มั่นใจได้เลยว่า “ปัญหาสูบบุหรี่บนระเบียงห้องชุด” เป็นหนึ่งในปัญหาการอยู่อาศัยร่วมกันในอาคารชุดที่ร้อนแรง และมีหลากข้อถกเถียง ทั้งจากฝั่งผู้สูบบุหรี่ และผู้ไม่สูบบุหรี่ ว่า การสูบบุหรี่เป็นสิทธิ์ที่เจ้าของร่วมสามารถกระทำได้หรือไม่ หรือการสูบบุหรี่บนระเบียงห้องชุดสามารถใช้ระเบียบข้อบังคับนิติบุคคลลงโทษเอาผิดได้หรือไม่
บทความนี้ผู้เขียนใช้เวลาพอสมควรในการหาข้อมูลที่รอบด้านมากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด โดยประเด็นเรื่องการสูบบุหรี่ที่ถกเถียงกันมากที่สุด ก็คือ เจ้าของร่วมที่สูบบุหรี่จะมองว่า การสูบบุหรี่เป็นสิทธิ์ที่ตนพึงกระทำได้ โดยเฉพาะเมื่อยืนอยู่ในห้องชุดของตนเอง ส่วนเจ้าของร่วมใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบจากกลิ่นไม่พึงประสงค์ของบุหรี่ จะมองว่า แม้เจ้าของร่วมผู้สูบบุหรี่จะยืนสูบบุหรี่อยู่บนระเบียง ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในห้องชุด แต่ควันบุหรี่ กลิ่นบุหรี่ที่ลอยมา ก็ส่งผลกระทบกับเพื่อนบ้านห้องใกล้เคียงอย่างเลี่ยงไม่ได้

สิทธิ์ของเรา กระทบเขา
ข้อคิดเห็นที่มองต่างมุมกัน ย่อมทำให้กลายเป็นปัญหาลุกลามใหญ่โตในโครงการอาคารชุดหลายแห่ง ในเชิงกฎหมายแล้ว แม้ว่าพื้นที่ระเบียงห้องชุด ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล จะไม่ได้จัดอยู่ใน 5 พื้นที่ปลอดบุหรี่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 แต่ควันบุหรี่ที่ลอยไปกระทบเพื่อนบ้าน ก็ถือเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบกับผู้อื่น หรือจะสรุปสั้นๆ ก็คือ สิทธิ์ของเราในการสูบบุหรี่ ก็ต้องไม่ส่งผลระทบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เจ้าของร่วมผู้สูบบุหรี่ ก็ไม่ควรมองข้ามในประเด็นนี้
ก้นบุหรี่ตกลงระเบียงเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ก้นบุหรี่ตกลงไปยังห้องเพื่อนบ้านด้านล่าง ที่ถือว่ามีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดเพลิงไหม้ หรือข้าวของของห้องเพื่อนบ้านด้านล่างเสียหายได้ เพราะผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะใช้พื้นที่ระเบียงในการตากผ้า วางของต่างๆ หรือจัดเป็นมุมนั่งเล่นอ่านหนังสือ ถ้ามีบุหรี่ลอยตกลงมา ก็มีโอกาสเสียหาย กรณีนี้ถือว่าเป็นการล่วงล้ำสิทธิ์ของผู้อื่นอย่างแท้จริงแล้ว ซึ่งผู้เสียหายสามารถที่จะเอาผิดจากเจ้าของร่วมผู้สูบบุหรี่ได้ ดังนั้น เป็นสิ่งที่เจ้าของร่วมที่สูบบุหรี่ต้องระมัดระวัง
ในเชิงการลงโทษ เอาผิดเจ้าของร่วมที่สูบบุหรี่นั้น หากวิเคราะห์จากกฎหมาย พ.ร.บ.อาคารชุดแล้ว มีการระบุไว้ว่า คณะกรรมการสามารถออกระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติในการอยู่อาศัยร่วมกัน แต่ระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ต้องการความคิดเห็นจากเจ้าของร่วมจะต้องได้รับมติเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่นิติบุคคลอาคารชุดตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามพ.ร.บ.อาคารชุด นั่นก็หมายความว่า นิติบุคคลอาคารชุดแต่ละแห่งสามารถออกระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ได้
แต่เนื่องจากประเด็นเรื่องการสูบบุหรี่ มีความเห็นต่างจากทั้งกลุ่มที่สูบบุหรี่ และไม่สูบบุหรี่ และยังคลุมเครือเรื่องสิทธิ์ที่ทำได้หรือไม่ได้ นิติบุคคลอาคารชุดส่วนใหญ่จึงไม่ได้ออกระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งด้วยถ้อยคำว่า “ห้ามสูบบุหรี่บนระเบียง”
อย่างไรก็ตาม นิติบุคคลอาคารชุดหลายแห่ง จะใช้การสื่อสารในเชิงรณรงค์ หรือขอความร่วมมือด้วยถ้อยคำว่า “งดสูบบุหรี่บนระเบียง” หรือ “โปรดงดสูบบุหรี่บนระเบียง” แทน พร้อมกับให้เหตุผลด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัย
ขณะที่ กรณีทิ้งก้นบุหรี่ อันนี้เป็นความเสียหายที่เห็นชัดเจน และเกิดผลกระทบที่มีหลักฐานความเสียหายเกิดขึ้นจริง อีกทั้ง ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ได้ ดังนั้น หลายนิติบุคคลอาคารชุด จึงมีระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่ง “ห้ามทิ้งก้นบุหรี่ออกนอกระเบียง” พร้อมทั้งมีคำสั่งปรับหากละเมิดระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งดังกล่าว
การออกระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งของนิติบุคคลอาคารชุดเกี่ยวกับเรื่องการสูบบุหรี่ส่วนใหญ่จึงแบ่งออกเป็น 2 ใจความหลัก คือ “โปรดงดสูบบุหรี่บนระเบียง” และ “ห้ามทิ้งก้นบุหรี่ออกนอกระเบียง เพราะอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ หากละเมิด ถูกปรับ xxx บาท”
แล้วถ้าไม่พูดกันด้วยกฎหมาย แต่พูดกันด้วย “กฎในการอยู่ร่วมกัน” ก็ต้องควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา เจ้าของร่วมที่สูบบุหรี่ ควรระมัดระวังการสูบบุหรี่บนระเบียง เพราะไม่เพียงแต่สุขภาพของเพื่อนบ้าน แต่ยังเพื่อความปลอดภัยด้วย โดยเฉพาะก้นบุหรี่ ไม่ควรทิ้งออกนอกระเบียงเลย ส่วนเจ้าของร่วมที่ไม่สูบบุหรี่และได้รับผลกระทบ ก็ควรหาโอกาสในการหารือทำความเข้าใจ ขอความร่วมมือ อาจจะให้ผู้จัดการนิติบุคคลส่วนเป็นตัวกลางในการเจรจา เพื่อหาจุดตรงกลางที่จะอยู่อาศัยร่วมกันได้อย่างเป็นสุข
อัพเดท ข่าวอสังหาริมทรัพย์ สดใหม่ทุกวัน พร้อมส่งตรงถึงอีเมล์ของคุณฟรี สมัครได้ที่นี่ หรือหากคุณกำลังมองหาบ้านคอนโด ก็สามารถเลือกชม โครงการใหม่ พร้อม รีวิวโครงการคอนโดใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคาได้เช่นกัน
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ