“บ้านก็ราคาไม่น้อย ทำไมยังจะบังคับให้ซื้อประกันอัคคีภัยเพิ่มอีก” นี่คือคำถามคาใจของผู้ซื้อหลาย ๆ คน ที่ถูกบังคับให้ทำประกันอัคคีภัยบ้านพร้อมสัญญาเงินกู้ซื้อบ้าน จนรู้สึกหงุดหงิดที่ธนาคารไม่ถามหาความสมัครใจในการทำประกันบ้านจากตนเองก่อน แต่ในความเป็นจริงผู้ซื้อจะต้องทำประกันอัคคีภัยบ้านตามที่ถูกบังคับหรือไม่ แล้วเบี้ยประกันบ้านจะแพงแค่ไหน บทความนี้จะไขข้อข้องใจให้ทุกคนเอง
ประกันอัคคีภัยบ้านคืออะไร
ประกันอัคคีภัยบ้าน คือ ประกันวินาศภัยประเภทหนึ่งที่คุ้มครองความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ โดยครอบคลุมความเสียหายที่เกิดจากธรรมชาติและเหตุสุดวิสัยจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า ฟ้าผ่า ไฟฟ้าลัดวงจร หรือเหตุเพลิงไหม้จากแก๊สหุงต้ม แต่ประกันอัคคีภัยจะครอบคลุมทรัพย์สินในบ้านมากน้อยเพียงใด และครอบคลุมทรัพย์สินในบ้านด้วยหรือไม่ ก็ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละประกันด้วย
จำเป็นต้องทำประกันอัคคีภัยบ้านหรือไม่
จำเป็นต้องทำ เมื่อกู้ซื้อบ้านกับธนาคาร
ผู้ที่ขอกู้ซื้อบ้านกับธนาคารทุกคนจะถูกบังคับทำประกันอัคคีภัยบ้านตามกฎหมาย เพื่อใช้เป็นหลักประกันให้กับธนาคารในกรณีที่บ้านเกิดความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ จึงเป็นเหตุผลที่ผู้กู้ซื้อบ้านจะถูกบังคับให้ทำประกันอัคคีภัยพร้อมกับการซื้อบ้านทุกครั้งโดยปฏิเสธไม่ได้ และจำเป็นต้องต่อประกันอัคคีภัยในระหว่างการผ่อนบ้านจนกว่าจะหมดสัญญาด้วย
ไม่จำเป็นต้องทำ เมื่อซื้อบ้านเงินสด
กฎหมายไม่ได้บังคับให้ผู้ที่ซื้อบ้านด้วยเงินสดต้องทำประกันอัคคีภัยบ้าน ผู้ซื้อบ้านเงินสดจึงไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อประกันเพิ่ม แต่ทั้งนี้ เจ้าของบ้านก็ควรทำประกันไว้ด้วยเพื่อความอุ่นใจ เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดเพลิงไหม้ขึ้นเมื่อใด หรือจะมีไฟลุกลามมาจากบ้านข้าง ๆ หรือไม่ หากมีประกันติดบ้านไว้ เงินสินไหมทดแทนก็จะช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
ถึงแม้กฎหมายไม่ได้บังคับทำประกันอัคคีภัย แต่เจ้าของบ้านควรทำป้องกันไว้เพื่อความปลอดภัย จากเหตุไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้
ต้องจ่ายเบี้ยประกันอัคคีภัยบ้านเท่าไร
เบี้ยประกันอัคคีภัยบ้านของแต่ละบริษัทประกันนั้นไม่เท่ากัน แต่โดยทั่วไปแล้ว เบี้ยประกันต่อปีจะคิดประมาณ 0.1% จากทุนประกัน เช่น ต้องการทุนประกันบ้านราคา 3 ล้านบาท ผู้ซื้อก็ต้องจ่ายเบี้ยประกัน 3,000 บาทต่อปี โดยเบี้ยประกันอัคคีภัยบ้านจะถูกลง หากซื้อประกันให้ครอบคลุมต่อเนื่อง 2-3 ปี
แต่ในทางกลับกัน เบี้ยประกันบ้านจะแพงขึ้น หากผู้ซื้อต้องการความคุ้มครองอื่นนอกจากเหตุเพลิงไหม้ เช่น ต้องการให้ประกันคุ้มครองความเสียหายจากอุทกภัย (น้ำท่วม) หรือความเสียหายจากการโจรกรรม โดยผู้ซื้อสามารถขอให้บริษัทประกันออกแบบความคุ้มครองได้ตามความต้องการ
ต้องทำประกันอัคคีภัยบ้านกับใคร
ตามปกติแล้ว เมื่อมีการตกลงทำสัญญากู้ซื้อบ้าน ธนาคารเจ้าของสัญญาจะเป็นผู้เสนอประกันอัคคีภัยบ้านจากบริษัทในเครือหรือพันธมิตรของตนเอง และให้ผู้ซื้อทำสัญญาพร้อมกันในคราวเดียว แต่ถ้ารู้สึกว่าประกันบ้านที่ธนาคารเสนอมีเงื่อนไขที่ไม่ดีพอ ผู้ซื้อก็สามารถเลือกทำประกันกับบริษัทอื่นได้ แต่ธนาคารเจ้าของสัญญาจะต้องเป็นผู้รับผลประโยชน์จากประกันนั้น ธนาคารเจ้าของสัญญาจึงยอมรับได้
ควรเลือกประกันอัคคีภัยบ้านอย่างไร
ตามกฎหมายประกันอัคคีภัยบ้าน หากมีความเสียหายที่อยู่ในความคุ้มครองของประกันประเภทนี้ ผู้ซื้อจะได้รับสินไหมทดแทนตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินมูลค่าของที่อยู่อาศัยและทุนประกัน ดังนั้น ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องทำประกันเกินมูลค่าบ้านแต่อย่างใด เช่น บ้านราคา 3 ล้านบาท แต่เลือกทุนประกัน 5 ล้านบาท หากเกิดความเสียหายทั้งหมด ก็จะได้รับสินไหมทดแทนสูงสุดเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น
แต่ทั้งนี้ ผู้กู้ก็ควรเลือกทุนประกันที่คุ้มครองไม่น้อยกว่า 70% ของมูลค่าบ้าน เช่น บ้านราคา 3 ล้านบาท ก็ควรเลือกทุนประกันอย่างน้อย 2.1 ล้านบาท หากเกิดความเสียหาย ผู้ซื้อก็จะได้สินไหมทดแทนเต็ม 100% จากมูลความเสียหายที่ไม่เกินทุนประกัน แต่ถ้าเลือกทุนประกันต่ำกว่านั้น สินไหมทดแทนจะลดลงตามสัดส่วนของทุนประกัน เช่น เลือกทุนประกัน 60% หากเกิดความเสียหาย ก็จะได้รับสินไหมทดแทนเพียง 60% จากมูลค่าความเสียหายที่ไม่เกินทุนประกันเท่านั้น
ประกันอัคคีภัยบ้านถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยคุ้มครองความเสียหายของบ้านเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ และยังเป็นประกันวินาศภัยที่คุ้มค่า ด้วยเบี้ยประกันอัคคีภัยบ้านเพียงล้านละหลักพันเท่านั้น ไม่ว่าจะบ้านเก่าหรือบ้านใหม่
หากไม่ได้ถูกบังคับให้ทำประกันตามเงื่อนไขของธนาคาร ก็ยังขอแนะนำให้ทำประกันอัคคีภัยไว้เพื่อความอุ่นใจ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันจนบ้านได้รับความเสียหาย ก็ยังมีเงินสินไหมทดแทนช่วยเยียวยา
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า