หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการดึงต่างชาติศักยภาพสูงเข้ามาลงทุนและพำนักในไทยระยะยาว (Long-term stay) เพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ทดแทนต่าง ๆ ได้กลายเป็นกระแส Talk of the Town ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังต้องจับตากันต่อ
โดยเฉพาะประเด็นที่เปิดทางให้ต่างชาติซื้อ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ บ้าน-คอนโด และถือครองที่ดิน การปรับมาตรการดึงต่างชาติในครั้งนี้จะดีจริงหรือไม่ จากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ผลสำรวจฯ ชี้ผู้บริโภคเสียงแตก ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด ซึ่งมีผู้ทำแบบสำรวจกว่า 1,000 คน ประกอบด้วย กลุ่มเจ้าของที่อยู่อาศัย กลุ่มนักลงทุน กลุ่มผู้เช่า รวมถึงกลุ่มที่พักอาศัยอยู่กับครอบครัว ซึ่งได้ทำการสำรวจไปก่อนหน้าตั้งแต่ที่ยังเป็นร่างกฎหมาย พบว่า ผู้บริโภคมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว
– 26% เห็นด้วย
– 24% ไม่เห็นด้วย
เมื่อโฟกัสที่ช่วงอายุและรายได้ พบว่า ผู้บริโภคที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีรายได้ระดับปานกลางอยู่ที่ 28% และมีรายได้ระดับสูง อยู่ที่ 31% โดยทั้ง 2 ถือเป็นกลุ่มผู้ที่มีความพร้อมในการซื้อ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ บ้าน-คอนโด และมีโอกาสลงทุนในช่วงนี้ ขณะที่ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย อยู่ที่ 22%
ส่วนผู้บริโภคที่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ส่วนใหญ่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเช่นเดียวกัน โดยมีรายได้ระดับปานกลางอยู่ที่ 29% รายได้รายระดับสูง อยู่ที่ 26% และรายได้น้อย อยู่ที่ 26%
มาตรการดึงชาวต่างชาติซื้อบ้านในไทยเอื้อต่ออสังหาฯ-เศรษฐกิจไทยได้จริงไหม
ผลการสำรวจฯ ยังบอกถึงเหตุผลหลักของผู้บริโภคทั้ง 2 กลุ่ม โดยผู้บริโภคที่เห็นด้วยส่วนใหญ่ มองว่า มาตรการดึงต่างชาติ จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจของไทยได้
– 79% มองว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยโดยรวม
– 32% มองว่าเป็นการแก้ปัญหานอมินี (Nominee) หรือผู้ที่ซื้อแทนชาวต่างชาติเพื่อเลี่ยงกฎหมาย หลังปลดล็อกให้ต่างชาติสามารถซื้อ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ได้เอง
– 27% มองว่าจะช่วยผลักดันราคาอสังหาริมทรัพย์ ให้เติบโต และเพิ่มมูลค่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ
– 24% มองว่าจะช่วยเร่งอัตราการดูดซับอสังหาริมทรัพย์ที่ค้างสต๊อก
ทางด้านผู้บริโภคที่ไม่เห็นด้วยส่วนใหญ่ มองว่า มาตรการดังกล่าวมีส่วนทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์แพงขึ้น
– 62% มองว่าจะทำให้ราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์แพงขึ้น
– 42% มองว่าไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานอมินี (Nominee)
– 40% มองว่าอาจนำไปสู่ปัญหาที่ซับซ้อนอื่น ๆ ได้ในอนาคต
– 38% มองว่าไม่สามารถกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้
– 17% มองว่าไม่ช่วยเร่งอัตราการดูดซับอสังหาริมทรัพย์ที่ค้างสต๊อกได้

สรุปประเด็นไทยเปิดทางเศรษฐีชาวต่างชาติ 4 กลุ่มหลัก
สำหรับมาตรการดึงต่างชาติชาติเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ เป็นหนึ่งในนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุน และเพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ โดยเปิดทางให้ชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม สามารถเข้ามาพำนักระยะยาว (Long-term-stay) ในประเทศไทย แลกกับวีซ่าระยะยาว 10 ปี (Long-term Resident Visa) และสิทธิประโยชน์จูงใจ
1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen)
– ไม่จำกัดอายุ
– มีรายได้สูง มีทรัพย์สินอยู่ทั่วโลก
– ลงทุนขั้นต่ำ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15 ล้านบาท) ในพันธบัตรรัฐบาลไทย
– ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
– มีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
– มีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านบาท)
– มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป (ประมาณ 3.3 ล้านบาทขึ้นไป) ตลอดระยะเวลาถือวีซ่า
2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner)
– มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
– มีรายได้สำหรับการเกษียณอายุที่มั่นคงเป็นประจำจากต่างประเทศ
– ลงทุนขั้นต่ำ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.5 ล้านบาท) ในพันธบัตรรัฐบาลไทย
– ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
– มีรายได้ขั้นต่ำปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท) หรือรายได้ขั้นต่ำปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท)
– มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป (ประมาณ 3.3 ล้านบาทขึ้นไป) ตลอดระยะเวลาถือวีซ่า
3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional)
ผู้ประกอบอาชีพด้านดิจิทัล (Digital nomad)
– บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทเอกชนที่ดำเนินงานมาอย่างน้อย 3 ปี
– มีรายได้รวมมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.6 ล้านบาท) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
พนักงานองค์กรขนาดใหญ่และใกล้จะเกษียณอายุ (Corp Program)
– มีประสบการณ์ทำงานกับบริษัทใด ๆ ที่มีรายได้รายปี ปีละมากกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.3 ล้านบาท)
4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-Skilled professional)
– มีประสบการณ์ทำงานทักษะสูง
– เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้บริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมายตาม พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560
– เข้ามาทำงานหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
– มีรายได้ส่วนบุคคล เช่น เงินเดือน รายได้จากการลงทุน ปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านบาท)
– มีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 5 ปี
– มีประกันสุขภาพจากบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง คุ้มครองค่ารักษา 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป (ประมาณ 3.3 ล้านบาทขึ้นไป) ตลอดระยะเวลาถือวีซ่า
สิทธิประโยชน์เอื้อต่างชาติ กระตุ้นเม็ดเงินเข้าไทย
1. วีซ่าผู้พำนักระยะยาวใหม่ (LTR visa) อายุ 10 ปี รวมถึงผู้ติดตาม หรือคู่สมรสและบุตร
2. ได้รับใบอนุญาตทำงานอัตโนมัติหลังจากอนุมัติ LTR
3. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ
4. สิทธิในการเป็นเจ้าของ/เช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว ซื้อบ้านได้ในพื้นที่ที่กำหนด
5. สิทธิเลือกจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยในอัตราภาษีแบบก้าวหน้าเช่นเดียวกับผู้ถือสัญชาติไทย หรืออัตราภาษีเงินได้คงที่ที่ 17% เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ให้เฉพาะกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
โดยรัฐบาลตั้งเป้าดึงดูดผู้พำนักระยะยาวกว่า 1 ล้านล้านราย และใช้จ่ายในประเทศ 1 ล้านล้านบาทต่อปีต่อคนโดยเฉลี่ย ดึงดูดเม็ดเงินจากการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท และรายได้ทางภาษี 2.7 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี มุมมองจากกูรูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ต่างตื่นตัวและมีความหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะปลุกดีมานด์กำลังซื้อคนต่างชาติ ให้เข้ามาช่วยดูดซับสต๊อกคงค้าง ในระหว่างที่รอเวลากำลังซื้อในประเทศฟื้นตัวหลังโควิด-19 แต่อาจจะต้องเพิ่มเงื่อนไขอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมถึงการกำหนดราคาให้สอดคล้อง
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ