เมื่อคิดถึง “บ้านปูน” สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในสมอง คือ บ้านที่สร้างด้วยระบบ เสา-คาน-พื้น ก่อด้วยอิฐและฉาบปูน โครงสร้างหล่อจากคอนกรีตเสริมเหล็ก และบ้านปูนเปลือยหรือบ้านสไตล์ลอฟท์ บ้านที่โชว์โครงสร้างและผนังปูนโดยไม่มีการนำวัสดุอื่นได้มาฉาบปิดทับตกแต่ง และบ้านปูนที่ก่อสร้างด้วยระบบ Precast ซึ่งเป็นระบบผนังรับน้ำหนักที่หล่อสำเร็จจากโรงงานนำมาประกอบที่หน้าไซส์งาน
ปัจจุบันการสร้างบ้านมีระบบก่อสร้างที่หลากหลาย แต่ที่พบเห็นในประเทศไทยมากที่สุด คือบ้านปูนและบ้านไม้ โดยบ้านไม้ส่วนใหญ่จะพบเห็นในชนบท ส่วนบ้านปูจะพบเห็นได้ทั่วไป ขณะที่ระบบก่อสร้างใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในยุคนี้ คือ บ้านปูนที่ก่อสร้างด้วยระบบ Precast และบ้านโครงสร้างเหล็กผสมปูน โดยระบบก่อสร้างที่แพร่หลายในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ขณะนี้ คือ บ้านที่ก่อสร้างด้วยระบบ Precast ซึ่งจะพบเป็นได้ในโครงการบ้านจัดสรรทั่วไป
ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างอิฐมอญ อิฐมวลเบา และผนังสำเร็จรูป
ความแข็งแรง
มากกว่าอิฐมวลเบา
น้อยที่สุด
มากที่สุด
การป้องกันความร้อน
สะสมความร้อน แต่กันความร้อนดีกว่าอิฐมวลเบาหากก่ออิฐมอญ 2 ชั้น
ดี
สะสมความร้อน
การป้องกันเสียง
ไม่ค่อยดี เว้นแต่จะก่ออิฐมอญ 2 ชั้น
ดี
ดีที่สุด
คุณภาพผนัง
ขึ้นอยู่กับฝีมือของช่างที่ต้องมีประสบการณ์
ขึ้นอยู่กับคุณภาพปูนและฝีมือของช่าง
ตามมาตรฐานคุณภาพของโรงงาน
การต่อเติมและดัดแปลง
ง่าย ทำเองได้บ้างหากมีความรู้และประสบการณ์
ต้องอาศัยช่างที่ชำนาญ
ทำไม่ได้หรือทำได้ยาก และต้องอาศัยวิศวกรและช่างที่ชำนาญโดยเฉพาะ
ต้นทุนในการก่อสร้าง
ปานกลาง-สูง
ต่ำ
ต่ำ-ปานกลาง
ระยะเวลาในการสร้างผนัง
ช้า
ปานกลาง
เร็ว
ทำไมบ้านปูนถึงเป็นที่นิยม
ความนิยมบ้านปูน ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบ้านปูน มีราคาถูกและแข็งแรงมากกว่า เมื่อเทียบกับบ้านไม้นับวันราคามีแต่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะเดียวกันอายุการใช้งานของบ้านปูน ไม่ว่าจะเป็นบ้านปูนที่สร้างบนที่ดินของตัวเอง หรือบ้านปูนที่ซื้อจากโครงการบ้านจัดสรร ที่ปัจจุบันนิยมก่อสร้างด้วยระบบ Precast นั้น ด้วยโครงสร้างอาคารที่สร้างมาจากปูนซีเมนต์ทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานไม่ต่ำกว่า 50 ปี บางหลังหากดูแลและรีโนเวทอยู่เป็นประจำก็มีอายุใช้งานนับ 100 ปี
ข้อดีของบ้านปูน
1. แบบบ้านปูนในปัจจุบันมีให้เลือกจำนวนมาก เจ้าของบ้านสามารถออกแบบและตกแต่งได้ตามชอบ
2. ต้นทุนวัสดุก่อสร้างบ้านปูน ราคาไม่แพง แถมผลิตภัณฑ์และชนิดของปูนในท้องตลาดปัจจุบันมีให้เลือกหลากหลาย
3. บ้านปูนสามารถปรับตัวกับสภาพอากาศร้อน อากาศเย็น เช่น กลางวันในหน้าร้อนบ้านปูนจะอยู่เย็นสบาย เพราะปูนช่วยดูดซับความร้อน และในหน้าหนาวปูนจะป้องกันลมเข้าบ้านได้ดีทำให้ภายในบ้านอบอุ่น
4. บ้านปูนเก็บเสียงได้ดี และยังป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกตัวบ้านได้ดีกว่าบ้านไม้ นอกจากนั้นบ้านปูนป้องกันฝุ่นละออง ควัน และกลิ่นต่าง ๆไม่ให้เข้ามารบกวนคนในบ้านได้ดี
ข้อด้อยของบ้านปูน
1. บ้านปูนโดยส่วนใหญ่มักมีปัญหาสีหมองง่าย หลุดลอกร่อน ทำให้ผู้อยู่อาศัยต้องซ่อมบำรุง
2. บ้านปูนมีความยืดหยุ่นน้อย ในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว บ้านปูนจึงเกิดผนังแตกร้าวได้ง่ายกว่าบ้านไม้และบ้านโครงสร้างเหล็ก
3. บ้านปูนจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นอับ และเกิดปัญหาเชื้อราบนผนังได้ง่าย โดยเฉพาะบ้านที่ไม่ได้ทาสีป้องกันเชื้อราเพราะบ้านปูนระบายอากาศได้ไม่ดีนัก
4. บ้านปูน หากได้รับการออกแบบไม่ดี หรือเลือกใช้โทนสีที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้บ้านดูมืดทึบอยู่แล้วอึดอัด
5. การเคลื่อนย้าย ปรับปรุง หรือต่อเติม บ้านปูนจะทำได้ยากกว่าบ้านโครงสร้างเหล็กและบ้านไม้ โดยเฉพาะบ้านปูนที่ก่อสร้างด้วยระบบ Precast ซึ่งนิยมใช้ในโครงการบ้านจัดสรร ซึ่งหากต้องการต่อเติมห้องจะต้องมีวิศวกรคุมงาน ดูแลและให้คำปรึกษา หรือไม่ก็ต้องทุบทิ้งเพื่อสร้างใหม่

การดูแลรักษาบ้านปูน
สำหรับการดูแลรักษาบ้านปูนนั้น อย่างที่ทราบกันดีว่า บ้านปูนจะมีปัญหาในเรื่องของความอับชื้น ทำให้เกิดปัญหาการเกิดเชื้อราได้ง่าย ดังนั้น เจ้าของบ้านจึงต้องหมั่นเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อช่วยในการระบายอากาศและความชื้นภายในบ้าน ซึ่งจะลดปัญหาการเกิดเชื้อราคาบนผนังบ้าน แต่จะให้ดีเจ้าของบ้านควรทาสีป้องกันเชื้อรา ซึ่งจะดีกว่าการเลือกใช้วอลเปเปอร์เพราะในระยะยาวจะเสี่ยงกับการเกิดปัญหาเชื้อราได้
การดูแลรักษาบ้านปูนเปลือย
ส่วนบ้านปูนเปลือยนั้น เนื่องจากต้องใช้เทคนิคการฉาบผนังปูน ที่ใช้เทคนิคความชำนาญเฉพาะทางด้วยการฉาบปูนไม่ให้เกิดรอยแตกลายงา และยังต้องวางแผนระบบท่อร้อยสายไฟไปพร้อม ๆ กันด้วย โดยที่ต้องไม่ลืมว่าจะต้องเคลือบน้ำยาเคลือบผิวและต้านการดูดซึมน้ำทุก ๆ 1-2 ปี เพื่อป้องความชื้นและคราบสกปรกต่าง ๆ ที่อาจจะซึมเข้าเนื้อซีเมนต์จนเกิดเป็นรอยด่างได้
การดูแลรักษาบ้านปูนระบบ Precast
ขณะที่บ้านปูนที่ใช้ระบบ Precast ซึ่งโดยมากจะเป็นบ้านในโครงการหมู่บ้านจัดสรร ผู้ซื้อต้องทำใจยอมรับว่าในทุก ๆ 2-3 ปีอาจต้องมีการรีโนเวทสีบ้านใหม่ เพราะบ้านปูนระบบ Precast นั้นแม้จะมีข้อดีของความแข็งแรงของผนังมากกว่าบ้านปูนเปลือย และบ้านก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป
แต่เนื่องจากแผ่นผนังบ้านเป็นระบบที่ผลิตจากโรงงาน ผิวของผนังจึงมีความเรียบมันมากกว่าผนังฉาบปูนธรรมดา ประกอบกับในเนื้อปูนซีเมนต์นั้นผสมน้ำยากันซึมทำให้สีทาบ้านเกาะตัวได้ไม่ดี จึงเกิดการโป่งพองบนผิวผนังบ่อย ๆ ทำให้สีผนังบ้านภายนอกเมื่อถูกแดดนาน ๆ จะเกิดการหลุดล่อนเร็วกว่าบ้านปูนฉาบแบบธรรมดา
ระบบประปา
นอกจากนี้บ้านปูนระบบ Precast ซึ่งเป็นระบบหล่อในโรงงานและนำมาประกอบที่ไซด์งานก่อสร้าง จะมีปัญหาที่พบบ่อย ๆ ก็คือการเชื่อมต่อกันของรอยต่อ ซึ่งอาจจะปัญหาเรื่องการรั่วซึมของระบบประปาภายในบ้าน ดังนั้นเจ้าของบ้านจึงต้องหมั่นดูแลและตรวจสอบการรั่วซึมของระบบประปาภายในบ้านเป็นประจำ
ระบบไฟฟ้า
นอกจากการตรวจสอบดูแลระบบประปาในบ้านแล้ว เรื่องสำคัญที่ต้องตรวจสอบดูแล คือ ระบบไฟฟ้า เนื่องจากบ้านปูนระบบ Precast มีการวางระบบไฟฟ้าแบบท่อล้อยสาย ปัญหาที่พบบ่อย ๆ คือระบบไฟฟ้าลัดวงจรจากความชื้นในท่อร้อยสาย ซึ่งเกิดจากการขนเศษดินและหินขนาดเล็กของมดและแมลงที่เข้ามาอาศัยอยู่ในระบบท่อร้อยสายไฟฟ้า
ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในระบบท่อร้อยสายไฟเจ้าของบ้านต้องหมั่นตรวจสอบดูว่าในรอยต่อท่อร้อยสายไฟนั้นเกิดรอยรั่วและมีมดแมลงเข้าไปอาศัยอยู่หรือไม่
อย่างไรก็ดี การเลือกซื้อบ้านนั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านปูน บ้านไม้ หรือบ้านโครงสร้างเหล็ก ต่างก็มีข้อดีข้อเสียที่ต่างกันออกไป ดังนั้นในการเลือกซื้อบ้านผู้ซื้อควรศึกษาข้อดีข้อเสีย ของบ้านแต่ละแบบให้ดีก่อนตัดสินใจ เพราะหากซื้อไปแล้วไม่ถูกใจ จะขายเพื่อหาซื้อบ้านใหม่นั้น ปัญหาที่จะตามมาไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลยทีเดียว
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ