รายจ่ายที่มากกว่ารายรับทำให้การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันขาดสภาพคล่อง และอาจจะลุกลามถึงค่าผ่อนชำระบ้าน ซึ่งเป็นเงินจำนวนไม่น้อย หากลองบวกลบคูณหารแล้วไม่สามารถจ่ายค่าบ้านได้ อย่านิ่งนอนใจผัดผ่อนการชำระหนี้เรื่อยเปื่อย (อ่านบทความ : หากขาดผ่อนบ้านจะเกิดอะไรขึ้น) ทุกปัญหามีทางออกเสมอ โดยเฉพาะถ้าเราสามารถตั้งหลักแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว การผ่อนบ้านไม่ไหวอาจจะเป็นแค่ปัญหาระยะสั้นที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น
หลังจากตั้งสติยอมรับความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและตั้งใจว่าจะแก้ไขปัญหา ขั้นต่อมาคือการทำหน้าที่ลูกหนี้ที่ดีด้วยการติดต่อสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้เพื่อเจรจาขอผ่อนผันและประนอมหนี้ รวมถึงการปรับเงื่อนไขข้อผูกพันการผ่อนชำระบ้านใหม่ ซึ่งปกติการเจรจาเพื่อขอผ่อนผันและประนอมหนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ ดังนี้
ขอผ่อนผันยอดหนี้ค้างชำระ
การเจรจาขอผ่อนชำระคืนยอดหนี้ที่ค้างชำระสามารถทำได้สูงสุดนาน 36 เดือนติดต่อกัน 3 รูปแบบ ได้แก่
1.การขอเฉลี่ยหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นงวด งวดละเท่าๆ กัน และผ่อนชำระคืนติดต่อกันทุกเดือน
2.การชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดในเวลาที่ตกลงกันแบบไม่เป็นงวด
3.การขอชำระหนี้ที่ค้างชำระเป็นเงินก้อนเป็นงวดๆ ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน
1.การขอเฉลี่ยหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดเป็นงวด งวดละเท่าๆ กัน และผ่อนชำระคืนติดต่อกันทุกเดือน
2.การชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดในเวลาที่ตกลงกันแบบไม่เป็นงวด
3.การขอชำระหนี้ที่ค้างชำระเป็นเงินก้อนเป็นงวดๆ ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน
ชำระต่ำกว่าเงินงวดปกติ
เงื่อนไขการขอผ่อนผันชำระต่ำกว่าเงินงวดปกติส่วนใหญ่มักกำหนดให้จำนวนเงินที่ชำระต้องมากกว่าดอกเบี้ยประจำเดือนอย่างน้อย 500 บาท และระยะเวลาการผ่อนชำระได้นานสูงสุดไม่เกิน 2 ปี โดยขอดำเนินการได้ครั้งเดียว
ชำระเพียงดอกเบี้ยประจำเดือน
ถ้าหากเราเป็นลูกหนี้ประวัติการผ่อนชำระดี เราสามารถขอชำระเฉพาะดอกเบี้ยประจำเดือนได้ โดยระยะเวลาการผ่อนชำระให้ได้นานสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน และขอดำเนินการได้เพียงครั้งเดียว ซึ่งหากครบกำหนดตามระยะเวลาที่ขอผ่อนผันแล้ว สถาบันการเงินจะคำนวณเงินงวดใหม่ที่เราต้องชำระต่อจนครบกำหนดตามอายุของสัญญากู้เงิน
การลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษ
การขอผ่อนผันในกรณีที่ลูกหนี้ถูกปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มขึ้นจากอัตราปกติ ลูกหนี้สามารถแจ้งขอลดอัตราดอกเบี้ยในวันที่ชำระเงินได้หากลูกหนี้ได้ชำระเงินตามเงื่อนไข คือชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดในวันเดียว (รวมทั้งดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดด้วย) หรือชำระหนี้ที่ค้างเป็นเงินก้อนครั้งเดียวเท่ากับ 3 งวด
ขยายเวลาชำระหนี้
ขยายเวลาชำระหนี้
ถ้าจำนวนเงินผ่อนชำระในแต่ละเดือนมากเกินกว่ารายรับ ทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระได้ หลังจากจ่ายดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมดแล้ว เราสามารถเจรจาขอลดเงินงวดให้น้อยลง ด้วยการขอขยายระยะเวลากู้เงินต่อไปได้ถึง 30 ปีนับตั้งแต่ปัจจุบัน โดยอายุของเรารวมกับระยะเวลาที่ขอขยายแล้วต้องไม่เกิน 70 ปี
การกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระ
ในกรณีที่เราไม่สามารถชำระดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมดได้ เราสามารถขอกู้เพิ่มเพื่อชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระร่วมกับการขอขยายระยะเวลาเงินกู้ได้ ด้วยเงื่อนไขการชำระเงินงวดอย่างสม่ำเสมอก่อนขอกู้เพิ่มเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งเมื่อนำวงเงินที่ขอกู้เพิ่มรวมกับเงินต้นคงเหลือแล้ว เงินงวดใหม่ต้องมากกว่าไม่เกิน 25% ของเงินงวดเดิม
โอนบ้านให้สถาบันการเงินชั่วคราว
เราสามารถขอโอนบ้านให้กับสถาบันการเงินได้ชั่วคราว และซื้อคืนในภายหลัง โดยปกติสถาบันการเงินจะรับโอนหลักประกัน ด้วยการหักลบหนี้จำนวนไม่เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกัน ในกรณีที่มีหนี้สินส่วนเกิน เราต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่โอน ซึ่งหลักประกันต้องอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล หรือในเขตเทศบาลของจังหวัดอื่นเท่านั้น
ขณะที่สถาบันการเงินจะคิดค่าเช่าในอัตราเดือนละ 0.4-0.6% ของมูลค่าหลักประกัน และทำสัญญา 1 ปี เมื่อครบกำหนดจะทำการต่อสัญญาจากพฤติกรรมการอยู่อาศัยและการปฏิบัติตามสัญญาเช่า โดยเราต้องวางเงินประกันค่าเสียหายในวงเงินค่าเช่า 1 เดือนในฐานะผู้เช่า พร้อมชำระค่าเช่าล่วงหน้า 1 เดือนภายใน 3 ปีนับแต่วันทำสัญญาเช่า ซึ่งถ้าหากเราต้องการขอซื้อคืน สถาบันการเงินจะขายคืนให้ในราคาขายคืนปกติ โดยพิจารณาจากยอดหนี้คงเหลือที่ใช้หักกลบลบหนี้กับหลักประกัน โดยการซื้อคืนดังกล่าวยังสามารถขอสินเชื่อได้ด้วย
การขอให้ชะลอฟ้อง
เราสามารถขอให้สถาบันการเงินชะลอฟ้อง หากเราสามารถชำระเงินติดต่อกันให้ทันงวดภายใน 6 เดือน และผ่อนชำระต่อตามสัญญาเดิม หรือขอชำระเฉพาะดอกเบี้ยประจำเดือน โดยไม่ผิดนัดเป็นเวลาไม่เกิน 12 เดือน เมื่อครบกำหนดตามระยะเวลาที่ขอผ่อนผัน ถ้าเราชำระหนี้ตามข้อตกลงโดยไม่ขาดส่ง สถาบันการเงินจะคำนวณเงินงวดใหม่ที่เราต้องชำระต่อไป พร้อมใช้อัตราดอกเบี้ยตามประกาศจนครบอายุในสัญญากู้เงิน
เจรจาให้ถอนฟ้อง
เราสามารถติดต่อเจรจาให้สถาบันการเงินถอนฟ้องได้ด้วยตัวเอง โดยติดต่อชำระหนี้ให้ทันงวดและไม่มีดอกเบี้ยคงค้าง พร้อมชำระค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายครบถ้วนให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือตามประกาศของธนาคาร
ติดต่อขอยอมความกับสถาบันการเงิน
แม้จะถูกฟ้องดำเนินคดีแล้ว เรายังสามารถเจรจาขอยอมความกับสถาบันการเงินได้ โดยเราต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี และค่าทนายความให้ครบถ้วน ซึ่งการยอมความอยู่ภายใต้เงื่อนไขการชำระหนี้ทั้งหมด และไถ่ถอนจำนองภายในเวลาที่กำหนด หรือขอกำหนดเงินงวดผ่อนชำระใหม่ให้มีการแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระในระยะ 1-2 ปีแรกของการผ่อนชำระเวลาที่เหลือ จนกระทั่งชำระหนี้เสร็จสิ้น
ชะลอการยึดทรัพย์
หากถูกศาลพิพากษาแล้ว เราสามารถขอให้ชะลอการยึดทรัพย์ได้ โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าทนายความ รวมทั้งค่าเดินทางของทนายความตามที่จ่ายจริง และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการบังคับคดีให้ครบถ้วน ซึ่งเราต้องชำระหนี้ทั้งหมดและไถ่ถอนจำนองภายในเวลาไม่เกิน 3 เดือน โดยต้องชำระหนี้บางส่วนก่อนตามจำนวนที่ตกลง ซึ่งถ้าราคาประเมินหลักประกันสูงกว่ายอดหนี้เกิน 80% ลูกหนี้อาจทำสัญญากู้ใหม่ได้ เมื่อชำระหนี้ตามข้อตกลงกับสถาบันการเงินติดต่อกันแล้วไม่น้อยกว่า 6 งวด
ชะลอการขายทอดตลาด
ในกรณีที่สถาบันการเงินยึดทรัพย์และรอการขายทอดตลาด เราสามารถติดต่อเจรจาขอให้ชะลอการขายไว้ก่อน โดยเราต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในขั้นฟ้องคดีและบังคับคดี รวมถึงค่าเดินทางของทนายความเพื่อเลื่อนการขายตามที่จ่ายจริงให้ครบถ้วน ซึ่งเราต้องชำระหนี้ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 งวด โดยหนี้ที่เหลือต้องไม่เกิน 80% ของราคาประเมินหลักประกันใหม่ ก่อนจะทำสัญญาเงินกู้ใหม่
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า