รถไฟฟ้า EV ถือว่าเป็นรถที่กำลังเป็นเทรนด์และมาแรงที่สุดในยุคนี้ มีหลายค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถไฟฟ้า EV ออกมาให้ได้ยลโฉมและเป็นเจ้าของกัน มาดูข้อดีของรถไฟฟ้า EV ขั้นตอนการติดตั้งระบบชาร์จไฟที่บ้านเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง รถ และบ้าน
รถไฟฟ้า EV คืออะไร
รถไฟฟ้า EV (Electric Vehicle) คือ รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียว 100% และสามารถชาร์จไฟได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อแบตเตอรี่หมด โดยรถไฟฟ้านี้จะมีองค์ประกอบหลักสำหรับการขับเคลื่อน คือ แบตเตอรี่ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า
ข้อดีของรถไฟฟ้า EV
1. เงียบและอัตราเร่งที่เรียบและเร็ว
รถไฟฟ้า EV ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สู่มอเตอร์เพื่อทำการขับเคลื่อน โดยที่ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์สันดาป ภายในจึงไม่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ ทำให้เสียงของการทำงานของรถไฟฟ้า EV นั้นเงียบกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหลายเท่า และสามารถทำให้มีอัตราเร่งเป็นไปได้อย่างที่ใจต้องการ เพราะไม่มีขั้นตอนการทดเกียร์อีกต่อไป จึงทำให้รถไฟฟ้า EV สามารถตอบสนองในการขับขี่ได้ตามความต้องการของผู้ขับ
2. ประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุง
รถไฟฟ้า EV ช่วยประหยัดเงินค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุง เนื่องจากรถไฟฟ้า EV ใช้พลังงานไฟฟ้ามาแทนที่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาสูง เช่นเดียวกันกับค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง รถไฟฟ้า EV จะมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาน้อยกว่า เพราะไม่มีเครื่องยนต์ และไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง จึงทำให้การดูแลรักษาเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
3. ช่วยลดมลภาวะ
เมื่อโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน สาเหตุหลัก ๆ ล้วนเกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยไอเสียของโรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่า พืชไร่ กำจัดขยะ และการเผาผลาญเชื้อเพลิงของรถยนต์ ทำให้รถไฟฟ้า EV คือหนึ่งนคำตอบในการลดมลภาวะ ลดโลกร้อน เพราะไม่มีการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ก่อให้เกิดไอเสียและมลภาวะทางอากาศ
4. ชาร์จแบตได้ที่บ้าน
เปลี่ยนภาพจากที่เคยต่อคิวยาวเพื่อเติมน้ำมันที่ปั๊ม หรือต้องขับรถไกลเพราะไม่มีปั๊มน้ำมันใกล้บ้าน เพราะรถไฟฟ้า EV สามารถชาร์จแบตได้ที่บ้าน สามารถชาร์จทิ้งไว้ได้ระหว่างที่นอนหลับ ตื่นเช้ามารถไฟฟ้า EV ก็อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่ต้องกังวลเรื่องการเสียเวลาหรือเสียเวลาเติมน้ำมันที่ปั๊มอีกต่อไป

5 ขั้นตอนการติดตั้งระบบชาร์จรถไฟฟ้า EV
สำหรับผู้ที่จะซื้อรถไฟฟ้า EV มาใช้งาน จำเป็นต้องเข้าใจระบบไฟฟ้าภายในบ้านก่อนติดตั้ง เพื่อความปลอดภัยและป้องกันปัญหาที่ตามมา
1. ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า
โดยปกติขนาดมิเตอร์ของบ้านพักอาศัยทั่วไปจะใช้เป็น 15(45) 1 เฟส(1P) หมายถึงมิเตอร์ ขนาด 15 แอมป์(A) และสามารถใช้ไฟได้มากถึง 45(A) สำหรับคนที่ต้องการชาร์จรถไฟฟ้าในบ้าน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แนะนำให้เปลี่ยนขนาดมิเตอร์เป็น 30(100) ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ป้องกันการใช้ไฟฟ้าที่มากเกินไป
2. สายเมน และลูกเซอร์กิต (MCB)
สำหรับสายเมนของเดิมใช้ขนาด 16 ตร.มม. ต้องปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 25 ตร.มม. และเปลี่ยนลูกเซอร์กิต (MCB) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันร่วมกับตู้ MDB ที่เดิมรองรับได้สูงสุด 45(A) เปลี่ยนเป็น 100(A) เพื่อให้ขนาดมิเตอร์ ขนาดสายเมน และขนาดลูกเซอร์กิต (MCB) มีความสอดคล้องกัน
3. ตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB)
ตรวจสอบภายในตู้ว่ามีช่องว่างสำรองเพื่อติดตั้ง Circuit Breaker อีก 1 ช่องหรือไม่ เพราะการชาร์จไฟของรถไฟฟ้า EV จะต้องมีส่วนตัว และแยกใช้งานกับเครื่องไฟฟ้าอื่น ๆ หรือถ้าหากภายในตู้หลักไม่มีช่องว่าง ต้องเพิ่มตู้ควบคุมย่อยอีก 1 จุด
4. เครื่องตัดไฟรั่ว (RCD)
เครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติที่จะตัดวงจรไฟฟ้า เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเข้าออกมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งอาจจะส่งผลให้ไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดเพลิงไหม้ได้ในอนาคต กรณีที่สายชาร์จไฟฟ้ามีระบบตัดไฟภายในตัวอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องติดตั้งเพิ่ม
5. เต้ารับ (EV Socket)
สำหรับการเสียบชาร์จรถไฟฟ้าจะเป็นชนิด 3 รู (มีสายต่อหลักดิน) ต้องทนกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16(A) โดยรูปทรงอาจจะปรับตามรูปแบบปลั๊กของรถไฟฟ้า EV แต่ละรุ่น
รถไฟฟ้า EV ชาร์จไฟบ้านอย่างไร
วิธีการชาร์จรถไฟฟ้า EV ที่บ้าน แบ่งได้เป็น 3 แบบ ดังนี้
1. ชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charge)
วิธีนี้เป็นการชาร์จไฟฟ้าจากตัวเต้ารับโดยตรง โดยขนาดมิเตอร์ขั้นต่ำที่แนะนำคือ 30(100)A และเต้ารับต้องติดตั้งใหม่เฉพาะการชาร์จรถไฟฟ้าเท่านั้น โดยเป็นการใช้ไฟบ้านที่เป็นกระแสสลับ (AC) ที่ใช้ระยะเวลาในการชาร์จประมาณ 12-16 ชม.
2. ชาร์จแบบรวดเร็ว (Double Speed Charge)
วิธีนี้เป็นการชาร์จไฟฟ้าจากเครื่องชาร์จ EV Charger เป็นตู้ชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging) ที่ช่วยให้ชาร์จพลังงานไฟฟ้าในแบตเตอรี่รถไฟฟ้า EV ให้เต็มเร็วยิ่งขึ้น โดยเหลือเวลาชาร์จประมาณ 6-8 ชม.
3. ชาร์จแบบด่วน (Quick Charge)
วิธีนี้เป็นการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) ตรงเข้าแบตเตอรี่โดยตรง ซึ่งสามารถชาร์จแบตเตอรี่รถไฟฟ้า EV จาก 0-80% ได้ภายในเวลา 40-60 นาที นิยมใช้ตามสถานีบริการนอกบ้าน ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ แต่ก็มีข้อเสียคือทำให้ตัวแบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น ได้แก่ CHAdeMo, GB/T และ CCS เป็นต้น
เลือกจุดติดตั้งเครื่องชาร์จรถไฟฟ้า EV ในบ้าน
– ระยะทางไม่เกิน 5 เมตร จากตัวเครื่องชาร์จจนถึงจุดที่เสียบชาร์จกับตัวรถ ไม่ควรวางห่างกันเกิน 5 เมตร เนื่องจากสายเครื่องชาร์จ EV Charger โดยทั่วไปอยู่ที่ 5-7 เมตรเท่านั้น
– วางใกล้ตู้ MDB การเลือกจุดชาร์จใกล้ตู้เมนไฟฟ้าในบ้าน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
– มีหลังคาปกคลุม โดยจุดชาร์จรถไฟฟ้า EV ควรอยู่ใต้หลังคา เพื่อป้องกันละอองฝน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการกันน้ำของเครื่อง EV Charger นั้น ๆ
– สำหรับลูกค้าที่พักอาศัยอยู่ในคอนโด ให้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่นิติบุคคล เพื่อขออนุญาตให้เรียบร้อย ทั้งนี้คอนโดโดยส่วนใหญ่จะมีระยะแนวเดินสายไฟที่ไกลกว่าบ้าน จึงอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
สิ่งที่ต้องคำนึงถึง | รายละเอียด |
ระยะห่าง | ไม่เกิน 5 เมตร จากจุดชาร์จ |
จุดชาร์จ | ใกล้ตู้เมนไฟฟ้า |
ตำแหน่ง | ใต้หลังคา |
กรณีอยู่คอนโด | ติดต่อเจ้าหน้าที่นิติบุคคล |
ปัจจุบันการใช้รถไฟฟ้า EV มีความสะดวกมากขึ้น เพราะนอกจากจะสามารถชาร์จไฟที่บ้านแล้ว ยังมีจุดบริการชาร์จไฟรถไฟฟ้า EV โดยสามารถดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน MEA EV เพื่อค้นหาสถานีชาร์จรถไฟฟ้า EV ของการไฟฟ้านครหลวง (MEA) บริษัท EA Anywhere (EA) และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) หรือแอปพลิเคชัน EV Station ของปตท.
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ