“ก่อนกู้ซื้อบ้านควรเตรียมเงินดาวน์อย่างน้อย 20% ของราคาบ้าน ผ่อนบ้านต่อเดือนไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ และสำรองเงินเผื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉินประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน” – K-Expert
เชื่อว่าหนึ่งในความฝันของหลายๆ คนคือ อยากมีบ้านเป็นของตัวเองด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป เช่น อยากมีอิสระในชีวิต อยากอยู่ใกล้ที่ทำงานจะได้เดินทางสะดวก หรืออยากมีบ้านเพราะเริ่มวางแผนแต่งงานมีครอบครัว ซึ่งบางคนทำงานได้ไม่นานก็เริ่มผ่อนบ้านแล้ว
ยิ่งตอนที่รัฐบาลประกาศนโยบายบ้านหลังแรก จะเห็นได้ว่าตลาดบ้านคึกคักอย่างมาก มีการลด แลก แจก แถม จูงใจให้คนตัดสินใจซื้อบ้านเร็วขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การซื้อบ้านสักหลังต้องใช้เงินไม่น้อย เป็นหลักล้านจนถึงหลักหลายล้าน แม้จะซื้อได้ด้วยการขอสินเชื่อแต่ก็มีข้อผูกพันต้องผ่อนชำระหนี้กันเป็นสิบๆ ปี ดังนั้น อยากให้ถามตัวเองก่อนว่าพร้อมมั้ยกับการเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกในชีวิต ซึ่งมีเรื่องไหนบ้างที่ควรนึกถึงก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน K-Expert มีคำแนะนำมาฝากค่ะ
เตรียมเงินดาวน์บ้าน
โดยทั่วไปในการกู้ซื้อบ้านธนาคารหรือสถาบันการเงินจะให้วงเงินกู้ไม่เกิน 80% ของราคาบ้าน เท่ากับว่าผู้ที่จะกู้ซื้อบ้านควรมีเงินก้อนเตรียมไว้ดาวน์บ้านอย่างน้อย 20% ของราคาบ้าน เช่น กู้ซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท ควรมีเงินดาวน์ประมาณ 6 แสนบาทค่ะ แต่ก็แนะนำว่ายิ่งวางเงินดาวน์บ้านได้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ขอวงเงินสินเชื่อน้อยลง ซึ่งช่วยให้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายน้อยลงไปด้วยค่ะ
ดังนั้น ก่อนกู้ซื้อบ้าน สำรวจดูก่อนว่ามีเงินพอดาวน์บ้านแล้วหรือยัง ถ้ายังมีไม่พอจะได้เตรียมเก็บออมเงินให้มากขึ้น สมมติว่าวางแผนซื้อบ้านในอีก 2 ปี ต้องใช้เงินดาวน์บ้าน 6 แสนบาท ถ้ามีเงินเตรียมไว้ดาวน์บ้านแล้ว 3 แสนบาท เท่ากับว่าโดยเฉลี่ยจะเก็บเงินอีกเดือนละประมาณ 12,500 บาทเป็นเวลา 2 ปี สามารถเก็บออมเงินในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างเงินฝากประจำปลอดภาษี 24 เดือน หรือกองทุนรวมตลาดเงินค่ะ
กันเงินผ่อนและค่าใช้จ่าย
เมื่อตัดสินใจกู้ซื้อบ้าน เรื่องหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลยคือ เงินผ่อนบ้าน โดยทั่วไปธนาคารจะให้ผู้กู้มีภาระผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน อย่างเช่นผ่อนบ้านเดือนละ 20,000 บาท ก็ควรมีเงินเดือนอย่างน้อย 50,000 บาท อย่างไรก็ตามในการกู้ซื้อบ้าน ไม่ได้มีแค่ค่าผ่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ตามมาจากการซื้อบ้านด้วย
K-Expert จึงแนะนำว่าเฉพาะค่าผ่อนบ้านไม่ควรเกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน เพื่อที่ว่าเมื่อรวมค่าผ่อนบ้านและค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจะได้ไม่เป็นภาระที่หนักเกินไป ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีทั้งค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตั้งแต่ซื้อบ้าน เช่น ค่าโอน ค่าเฟอร์นิเจอร์ ค่าตกแต่งบ้าน หรือถ้าซื้อบ้านมือสองก็อาจมีค่าซ่อมแซมบ้านเพิ่มเข้ามาด้วย และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปี เช่น ค่าประกัน ค่าส่วนกลาง ดังนั้น เมื่อซื้อบ้านแล้ว อย่าลืมกันเงินสำหรับค่าผ่อนบ้านและค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยนะคะ
สำรองเงินเผื่อฉุกเฉิน
หลายคนมักมองข้ามความสำคัญของการเก็บออมเงินสำรองเอาไว้เผื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน ซึ่งจริงๆ แล้วถือเป็นเงินก้อนที่มีความสำคัญมาก โดยควรมีประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพราะถ้ามีเหตุต้องใช้เงินขึ้นมา เช่น ใช้เงินซ่อมบ้าน ซื้อของใช้จำเป็นใหม่ หรือแม้กระทั่งตกงานขาดรายได้ แต่เรายังมีค่าใช้จ่าย และค่าผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน ที่ต้องใช้เงิน แล้วถ้าเราไม่มีเงินเก็บสำรองไว้เลย อาจกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเราได้ โดยเงินสำรองก้อนนี้ควรเก็บในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง อย่างเช่น เงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เพราะเมื่อต้องใช้เงิน จะได้นำออกมาใช้จ่ายได้ทันทีค่ะ
เมื่อฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง สิ่งสำคัญคือ ไม่ลืมสำรวจตัวเราเองว่าพร้อมที่จะมีบ้านแล้วหรือยัง เพราะถ้าตัดสินใจซื้อบ้านโดยที่ตัวเรายังไม่พร้อม มีโอกาสสูงมากที่ปัญหาการเงินจะถามหาได้ เมื่อตัดสินใจซื้อบ้าน ก็อยากให้บ้านในฝันของเราเป็นบ้านที่สร้างความสุขให้กับผู้ซื้อบ้านหรือผู้อยู่อาศัยอย่างแท้จริง ติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบ้าน ได้ที่ K-Expert
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย นิชฌานี ฉันทศาสตร์, CFP® K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถปรึกษากับ K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า