ปัญหาภัยพิบัติอย่างหนึ่งที่แวะเวียนมาเยี่ยมโดยไม่ได้รับเชิญอยู่บ่อย ๆ คือ น้ำท่วม จากปริมาณน้ำฝน และการอุดตันของท่อระบายน้ำ จากปัญหาขยะมูลฝอย ส่งผลให้เราเห็นภาพน้องน้ำรอการระบาย จนบ้านเรือนเสียหายกันจนชินตา
ถ้าไม่อยากให้บ้านหลังงามถูกน้ำท่วมเสียหาย โดยเจ้าของบ้านต้องแบกรับค่าเสียหายแต่เพียงลำพัง ประกันภัยพิบัติ จึงนับเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งในการช่วยคุ้มครองในทรัพย์สิน และเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินในเบื้องต้นเมื่อเกิดน้ำท่วม
ทำความรู้จักประกันภัยพิบัติ
จากวิกฤติระดับประเทศอย่างน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลได้มีการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ” ขึ้นตามพระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยการรับประกันภัย และการทำประกันภัยต่อ และให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยจัดให้มีการรับประกันภัยในจำนวนสูงสุด (Capacity) ในอัตราเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความคุ้มครองภัยพิบัติได้อย่างทั่วถึง
ประกันภัยพิบัติคุ้มครองอะไรบ้าง
กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติจะให้ความคุ้มครองภัยพิบัติ 3 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ โดยคำจำกัดความของคำว่า “ภัยพิบัติ” หมายถึง ภัยธรรมชาติที่เข้าลักษณะความรุนแรงถึงขั้นเป็นภัยพิบัติ ดังนี้
– คณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรง ตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ
– กรณีค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป หรือ
– กรณีธรณีพิบัติ ความรุนแรงของแผ่นดินไหวตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป หรือ
– กรณีวาตภัย ความเร็วของลมพายุตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป
รูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ จะเป็นแบบจำกัดความรับผิด (Sub Limit) โดยมีความคุ้มครอง ดังนี้
บ้านอยู่อาศัย
"กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และภัยพิบัติ สำหรับที่อยู่อาศัย" จะให้ความคุ้มครองภัยพิบัติโดยอัตโนมัติในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท
0.5%
ธุรกิจ SME ทุนประกันภัยไม่เกิน 50 ล้านบาท
"กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ" ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองภัยพิบัติโดยมีการจำกัดความรับผิดไม่เกิน 30% ของทุนประกันภัย
1%
อุตสาหกรรม
"กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ" ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองภัยพิบัติโดยมีความจำกัดความรับผิดไม่เกิน 30% ของทุนประกันภัย
1.25%
หมายเหตุ: การจำกัดความรับผิด (Sublimit) หมายความว่า การจำกัดความรับผิด ในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย
DDproperty Tip
สามารถซื้อความคุ้มครองบ้านที่อยู่อาศัยจากกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ มากกว่า 100,000 บาท หรือน้อยกว่า 100,000 บาท ได้ แบ่งเป็น
- กรณีซื้อความคุ้มครองน้อยกว่า 100,000 บาท เช่น 80,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะจ่ายเบี้ยประกันภัย 400 บาท
- กรณีที่ซื้อความคุ้มครองเกิน 100,000 บาท ในส่วนความคุ้มครองที่เกิน ให้ติดต่อบริษัทประกันภัยโดยตรง ซึ่งบริษัทประกันภัยจะคิดอัตราเบี้ยประกันภัยตามอัตราตลาด
วิธีจ่ายค่าสินไหมทดแทน
ผู้เอาประกันที่ประสบภัยพิบัติต้องยื่นหลักฐานรูปถ่ายบ้านน้ำท่วม พร้อมกับกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัย และภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัย ต่อบริษัทประกันภัย
บริษัทประกันภัยจะเข้าสำรวจและประเมินความเสียหาย โดยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามกรรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ
ยกเว้นกรณีอุทกภัยในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย เนื่องจากมีผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จึงจะพิจารณาที่ระดับน้ำเป็นเกณฑ์
บ้านอยู่อาศัย
- น้ำท่วมพื้นภายในบ้านความคุ้มครอง 30% ของวงเงินการจำกัดความรับผิด
- น้ำท่วม 50 ซม. ความคุ้มครอง 50% ของวงเงินการจำกัดความรับผิด
- น้ำท่วม 75 ซม. ความคุ้มครอง 75% ของวงเงินการจำกัดความรับผิด
- น้ำท่วม 100 ซม. ความคุ้มครอง 100% ของวงเงินการจำกัดความรับผิด
ไม่มี
ธุรกิจ SME และอุตสาหกรรม
บริษัทประกันภัยจะเข้าสำรวจ และประเมินความเสียหาย โดยจะจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินจำกัดความรับผิดชอบของกรมธรรม์ประกันภัย
5% ของการจำกัดความรับผิดชอบ
DDproperty Tip
กรณีน้ำท่วมรอบบริเวณบ้านสูงประมาณ 70 ซม. แต่น้ำไม่เข้าตัวบ้าน จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากกรรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ และหากน้ำท่วมเฉพาะโรงรถไม่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ เพราะโรงรถไม่ได้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย
ซื้อประกันภัยพิบัติได้ที่ไหน
ผู้สนใจสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติได้จากบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ หากกรณีบริษัทรับประกันภัยปฏิเสธการขายกรมธรรม์ หรือการชำระค่าสินไหมทดแทน ผู้เอาประกันภัยสามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงาน คปภ.ส่วนกลาง สำนักงาน คปภ. เขต และสำนักงาน คปภ. จังหวัดทั่วประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันภัย โทร. 1186 และเว็บไซต์ www.oic.or.th
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า