หนัง หรือ ภาพยนตร์ นอกจากจะให้ความสนุกเพลิดเพลินแล้ว หลายครั้งที่หนังสร้าง Inspiration ให้กับคนดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังที่มักมีความเกี่ยวข้องกับอาชีพหรือการสร้างสรรค์ไอเดีย ซึ่ง “App War แอปชนแอป” จัดอยู่ในหมวดดังกล่าว วันนี้ K-Expert จะพาเราไปตกตะกอนถอดความคิด 5 ข้อคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจเริ่มทำธุรกิจ
1) ไอเดียธุรกิจมีอยู่รอบตัวเรา หลายครั้งที่ไอเดียและโอกาสทางธุรกิจวิ่งเข้าหาเราโดยไม่รู้ตัว อยู่ที่ว่าเรามองเห็นและคว้าได้หรือไม่
ไอเดียหรือโอกาสที่ว่า คือ การมองเห็น Pain Point (ความเจ็บปวด) ของลูกค้า และการมีแรงบันดาลใจที่จะแก้ไข Pain Point เหล่านั้น อย่างเช่น พระเอก(บอมบ์) และนางเอก(จูน) มองเห็น Pain Point เดียวกันคือ การหาเพื่อนที่มีความชอบในกิจกรรมเดียวกันและเวลาเดียวกันไม่ใช่เรื่องง่าย เช่น อาหารอินเดีย ต่อให้มีเพื่อนที่ชอบทานเหมือนกัน แต่ก็ใช่ว่าจะว่างมาทานด้วยกันทุกครั้งที่ชวน จึงเป็นที่มาของการสร้าง inviter App และ Amjoin App ของพระเอกและนางเอกตามลำดับ ซึ่งเป็นแอปในการค้นหาและสร้างสังคมของกลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนกัน
บทความเหล่านี้อาจเป็นบทความที่คุณสนใจ
2) ทีมเวิร์คเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะธุรกิจหนึ่งไม่สามารถดำเนินและเติบโตด้วยคนแค่คนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทีมงาน โดยต้องแบ่งความรับผิดชอบตามทักษะและความเหมาะสม เช่น ทีม inviter App ของทีมพระเอกที่มี Co-Founder 3 คน แต่ละคนได้รับมอบหมายหน้าที่ที่ต่างกัน ได้แก่ “บอมบ์” ทำหน้าที่โปรแกรมเมอร์ “ไต๋” ทำหน้าที่ออกแบบ “บิ๊ว” ทำหน้าที่ด้านการตลาดและหาเงินทุน แม้แต่ละคนได้รับมอบหมายหน้าที่ของตนเองแล้ว แต่วัฒนธรรมหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการทำงานของทีมงานทั้ง 2 แอป คือ การร่วมกันตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับแอปและธุรกิจตนเอง
3) เพื่อนรักอาจไม่ใช่หุ้นส่วนที่ดี
ในช่วงต้นของหนัง แม้ทั้งทีม inviter App และทีม Amjoin App จะมีทีมเวิร์คที่แข็งแกร่งเพราะ Co-Founder ทุกคนมีพื้นฐานการเป็นเพื่อนรักกันมาก่อน แต่ในช่วงกลางของหนังเริ่มพบสัญญาณความไม่ตรงกันในแนวคิดของสมาชิกในทีม และปัญหาเริ่มก่อตัวเมื่อแต่ละคนไม่เปิดใจถึงปัญหาเหล่านั้นหรือรวมถึงความมุ่งมั่นในความคิดของตนเองเป็นหลัก โดยไม่สนใจความรู้สึกและความเห็นเพื่อนร่วมทีม จนตอนท้ายแต่ละทีมก็เกือบต้องยุติธุรกิจของตนเอง และนำไปสู่ความล้มเหลวของทีมในที่สุด ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ก่อตั้ง (Co-Founder) ควรเริ่มต้นจากความเหมาะสมทางธุรกิจ ไม่ใช่เริ่มแต่เพียงความสนิทหรือคุ้นเคยกันเท่านั้น
4) ทำธุรกิจต้องมีเป้าหมาย
อย่างเช่น ทีม inviter App ที่ Co-Founder ทุกคนพร้อมใจกันตั้งเป้าหมายว่าภายใน 1 ปี ต้องระดมเงินทุนระดับ Series A หรือการพัฒนาแอปจนถึงขั้นทำการตลาดและสามารถหารายได้จากตัวแอปเองได้ จึงเป็นที่มาของการระดมศักยภาพ ทรัพยากร รวมถึงกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้แอปของตนเองไปถึงเป้าหมายนั้น จนในที่สุด inviter App ก็สามารถพัฒนาได้เหนือกว่าคู่แข่งอย่าง Amjoin App ดังนั้น เป้าหมายทางธุรกิจที่ชัดเจนที่สามารถวัดผลความก้าวหน้าและเป็นไปได้จริง ภายในระยะเวลาที่ตั้งไว้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จทางธุรกิจ
5) เมื่อถึงจุดเปลี่ยน ธุรกิจก็ต้องพร้อมเปลี่ยน
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากตอนท้ายของหนังเรื่องนี้ คือ การที่ บอมบ์และบิ๊ว ถกกันอย่างหนักถึงการเปลี่ยนแปลง Core Business ของ inviter App จากแอปหาเพื่อนที่ชอบสิ่งเดียวกัน ไปเป็นแอปหาคู่รักที่ชอบสิ่งเดียวกันแทน เพระ Core Business เดิมเริ่มมีข้อจำกัดในการขยายฐานผู้ใช้งาน โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการต่อยอดจุดแข็งธุรกิจเดิมไปเป็นธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสทางธุรกิจที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มีความเสี่ยงสูงที่อาจต้องทิ้งฐานผู้ใช้งานหรือลูกค้ากลุ่มเดิม และไปเริ่มต้นหาผู้ใช้รายใหม่ แต่ด้วยคำกล่าวของ “แทนไท” นักธุรกิจ Startup รุ่นพี่ ที่ว่า “ธุรกิจ Startup นั้นมีความเสี่ยง ตั้งแต่พวกคุณเริ่มคิดทำธุรกิจแล้ว” ที่แสดงถึงแนวคิดการทำธุรกิจที่ว่าต้องพร้อมพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเพื่อการเติบโตอยู่เสมอ โดยความเสี่ยงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องพิจารณา แต่ไม่ใช่อุปสรรคของการเติบโต
นอกจาก 5 ข้อคิดเพื่อเริ่มธุรกิจข้างต้นแล้ว หนัง App War ยังให้อีกหนึ่งข้อคิดเกี่ยวกับเงินทุนเริ่มต้นธุรกิจด้วย จากที่จูน(นางเอก) ได้นำเงินลงทุนก้อนแรกมาจากคุณพ่อมาตั้งธุรกิจ ที่แม้เป็นแหล่งเงินทุนที่ง่ายและต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุดในการทำธุรกิจ แต่ก็ถือว่าแทบเป็นทางเลือกเดียวของจูนในการเริ่มต้นธุรกิจ เพราะสำหรับคนเริ่มต้นธุรกิจ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนหลักอย่างการ
ขอสินเชื่อธนาคารนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะธนาคารมักพิจารณาให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่ดำเนินกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
ดังนั้น สำหรับผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจ อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือการเดิน Statement บัญชีธนาคาร การจดทะเบียนพาณิชย์ และการยื่นภาษีอย่างถูกต้อง ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจเพื่อเตรียมตัวเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ เมื่อความพร้อมและโอกาสของธุรกิจมาถึง รวมถึงการบริหารเงินโดยแยกเงินส่วนตัวออกจากธุรกิจ และการกันเงินสำรองให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายส่วนตัวอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่า แม้เดือนไหนที่ธุรกิจไม่ได้ราบรื่นอย่างที่หวัง ก็จะ ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายส่วนตัวในช่วงเวลาดังกล่าว
หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อบ้าน คู่มือซื้อขาย สามารถเป็นตัวช่วยตอบได้ทุกคำถาม และหากสนใจลงทุนในธุรกิจอสังหาฯ อย่างจริงจังเราแนะนำให้ศึกษาและอัพเดทข้อมูลภาพรวมตลาดอสังหาฯ จาก DDproperty Market Outlook ที่นำเสนอทั้งข้อมูลดัชนีราคา ดัชนีฝั่งอุปทานภาพตลาดที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ และ DDproperty Property Index ที่นำเสนอแนวโน้มราคาปัจจุบัน เพื่อช่วยให้การลงทุนครอบคลุมทุกมิติยิ่งขึ้น
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดยนายราชันย์ ตันติจินดา CFP® K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ