เมื่อไม่นานมานี้เราอาจจะได้เห็นข่าวว่าโกดังเก็บของข้างคอนโดแห่งหนึ่งติดป้ายผ้าเป็นรูปน่ากลัวเพื่อให้คนที่อยู่อาศัยบนคอนโดเห็น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างคอนโด แต่ยังไม่ได้รับการชดใช้ ก็เกิดคำถามขึ้นว่าเราสามารถติดป้ายที่รบกวนสายตาและจิตใจของเพื่อนบ้านอย่างนี้ในบ้านเราได้หรือไม่ วันนี้ผมจึงอยากจะชวนผู้อ่านมาคุยกันในเรื่องนี้กัน
การใช้สิทธิเกินส่วนคืออะไร
ก่อนที่เราจะไปว่ากันเรื่องการใช้สิทธิเกินส่วน อันดับแรกต้องเข้าใจหลักกฎหมายว่าด้วยเรื่องละเมิดซึ่งเป็นพื้นฐานกันก่อน เรื่องละเมิดนี้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ซึ่งบัญญัติไว้แบบนี้
“มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแกชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี แก่อนามัยก็ดี แก่เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”
ว่ากันง่าย ๆ ก็คือ การกระทำโดยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสิทธิ แล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อคนอื่น ถือเป็นละเมิด ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ที่เสียหายนั้น
หลักการทั่วไปของการละเมิดคือการกระทำโดยไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 420 ข้างต้น แต่ว่ามีละเมิดอีกแบบหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 ซึ่งบัญญัติไว้แบบนี้
“มาตรา 421 การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย”
โดยปกติแล้ว การใช้สิทธิของตนเองเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถึงแม้บางกรณีจะทำให้คนอื่นเดือดร้อนบ้างก็ตาม แต่กรณีที่การใช้สิทธินั้นทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือนร้อนเกินควร เกินปกติ หรือเป็นการใช้สิทธิโดยจงใจทำให้ผู้อื่นเสียหาย ก็ถือว่าเป็นการละเมิดตามมาตรา 421 นี้ ซึ่งทางกฎหมายเรียกกันว่าใช้สิทธิเกินส่วน ก็เป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับการใช้สิทธิเกินส่วน
1. คำพิพากษาฎีกาที่ 780/2538 จำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินแปลงหนึ่งร่วมกับโจทก์ ถึงแม้จะมีสิทธิใช้ที่ดินในฐานะเจ้าของรวม แต่จำเลยปลูกบ้านคร่อมทางที่โจทก์ใช้เป็นปกติ ถือเป็นการใช้สิทธิในทางที่ขัดกับเจ้าของรวมคนอื่น แล้วยังเป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นตามมาตรา 421 ด้วย
2. คำพิพากษาฎีกาที่ 7271/2560 แม้การยื่นคำร้องต่าง ๆ ในชั้นขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของจำเลยที่ 1 จะเป็นการใช้สิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่พฤติการณ์ของจำเลยถือว่าเป็นการประวิงเวลา และจำเลยที่ 1 ยังคงได้รับค่าเช่าจากอาคารพิพาทตลอดมาในระหว่างที่พิพาทกันในชั้นขายทอดตลาด แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนาใช้สิทธิโดยสุจริต จึงเป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะให้เสียหายแก่โจทก์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 421
3. คำพิพากษาฎีกาที่ 1992/2538 ผู้กระทำหรือผู้ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นอันเป็นละเมิดตามมาตรา 421 ต้องมีเจตนาหรือจงใจกลั่นแกล้งโดยมุ่งประสงค์ให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นฝ่ายเดียวด้วย เมื่อโจทก์ติดตั้งป้ายโฆษณาบนดาดฟ้าตึกแถวของตนได้ จำเลยย่อมมีสิทธิติดตั้งป้ายโฆษณาบนดาดฟ้าตึกแถวที่ตนเช่าได้เช่นกัน โดยไม่ต้องคำนึงว่าฝ่ายใดติดตั้งก่อน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยจงใจกลั่นแกล้งโจทก์ แม้ป้ายโฆษณาของจำเลยจะอยู่ใกล้และบังป้ายโฆษณาของโจทก์บ้างก็ไม่เป็นละเมิด
สรุปหลักการสำคัญได้อย่างหนึ่งจากคำพิพากษาศาลฎีกาเหล่านี้ก็คือ การใช้สิทธิเกินส่วนนี้ผู้กระทำต้องมีเจตนาไม่สุจริตจงในสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่นด้วย
กรณีตามข่าวติดป้ายที่รบกวนสายตาและจิตใจของเพื่อนบ้าน
มาถึงกรณีที่เป็นข่าว คือ เจ้าของโกดังสินค้านำป้ายขนาดใหญ่เป็นภาพหน้าผี ภาพน่ากลัวต่าง ๆ ติดไว้ที่หลังคาเพื่อให้คอนโดที่อยู่ติดกันเห็นได้จากด้านบน เนื่องจากมีปัญหาระหว่างกันมาก่อน โดยช่วงที่คอนโดก่อสร้างทำให้โกดังนั้นเสียหาย และยังตกลงเรื่องค่าเสียหายกันไม่ได้ อยู่ระหว่างดำเนินคดีกันในศาล
นอกจากนั้นยังมีการแขวนป้ายตำหนิการกระทำของคอนโดด้วย ซึ่งส่วนป้ายที่เป็นข้อความนี้เจ้าของคอนโดได้ดำเนินคดีหมิ่นประมาทด้วย ซึ่งในบทความนี้เราจะไม่พูดกันเรื่องนี้ แต่จะมาคุยกันเฉพาะเรื่องป้ายที่เป็นภาพผี ภาพน่ากลัว ที่ไม่มีข้อความกัน
ถึงแม้ว่าการติดป้ายใด ๆ บนอาคารของตนเองนั้น ย่อมเป็นสิทธิตามกฎหมาย แต่กรณีนี้น่าจะเรียกว่าเห็นเจตนาของเจ้าของโกดังได้อย่างชัดเจนเลยว่า จงใจสร้างความหวาดกลัว สร้างทัศนียภาพที่ไม่ดีแก่ผู้อยู่อาศัยบนคอนโดเพื่อเป็นการตอบโต้ที่ทำให้อาคารของตัวเองเสียหาย และตัวเจ้าของโกดังเองก็ไม่ได้รับประโยชน์ใดจากการติดป้ายแบบนี้เลยด้วย
เรียกว่ามีแต่ทำให้คนอื่นเสียหาย แต่ตัวเองก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยด้วย จึงน่าจะเป็นกรณีที่ตรงตามตัวบทกฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น คือเป็นการใช้สิทธิเกินส่วน ใช้สิทธิของตนโดยจงใจให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย ถือเป็นละเมิด เจ้าของคอนโดสามารถฟ้องให้รื้อถอนป้ายออกไป และเรียกค่าเสียหายได้
เจ้าของโกดังจริงฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
หากมองจากมุมเจ้าของโกดังแล้ว การที่คอนโดก่อสร้างแล้วส่งผลกระทบให้โกดังเสียหาย ก็เป็นเรื่องที่มีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหาย หรือกระทั่งให้ศาลมีคำสั่งหยุดการก่อสร้างไว้ชั่วคราวได้ด้วยในบางกรณี และยังมีช่องทางร้องเรียนกับหน่วยงานที่ควบคุมงานก่อสร้าง เช่น สำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามาตรวจสอบหรือมีคำสั่งระงับการก่อสร้างได้ด้วย เพียงแต่ช่องทางเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาดำเนินการ และมีค่าใช้จ่ายในกรณีฟ้องคดีแพ่งต่อศาล ทำให้ผู้เสียหายอาจรู้สึกว่าไม่ทันใจไปบ้าง
เรื่องใช้สิทธิเกินส่วนนี้เราอาจเทียบเคียงกับเรื่องอื่น ๆ ที่พบในชีวิตประจำวันได้อีกครับ เช่น กรณีข้างบ้านสร้างเสียงหรือกลิ่นรบกวน หรือทำให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่ดีอยู่ภายในบริเวณบ้านของตนเอง นอกจากกฎหมายที่เกี่ยวกับความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมืองซึ่งมีสำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุม หรือบางกรณีก็เป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ก็ยังถือเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนตามมาตรา 421 ข้างต้นนี้ด้วย ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถฟ้องคดีแพ่งเพื่อให้หยุดกระทำ และเรียกค่าเสียหายได้ด้วย
ขอบคุณรูปประกอบจากเฟสบุ๊ก Kantaphat Non
เรื่องข้างต้นเขียนโดย ปกรณ์ อุ่นหิรัญสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอว์ แอนด์ เอควิตี้ จำกัด หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ pakorn@lawandequity.co
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ