต่ละเดือนก็เป็นวิธีที่น่าสนใจไม่น้อยเลย เช่น ผ่อนบ้านเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละ 5% เมื่อเราผ่อนมากขึ้น เงินต้นลดลง ดอกเบี้ยบ้านที่เราต้องจ่ายก็จะน้อยลงไปด้วยนั่นเอง
วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็ว

วิธีผ่อนบ้านให้หมดเร็ว

โบนัสก้อนโต เงินเดือนก้อนใหญ่จะไม่หมดไปอย่างสูญเปล่า หากเราสามารถบริหารจัดการเงินส่วนนี้ได้อย่างเหมาะสม โดยจัดการให้สอดคล้องกับลักษณะของเงินที่ได้รับและรายจ่ายที่มี เพียงเท่านี้เราก็สามารถใช้เงินที่ได้มาทุกบาททุกสตางค์ได้อย่างคุ้มค่า
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ AFPTTM K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย และปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนโดยทีมงาน DDproperty หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

คำถามยอดนิยม

ผู้ที่มีรายได้สุทธิทั้งปีไม่เกิน 150,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากรวมแล้วเกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษีอัตราตามขั้นบันได 5-35%

เงินโบนัสถือเป็นรายได้ที่ต้องเอาไปคำนวณภาษีเช่นเดียวกับเงินเดือน ถือเป็นรายได้พึงประเมินด้วย