รู้หรือไม่ว่า การทำประกันชีวิต เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกับเป็นหลักประกันชีวิตยามป่วยไข้ หรือหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน คนข้างหลังจะได้สบายใจ รวมทั้งหากเราไม่ได้เป็นอะไรยังมีใช้เป็นเงินออม และยังกู้เงินประกันชีวิตได้ในอนาคตด้วย แต่ก่อนจะทำประกันมีเรื่องที่คุณจะต้องรู้ก่อนตัดสินใจดังนี้
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
กูรูประกันภัย สืบค้น-เปรียบเทียบแบบประกันภัย ก่อนซื้อประกันออนไลน์
คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกประกาศ เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับบริษัทประกันชีวิต/บริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 เพื่อให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
โดยการดำเนินงานตามประกาศฉบับดังกล่าว จะช่วยให้ประชาชนมีแหล่งสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัย และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของแบบการประกันชีวิต การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และการประกันภัยอุบัติเหตุการเดินทาง เช่น เงื่อนไขความคุ้มครอง การจ่ายเงินผลประโยชน์ อัตราเบี้ยประกันภัย ข้อยกเว้น เงื่อนไขที่สำคัญของกรมธรรม์ประกันภัย และเงื่อนไขการรับประกันภัยของแต่ละบริษัท เป็นต้น

โดยสามารถสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซด์ สำนักงาน คปภ. หรือเรียกว่า กูรูประกันภัย ในหัวข้อ “ค้นหาแบบประกันภัย” และหัวข้อ “เปรียบเทียบแบบประกันภัย” ซึ่งเป็นระบบสืบค้นที่สามารถให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัยและข้อมูลการทำธุรกรรมประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างไรให้ปลอดภัย
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้มีการพัฒนาระบบตรวจสอบการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่เสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้รับเห็นชอบจากนายทะเบียนให้มีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยผ่านระบบดังกล่าวเช่นเดียวกัน
ทำประกันชีวิตมีประโยชน์มากกว่าที่คิด
จริง ๆ แล้วประกันชีวิตแล้วมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ อาทิ ประกันแบบสะสมทรัพย์ ประกันแบบตลอดชีพ และประกันแบบบำนาญ ซึ่งแต่ละแบบนั้นล้วนมีประโยชน์มากกว่าที่คุณคิด เพราะนอกจากจะช่วยเป็นหลักประกันยามป่วย หรือเสียชีวิตแล้ว ยังสามารถนำมาลดหย่อนภาษี เป็นแหล่งเงินออม และยังเป็นแหล่งเงินกู้ได้ด้วย
ทำประกัน ลดหย่อนภาษีได้
ผลพลอยได้อย่างหนึ่งของการทำประกันคือ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ สำหรับผู้ทำประกันชีวิตควรเลือกแบบประกันที่สามารถใช้ลดหย่อนได้หลายปี เพื่อจะได้ตอบโจทย์ผลพลอยได้ทางภาษีได้อย่างเต็มที่
แต่ทั้งนี้กรมธรรม์บางฉบับไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะมีเงินคืนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือมีระยะเวลาเอาประกันน้อยเกินกว่ากำหนด ดังนั้นหากจะนำค่าเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีก็ต้องถามให้แน่ใจด้วยว่ากรมธรรม์นั้นเข้าเกณฑ์ที่จะนำมาลดหย่อนภาษีด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ ประกันโควิด อยู่ในหมวดประกันสุขภาพ โดยเบี้ยประกันสุขภาพ หักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์คือเงินออม
ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คือ “เงินออม” ที่ได้รับความคุ้มครองชีวิตด้วย ถ้ายกเลิกก่อนกำหนดก็อาจขาดทุนเงินต้นได้ แต่ในระยะยาวดอกผลที่ได้จากเงินต้นที่เท่ากัน ระยะเวลาฝากที่เท่ากัน ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ถือว่าได้ประโยชน์จากการเก็บออมที่มากกว่าเงินฝาก
กู้เงินประกันชีวิตได้
ประกันชีวิตนอกจากจะช่วยคุ้มครองชีวิตแล้ว ในยามที่จำเป็นต้องใช้เงินก้อนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียนลูก ค่าบัตรเครดิต ค่าซ่อมแซมบ้าน หากเงินออมที่มีอยู่ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แทนที่จะกดเงินล่วงหน้าจากบัตรกดเงินสด หรือกู้เงินจากเจ้าหนี้นอกระบบ ก็สามารถนำกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีอยู่มาเป็นหลักประกันในการกู้ยืม หรือเรียกว่า “การกู้เงินตามกรมธรรม์” ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยไม่สูงนัก และผู้กู้ยังคงได้รับความคุ้มครองจากประกันชีวิตเหมือนเดิม จึงนับเป็นแหล่งกู้ยืมเงินที่น่าสนใจ
แต่หลายคนมักไม่ค่อยรู้สิทธิประโยชน์ของประกันชีวิตในส่วนนี้ ซึ่งรายละเอียดการกู้ยืมเงินตามกรมธรรม์เป็นอย่างไรนั้นลองมาดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่
การกู้เงินตามกรมธรรม์ กู้ได้เมื่อไร
กรมธรรม์ประกันชีวิตที่ผู้ทำประกันสามารถใช้กู้เงินจากบริษัทได้นั้น ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับ และผู้ทำประกันจะต้อง
1. ยังไม่ได้ใช้สิทธิเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ (การเปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ คือ การหยุดชำระเบี้ยประกัน โดยวงเงินคุ้มครองลดลง แต่ระยะเวลาคุ้มครองเท่าเดิม
2. ยังไม่มีการแปลงเป็นกรมธรรม์ขยายเวลา (การแปลงเป็นกรรมธรรม์ขยายเวลา คือ การหยุดชำระเบี้ยประกัน โดยวงเงินคุ้มครองเท่าเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองลดลง)
นอกจากนี้ ไม่ใช่ว่าเมื่อทำประกันชีวิตแล้ว จะสามารถขอกู้เงินตามกรมธรรม์ได้เลย เพราะต้องรอให้กรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเกิดขึ้นก่อน ซึ่งโดยทั่วไปมูลค่าเงินสดจะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นปีกรมธรรม์ที่ 2 โดยรูปแบบประกันชีวิตที่มีมูลค่าเงินสด ได้แก่
1. แบบสะสมทรัพย์
2. แบบตลอดชีพ
3. แบบบำนาญ
การกู้เงินตามกรมธรรม์ กู้ได้เท่าไร
วงเงินกู้ตามกรมธรรม์ที่ได้รับนั้นขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยด้วยกันคือ
1. มีมูลค่าเวนคืนเท่าไร
2. บริษัทประกันกำหนดให้กู้ได้เท่าไรของมูลค่าเวนคืน
โดยสามารถดูมูลค่าเวนคืนที่เกิดขึ้นได้ในสัญญากรมธรรม์ ซึ่งระบุว่า ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่เท่าไร จะมีมูลค่าเวนคืนเท่าไรต่อจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท
ยกตัวอย่างเช่น หากทำประกันไปแล้วครบ 5 ปี (สิ้นปีกรมธรรม์ที่ 5) ในตารางมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 57 หมายความว่า เงินเอาประกันภัย 1,000 บาท กรมธรรม์นี้มีมูลค่าเวนคืน 57 บาท
ดังนั้น ถ้าทำประกันโดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัย 1 ล้านบาท จะมีมูลค่าเวนคืนเท่ากับ 57,000 บาท ส่วนกู้ยืมได้เท่าไร ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขกรมธรรม์ โดยทั่วไปจะกู้ได้ไม่เกินมูลค่าเวนคืนที่มีอยู่ในขณะนั้น หักด้วยหนี้สินที่ค้างอยู่กับบริษัทประกัน

การกู้เงินตามกรมธรรม์ กู้แล้วจ่ายคืนอย่างไร
การกู้เงินตามกรมธรรม์ บริษัทประกันจะคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยอีกประมาณ 2% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยของแต่ละกรมธรรม์จะแตกต่างกัน
วิธีคำนวณง่าย ๆ หากอัตราดอกเบี้ยที่ใช้ในการคำนวณเบี้ยประกันภัยอยู่ที่ 5% ต่อปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะประมาณ 7% ต่อปี
ยกตัวอย่างเช่น หากกู้เงินตามกรมธรรม์ 50,000 บาท บริษัทประกันคิดอัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี การคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้จะเป็นดังนี้
อัตราดอกเบี้ยต่อวันคือ
50,000 x 7% / 365 = 9.59 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่จะเดินไปในแต่ละวัน
หากกู้เงินมาแล้วเป็นเวลา 30 วัน และต้องการปิดหนี้ทั้งหมด ดอกเบี้ย 30 วัน จะเท่ากับ
9.59 x 30 = 287.67 บาท
ดังนั้น ต้องชำระเงินทั้งหมดคือ
50,000 + 287.67 = 50,287.67 บาท
แต่ในกรณีจ่ายชำระบางส่วน เช่น ผ่านไป 30 วัน นำเงินมาชำระ 10,000 บาท บริษัทจะนำไปหักออกจากเงินต้นก่อน ทำให้เงินต้นคงเหลือ
50,000 – 10,000 = 40,000 บาท
ดังนั้น ดอกเบี้ยต่อวัน หลังจากชำระเงินจำนวน 10,000 บาท จะเท่ากับ
40,000 x 7% / 365 = 7.67 บาทต่อวัน
ทั้งนี้ หากอีก 30 วันต่อมา ต้องการปิดภาระหนี้ทั้งหมด จะต้องชำระเงินจำนวน
40,000 + 287.67 + 230.10 = 40,517.77 บาท
(40,000 คือ เงินต้นคงเหลือ 287.67 คือ ดอกเบี้ย 30 วันแรกคิดจากเงินต้น 50,000 บาท 230.10 คือ ดอกเบี้ย 30 วัน หลังคิดจากเงินต้น 40,000 บาท)

การกู้เงินตามกรมธรรม์จัดเป็นเงินกู้แบบลดต้นลดดอก เพราะเมื่อมีการจ่ายชำระเงิน (บางส่วน) บริษัทจะนำไปหักออกจากเงินต้นก่อนคำนวณดอกเบี้ยใหม่
ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่ค้างอยู่จะกลับไปรวมเป็นเงินต้น (ทบต้น) เมื่อครบรอบปีกรมธรรม์ (ไม่ใช่ครบรอบการกู้ 1 ปี) ดังนั้น หากไม่ต้องการให้ดอกเบี้ยทบต้น แนะนำให้จ่ายคืนหนี้ให้หมดก่อนครบรอบปีกรมธรรม์
โดยสิ่งสำคัญต้องดูแลการชำระเงินให้ดี เพราะเมื่อใดที่เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยค้างชำระมีมูลค่ามากกว่าเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ในขณะนั้น กรมธรรม์จะสิ้นผลบังคับซึ่งเท่ากับว่าความคุ้มครองจะหมดไป
ประกันชีวิตจัดเป็นแหล่งเงินกู้ยืมที่น่าสนใจ โดยผู้กู้สามารถนำเงินที่ได้รับไปใช้จ่ายได้ยามเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยดอกเบี้ยกู้ยืมไม่สูงนักเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อบุคคลทั่วไป และผู้กู้ยังได้รับความคุ้มครองชีวิตเช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม หากต้องการกู้เงินตามกรมธรรม์ แนะนำให้สอบถามบริษัทประกัน จะได้รู้จำนวนเงินที่สามารถกู้ได้ และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมที่แน่นอน
เรื่องควรรู้ก่อนทำประกันชีวิต
ก่อนการทำประกันชีวิตไม่ว่าจะรูปแบบใดมีสิ่งที่คุณควรรู้ ดังนี้
1. ค่าเบี้ยประกันควรอยู่ที่เท่าไหร่
ก่อนทำประกันควรคำนึงถึงความสามารถทางการเงินของตนเองเป็นหลัก โดยปกติค่าเบี้ยประกันที่แนะนำจะอยู่ที่ 10%-15% ของรายได้ต่อปี เช่น หากมีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน รายได้ต่อปีจะอยู่ที่ 180,000 บาท เบี้ยประกันที่แนะนำก็คืออยู่ระหว่าง 24,000-36,000 บาทต่อปี (ยังไม่รวมภาระหนี้สินอื่น ๆ)
2. หากจ่ายค่าเบี้ยประกันต่อไปไม่ไหวต้องทำอย่างไร
โดยปกติกรมธรรม์ทุกฉบับ จะมีแนวทางให้เลือก 3 แบบ ดังนี้
– การเวนคืนกรมธรรม์ (ยกเลิกกรมธรรม์) มีผลให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลง และจะได้รับเงินคืนตามที่ระบุไว้ในตารางเวนคืนกรมธรรม์
– การใช้เงินสำเร็จ ผู้ถือกรมธรรม์ยังได้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์อยู่ แต่จำนวนเงินเอาประกันจะลดลง
– การขยายเวลา จำนวนเงินเอาประกันภัยจะเท่าเดิม แต่ระยะเวลาคุ้มครองจะน้อยลง
3. ยกเลิกประกันทำอย่างไร
การยกเลิกประกันนั้น ที่จริงแล้วเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมของตัวผู้ทำประกันเอง ตัวแทนมีหน้าที่เพียงประสานงานและคอยอำนวยความสะดวกในเรื่องเอกสารและการติดต่อกับบริษัทประกันให้เท่านั้น ดังนั้นถ้าตัวแทนไม่ยกเลิกให้ ผู้ทำประกันสามารถแจ้งยกเลิกโดยตรงที่บริษัทประกันได้ เมื่อยกเลิกเรียบร้อยจะได้รับเอกสารให้เก็บหลักฐานการยกเลิกนั้นไว้ด้วย
หากเป็นกรณีที่เพิ่งทำประกัน หากได้รับกรมธรรม์แล้ว ข้อตกลงไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ หรืออยากเปลี่ยนไปไม่ทำประกัน ให้รีบส่งคืนกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์ ซึ่งบริษัทจะคืนเบี้ยประกันที่เหลือจากการหักค่าตรวจสุขภาพที่จ่ายตามจริง (ถ้ามี) และค่าใช้จ่ายของบริษัทฉบับละ 500 บาท
บางคนอาจจะคิดว่าถ้าอยากยกเลิกประกันก็เพียงแค่ไม่จ่ายเบี้ยประกันเท่านั้น ประกันจะยกเลิกไปเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บางประกันมีรายละเอียดในกรมธรรม์ที่ระบุกรณีที่ผู้ทำประกันขาดส่งเบี้ยประกันให้บริษัทเป็นเงินสด บริษัทประกันสามารกู้เงินจากมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์มาจ่ายเบี้ยประกันได้อัตโนมัติ เพื่อไม่ให้กรมธรรม์หมดอายุ ซึ่งหากเป็นกรณีนี้ทำให้ผู้ทำประกันเสียทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย
เรื่องข้างต้นเขียนครั้งแรกโดย k-expert และแก้ไขเพิ่มเติมโดย DDproperty
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า