"รถก็อยากมี บ้านก็อยากได้" คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า น้อยคนนักที่จะสามารถซื้อบ้านหรือซื้อรถได้พร้อม ๆ กัน ยิ่งเด็กจบใหม่เพิ่งเริ่มทำงานด้วยแล้ว รายได้ยังไม่สูงนัก หรือหากเกิดเหตุโชคดีแบบไม่คาดฝันถูกหวย หรือลงทุนได้เงินมาสักก้อน ถ้าอยากได้ทั้งบ้านและรถ คงต้องเลือกก่อนว่า จะซื้อบ้านหรือรถก่อนดี จะจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังกันอย่างไร ลองมาดูคำแนะนำ 3 เรื่องก่อนจะตัดสินใจว่าจะซื้อบ้านหรือรถก่อนดีได้ที่นี่
1. พิจารณาความจำเป็น
อันดับแรกที่ต้องพิจารณาคือ ความจำเป็น ซึ่งไม่มีคำตอบตายตัวว่า คนเราควรซื้อบ้านก่อนซื้อรถ หรือซื้อรถก่อนซื้อบ้าน เพราะความจำเป็นของคนเราไม่เหมือนกัน
ยกตัวอย่าง หากเราเป็นคนที่ต้องเช่าบ้าน หรือเช่าคอนโดอยู่ การซื้อบ้านหรือซื้อคอนโดเป็นของตัวเองก็ดูจำเป็นมากกว่า เพราะเงินที่เคยจ่ายเป็นค่าเช่าบ้านหรือคอนโด จะกลายมาเป็นค่าผ่อนรายเดือนที่ทำให้เรามีทรัพย์สินเป็นของตัวเองในอนาคต
โดยทั่วไปแล้ว มูลค่าบ้านและคอนโดมักปรับเพิ่มขึ้น หากในอนาคตไม่ได้อยู่บ้านหรือคอนโดนี้แล้ว เช่น โยกย้ายที่ทำงาน หรือแต่งงานสร้างครอบครัวต้องการซื้อบ้านแทนคอนโด ก็สามารถขายบ้านหรือคอนโดนี้ได้ หรือหากคอนโดอยู่ในทำเลดี ก็สามารถปล่อยเช่าสร้างรายได้ให้กับตัวเราเพิ่มอีกทางหนึ่ง
แต่สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่กับบ้านเดียวกับคุณพ่อคุณแม่หรือญาติพี่น้อง แต่บ้านไกลจากที่ทำงานมาก เดินทางด้วยรถสาธารณะไม่สะดวก หรือต้องโดยสารรถหลายต่อกว่าจะถึงที่ทำงาน การซื้อรถก็อาจเหมาะกว่า เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก หรือช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางมากขึ้น หรือถ้าเป็นผู้หญิง แล้วต้องเดินเข้าซอยเวลากลับบ้านช่วงเย็นหรือกลางคืน การซื้อรถขับก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น
2. คำนวณความสามารถในการผ่อน
เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะซื้อบ้านหรือรถก่อนดีนั้น เรื่องสำคัญ ก็คือ ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้รู้ว่า สามารถซื้อบ้าน หรือรถได้ในราคาประมาณเท่าไร
โดยทั่วไปการขอสินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน ภาระหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 40-60% ของรายได้ ซึ่งสัดส่วนภาระหนี้ที่สามารถมีได้นั้น ขึ้นอยู่กับรายได้ต่อเดือน ยิ่งรายได้สูง ก็สามารถมีสัดส่วนหนี้ต่อเดือนได้สูง
ทั้งนี้ แนะนำว่า ภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ เพราะถ้ามีสัดส่วนหนี้ต่อเดือนที่สูงเกินไป อาจสร้างปัญหาการเงินตามมาในอนาคตได้
ยกตัวอย่าง ตัดสินใจเลือกซื้อบ้านก่อน หากรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ 30,000 บาท โดยธนาคารให้มีภาระผ่อนหนี้แต่ละเดือนไม่เกิน 40% เท่ากับว่า
สามารถมีภาระผ่อนหนี้ทั้งหมดเท่ากับ 40% x 30,000 = 12,000 บาท
โดยหากเลือกระยะเวลาผ่อนประมาณ 20 ปี จะขอวงเงินสินเชื่อจากธนาคารได้ประมาณ 1.3 ล้านบาท แต่หากเลือกซื้อรถก่อน รถราคาประมาณ 6 แสนบาท ผ่อน 5 ปี จะผ่อนประมาณเดือนละ 11,000-12,000 บาท
- คำนวณความสามารถในการผ่อนด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อต่าง ๆ
3. เตรียมเงินดาวน์
ไม่ว่าจะซื้อบ้าน หรือซื้อรถ เมื่อใช้วิธีขอสินเชื่อจากธนาคาร ก็ต้องมีการเตรียมเงินดาวน์ก้อนหนึ่ง โดยทั่วไป การขอสินเชื่อบ้านต้องมีเงินดาวน์ประมาณ 20% ของราคาบ้าน หรือรถต้องมีเงินดาวน์ประมาณ 25% ของราคารถ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ต้องสำรวจความพร้อมเรื่องเงินดาวน์ก่อน
ยกตัวอย่าง ซื้อบ้านราคา 2 ล้านบาท ควรมีเงินดาวน์ประมาณ 4 แสนบาท ถ้าวางแผนว่าจะซื้อบ้านในอีก 2 ปีข้างหน้า ถ้าไม่ได้ถูกหวยหรือมีได้กำไรจากการลงทุนก้อนใหญ่ ก็เท่ากับว่า ต้องออมเงินเดือนละ 16,000-17,000 บาท
แต่หากเงินที่ต้องออมต่อเดือนสูงเกินกำลังความสามารถในการออม ก็อาจต้องเลื่อนเป้าหมายการขอสินเชื่อออกไปก่อน เช่น เลื่อนการกู้บ้านจาก 2 ปี เป็น 3 ปี เพื่อให้มีเวลาเก็บออมเงินดาวน์นานขึ้น หรือลดขนาดเป้าหมายลง เช่น ซื้อบ้านหลังเล็กลงมาหน่อยจาก 2 ล้านบาทเหลือ 1.5 ล้านบาท เพื่อให้จำนวนเงินออมต่อเดือนลดลงอยู่ในความสามารถที่ออมได้
เช็กอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์-ฝากประจำของแต่ละธนาคาร
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจซื้อทรัพย์สินอย่างบ้าน หรือรถให้กับตัวเอง สิ่งที่สำคัญที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรก คือ ความจำเป็น รวมไปถึงความพร้อม เพราะการซื้อบ้านสักหลังหรือรถสักคัน มีข้อผูกมัดที่ต้องผ่อนชำระหนี้เป็นเวลาหลายปี จึงต้องคิดให้รอบคอบว่า เงินดาวน์พอไหม และผ่อนไหวแค่ไหน เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการเงินตามมาในอนาคต
บทความนี้เขียนโดย K-Expert และเรียบเรียงใหม่โดย DDproperty
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า