แผนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) หนึ่งในแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาพำนักและท่องเที่ยวในไทยได้โดยไม่ต้องกักตัวตัว เริ่ม 1 กรกฎาคม 2564 นี้เป็นต้นไป
หลายคนจับตาดูความเป็นไปได้ของนโยบายนี้และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะนโยบายนี้ส่งผลโดยตรงต่อหลาย ฝ่าย ทั้งภาคธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร การค้าปลีกอื่น ๆ และภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ขณะเดียวกันก็อาจมาพร้อมความเสี่ยงด้วยเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย การวางมาตรการต่าง ๆ จึงต้องทบทวนให้รอบด้านและมีความปลอดภัยต่อประชาชนให้มากที่สุด
ภูเก็ตเร่งฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70%
ทางด้านจังหวัดภูเก็ตเอง เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 แล้วเร่งฉีดมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ครอบคลุมไปถึงแรงงานต่างชาติในพื้นที่ด้วย มีเป้าหมายสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ 70% ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ภูเก็ตมีผู้ป่วยสะสม 701 ราย (ข้อมูลการระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่เดือนเมษายน- 20 มิถุนายน 2564)
โดยภูเก็ตยังคงคุมเข้มเกี่ยวการการแพร่ระบาด เพื่อให้พร้อมมากที่สุดในการเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ตามแผนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) เงื่อนไขสำคัญของนโยบายนี้คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในภูเก็ตต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้วเช่นกัน และต้องแสดงผลการตรวจโควิดที่เป็นลบก่อน
ทั้งนี้ ต้องเดินทางเข้าภูเก็ตผ่านทางเครื่องบินเท่านั้นและจะสามารถท่องเที่ยวได้ในเฉพาะจังหวัดภูเก็ต เป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งแผนการนี้จะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ระยะด้วยกัน อย่างแผนดีเดย์ 1 กรกฎาคม 2564 จัดว่าเป็นแผนในระยะที่ 2 หลังจากที่ภูเก็ตเริ่มมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้างแล้วบางส่วนตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน ที่ผ่านมา แต่ยังมีจำนวนไม่มาก เพราะนักท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนครบ และจะต้องกักตัวภายในที่พักเป็นระยะเวลา 7 วันถึงจะออกไปในพื้นที่ได้ ทำให้ระยะนี้ยังไม่สามารถจูงใจนักท่องเที่ยวได้มากนัก
แน่นอนว่าความหวังเริ่มมาตกอยู่ที่ระยะที่ 2 นี้ เพราะเงื่อนไขเริ่มผ่อนปรนมากขึ้น โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 ด้านการพักอาศัยในระยะที่ 2 กำหนดให้ชาวต่างชาติพักได้ในโรงแรมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพ SHA+ ที่ออกโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น หากพ้น 14 วันไปแล้ว จึงจะสามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้ แต่ยังต้องปฏิบัติมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทำให้บรรดาผู้ประกอบการโรงแรมต่างพากันเข้ามายื่นขอการรับรองสัญลักษณ์นี้จาก ททท. กันเป็นจำนวนมาก
สำหรับในระยะที่ 3 จะเริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 โดยจะต่อยอดไปยังจังหวัดนำร่องอื่น ๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว เช่น กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ชลบุรี โดยมีการนำร่องไว้ 10 จังหวัด ส่วนในระยะที่ 4 จะขยายไปทั่วประเทศในปี 2565 สำหรับรายละเอียดความคืบหน้าของมาตรการ ยังคงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ
ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ช่วยต่อลมหายใจเศรษฐกิจภูเก็ต
ขณะนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จองเข้ามาผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ยังไม่นิ่ง เบื้องต้นอยู่ที่ราวหลักพันคน มีทั้งทางฝั่งยุโรป อเมริกา รวมไปถึงเพื่อนบ้านทางเอเชียเองก็มี ครั้งนี้เป็นการเปิดประเทศเป็นครั้งแรกที่ต้องติดตามดูผลอย่างใกล้ชิด หากมองในแง่ดี ถ้าดำเนินนโยบายนี้แล้วสำเร็จ สถานการณ์โควิดในภูเก็ตไม่เกิดการติดเชื้อเพิ่ม นักท่องเที่ยวรวมถึงประชาชนในจังหวัดปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะขยายไปยังระยะที่ 3-4 ได้ตามกำหนดเวลาที่วางไว้ได้
การเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแผนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มฟื้นตัว เพราะที่นี่พึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศในฐานะเมืองท่องเที่ยวมาโดยตลอด พอโควิด-19 ระบาดกลับทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง ผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงประชาชนได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน ดังนั้น แผนเปิดเมืองท่องเที่ยวนี้จึงกลายเป็นความหวังที่จะต่อลมหายใจคนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

อัปเดตตลาดอสังหาฯ ภูเก็ต ก่อนภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
มาดูทางฝั่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ตกันบ้าง เป็นที่ทราบกันดีว่าจากช่วงปีที่ผ่านมา โควิด-19 ทำเอาผู้ประกอบการบ้านและคอนโดเจ็บหนักไปหลายระลอก เพราะพึ่งพากำลังซื้อจากชาวต่างชาติด้วยเช่นกัน โดยได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่มีการระบาดระลอกแรกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2564 ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้ง ก่อนจะได้เริ่มฉีดวัคซีนกันก็ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ในภาพรวมค่อย ๆ ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ตามการเข้ามาของวัคซีน และความเชื่อมั่นต่อนโยบายต่าง ๆ ที่ประชาชนเชื่อว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ราคากลางอสังหาฯ ภูเก็ตหลังจบไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 นี้ ปรับเพิ่มราว 7% จากไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และปรับขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่หากพิจารณาเป็นรายอำเภอ เทียบกับช่วงปลายปีที่ผ่านมา จะพบว่าโซนอำเภอเมืองภูเก็ต ราคากลางอสังหาฯ ปรับตัวขึ้นมากที่สุดถึง 13% QoQ รองลงมาคืออำเภอถลาง ปรับขึ้น 11% QoQ และตามด้วยอำเภอกะทู้ ราคาปรับขึ้น 3% QoQ สะท้อนราคาอสังหาฯ ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ทางด้านจำนวนอุปทานรวมในจังหวัดภูเก็ต ไตรมาสแรกของปี 2564 มีการปรับขึ้นถึง 60% QoQ และเพิ่มขึ้น 28% YoY สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการดูดซับยังคงชะลอตัว เป็นผลจากกำลังซื้อจากต่างชาติยังไม่กลับมา และผู้บริโภคชาวไทยยังคงต้องการเก็บเงินไว้กับตัวมากกว่ามาลงทุนอสังหาฯ จึงมีจำนวนอุปทานสะสมที่ยังรอการระบายอยู่เป็นจำนวนมาก
สำหรับจำนวนอุปทานแบบรายโซน พบว่า ช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 มีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้นในทุกอำเภอ โดยที่จำนวนอุปทานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในอำเภอถลาง อยู่ที่ 78% QoQ รองลงมาถืออำเภอเมืองภูเก็ต เพิ่มขึ้น 58% QoQ และสุดท้ายคืออำเภอกะทู้ เพิ่มขึ้น 40% QoQ
ภาพรวมอสังหาฯ ภูเก็ต อุปทานคอนโดและบ้านเดี่ยวเพิ่มขึ้น
คอนโดในภูเก็ตมีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 71% QoQ รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยวในภูเก็ต เพิ่มขึ้น 51% QoQ โดยสัดส่วนอุปทานที่ปรับขึ้นมามากที่สุดอยู่ในอำเภอถลาง รองลงมาคืออำเภอเมืองภูเก็ต และอำเภอกะทู้
ส่วนทาวน์เฮ้าส์ในภูเก็ต พบว่า ในอำเภอถลางและกะทู้ ยังมีจำนวนปรับเพิ่มขึ้นที่ 12% QoQ เท่ากัน ยกเว้นในโซนอำเภอเมืองภูเก็ต อุปทานทาวน์เฮ้าส์ลดลงมากถึง 44% QoQ ส่งผลให้ตลาดทาวน์เฮ้าส์ในภาพรวมมีอุปทานลดลง 16% QoQ
ทั้งนี้ อสังหาฯ ที่ราคามากกว่า 15 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนอุปทานมากที่สุดในตลาด โดยอยู่ที่ 25% รองลงมาเป็นกลุ่มราคา 5-10 ล้านบาท อยู่ที่ 21% ตามมาด้วยกลุ่มราคา 3-5 ล้านบาท อยู่ที่ 14% กลุ่มราคา 10-15 ล้านบาทมีสัดส่วน 10% และกลุ่ม 1-3 ล้านบาท มีอยู่เพียง 8%
ตัวเลขที่นำมาเปรียบเทียบนี้ จากช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมด ยกเว้นที่อยู่อาศัยบางประเภทและบางทำเล แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน จะพบว่า ระดับราคาคอนโดและทาวเฮ้าส์ ภาพรวมปรับตัวลดลง ส่วนบ้านเดี่ยวปรับตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะตลาดที่เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว อย่างตลาดคอนโด ได้รับผลกระทบอย่างมาก
อสังหาฯ ภูเก็ต ปัจจุบันและอนาคต
แม้ว่า "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” จะเป็นอีกทางเลือกที่น่าจะช่วยให้ภาคธุรกิจและประชาชนในภูเก็ตหายใจคล่องยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องมาพร้อมกับมาตรการความปลอดภัยที่ต้องเข้มงวด ป้องกันการแพร่ระบาดให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง รวมถึงประชาชนในจังหวัดอื่น ๆ ด้วย เพราะไม่เช่นนั้นก็ต้องกลับมานับเริ่มต้นปิดประเทศใหม่ให้เสียเวลาอีกรอบ
ในระยะยาว “ภูเก็ต” เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก เพราะปัจจุบันมีโครงการใหญ่ ๆ ที่กำลังรอพัฒนาอีกหลายโครงการด้วยกัน ยกตัวอย่างโครงการพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่เตรียมงบประมาณไว้กว่า 2 แสนล้านบาทสำหรับฟื้นฟูเมืองช่วงหลังโควิด-19 ซึ่งผู้พัฒนาก็ได้ทำข้อตกลงกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันของหน่วยงายในท้องถิ่น ร่วมกับบริษัทเอกชนและมหาวิทยาลัย ในการวางแผนพัฒนาพลิกฟื้นเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตผ่านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ประกอบด้วยระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า พร้อมเพิ่มจุดชาร์จรถ EV ทั่วพื้นที่เกาะภูเก็ต มีบริการป้ายรถเมล์และที่จอดรถอัจฉริยะ ออกบัตรโดยสารดิจิทัล และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดภูเก็ตอีกโครงการย่อยด้วยกัน
นอกจากนี้ยังมีแผนก่อสร้างถนนเพิ่มและทาง Sky Walk เพื่อคนเดิน รวมถึงพื้นที่สาธารณะสำหรับให้ประชาชนได้เข้ามาใช้งาน โครงการนี้เพื่อสนับสนุนเรื่องธุรกิจการท่องเที่ยวภายในจังหวัด หลังจากเปิดประเทศชาวต่างชาติจะสามารถเข้ามาท่องเที่ยวและใช้ชีวิตในเมืองภูเก็ตได้อย่างเต็มที่ พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับคนภายในพื้นที่เองได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับความสะดวกสบายด้านต่าง ๆ
แน่นอนว่าหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานนี้ได้รับการพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง ภาคธุรกิจอสังหาฯ ก็ย่อมได้รับอานิสงส์ตามไปด้วยในอนาคต
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า