เชื่อว่าคนที่วางแผนซื้อบ้าน แล้วกำลังขอสินเชื่ออยู่ ณ ขณะนี้ ต่างเกิดความสงสัยกับข้อเสนอของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับหลากหลายประกันภัยเกี่ยวกับบ้าน ที่ได้รับคำแนะนำให้สมัคร ว่าหากตัดสินใจทำแล้ว เกิดประโยชน์อะไรบ้าง ขาดทุนหรือได้กำไร ต่อไปนี้จะกระจ่างแจ้ง เมื่อรู้รายละเอียดของข้อคุ้มครอง ผลประโยชน์ที่เราจะได้ในแต่ละประเภท
1. ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อบ้าน MRTA
หลายคนมักสงสัยว่าทำไมบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารถึงมักนำเสนอให้ผู้กู้ ทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อบ้าน หรือที่รู้จักกันดีว่า MRTA โดยมักชูโรงว่าหากทำแล้ว จะได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีถูกลง เหตุนี้เองจึงทำให้หลายคนตัดสินใจสมัครทันที โดยที่ยังไม่รู้ว่าประโยชน์ที่แท้จริงของประกันนี้คืออะไร แท้จริงแล้วรูปแบบของการทำประกันดังกล่าว จะได้รับสิทธิคุ้มครองผู้ขอสินเชื่อบ้าน ตามจำนวนทุนและระยะเวลาประกัน โดยบางสถาบันการเงินสามารถให้เลือกระยะได้ตั้งแต่ 5-30 ปี
ทั้งนี้ จะมีให้เลือกทั้งแบบชำระครั้งเดียวหรือรวมยอดกับเงินต้นที่กู้ ซึ่งแน่นอนข้อดีของประกันรูปแบบดังกล่าว กรณีเกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น ผู้กู้เสียชีวิต ยังมีเงินกรมธรรม์มาชำระหนี้ที่คงค้างไว้อยู่ ทำให้ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวภายหลัง ประกอบกับสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
หากเกิดปิดหนี้ได้ก่อนกำหนดที่ขอสินเชื่อบ้านไว้ ยังสามารถขอเวนคืนเงินประกันได้อีกด้วย จะว่าไปการทำประกันดังกล่าว ก็เหมือนป้องกันเหตุไม่คาดฝันอันสามารถเกิดขึ้นได้ ไปพร้อมกับออมเงินไปในตัว
2. ประกันอัคคีภัย
เป็นอีกหนึ่งประเภทประกันภัย ที่ถูกนำเสนอจากเจ้าหน้าที่ธนาคารเช่นกัน บางผูกบังคับกับการขอสินเชื่อ หรือแล้วแต่ผู้กู้ ขึ้นอยู่เงื่อนไขของแต่ละสถาบัน ซึ่งประโยชน์ของการทำประกันดังกล่าว ขอบอกถึงแม้เจ้าหน้าที่ไม่นำเสนอก็ควรทำ เพราะเรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ โดยกรมธรรม์ดังกล่าวจะคุ้มครองดังต่อไปนี้
– ไฟไหม้ อันเกิดจากไฟป่าโดยธรรมชาติ หรือมีผู้บุกรุกเผาป่า
– ฟ้าผ่า จนทำให้เกิดความเสียต่ออุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน
– การระเบิดทุกชนิด
– ภัยจากยานพาหนะ ที่ไม่ใช่ยานพาหนะของผู้ประกัน
– ภัยจากอากาศยานหรือวัตถุที่ตกจากอากาศยาน
– ภัยจากน้ำ แต่ไม่รวมน้ำท่วม หรือท่อปะปาแตกในอาคาร
***ทั้งนี้หากต้องการการคุ้มครองเหตุอัคคีภัยจากปัจจัยอื่น จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม***
3. ประกันภัยพิบัติ
ประกันรูปแบบดังกล่าว เป็นความสมัครใจของผู้ขอสินเชื่อบ้าน ทั้งนี้เป็นการคุ้มครองที่เหมาะกับช่วงหน้าฝนอย่างมาก เพราะหลายคนอาจกลัวจะประสบปัญหาน้ำท่วมเหมือนช่วงปี 54 โดยการคุ้มครองของกรมธรรมม์นี้ถูกแบ่งภัยพิบัติออกเป็น 3 แบบคือ ภัยน้ำท่วม ภัยแผ่นดินไหว และภัยลมพายุ ซึ่งล้วนแล้วเกิดขึ้นจากธรรมชาติทั้งหมด
ดังนั้น หากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจะได้ค่าสินไหหมทดแทน ทั้งนี้หากบ้านใครน้ำท่วมจะได้รับความคุ้ม 30% ของวงเงิน แต่ถ้าระดับน้ำสูง 50 ซม. ได้รับความคุ้มครอง 50% ของวงเงิน 75% ได้รับความคุ้มครอง 75% ของวงเงิน และ 100 % ได้รับความคุ้มครอง 100% ของวงเงิน เป็นต้น ทั้งนี้การจะได้รับสินไหมทดแทน บริษัทประกันภัย หรือทางเจ้าหน้าที่ธนาคารจะเป็นผู้ประเมินความเสียหายตามความจริงก่อนเป็นอันดับแรก

4. ประกันภัยโจรกรรม
ประกันภัยรูปแบบนี้ ทำไว้ไม่เสียหาย ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน ทั้งนี้ประโยชน์ที่ได้ หากเกิดเหตุโจรกรรมขึ้น มีโจรมางัดเงะบ้าน และทำให้ทรัพย์สินเสียหาย หรือเป็นลักษณะปล้นทรัพย์ จะได้รับคุ้มครองชดใช้ค่าสินไหม แต่ถ้าทรัพย์สินเกิดความเสียหายจากอัคคีภัยหรือภัยพิบัด จะไม่ได้รับการชดใช้
5. ประกันทรัพย์สินภายในที่อยู่อาศัย
เป็นประกันอีกหนึ่งรูปแบบที่ทางเจ้าหน้าที่สินเชื่อไม่ได้บังคับ แต่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของผู้กู้ ซึ่งข้อดีของการคุ้มครองนี้ จะครอบคุมทั้ง อัคคีภัย ภัยพิบัติ และโจรกรรมเข้าด้วยกัน ทั้งนี้หากทรัพย์สินภายในบ้านเสียหาย จากปัจจัยดังกล่าว ยังได้รับค่าสินไหมด้วย โดยบางสถาบันนั้นต่างจูงใจด้วยวิธีสมัครแสนง่าย ใช้แค่บัตรประชาชน ไม่จำเป็นต้องตรวจทรัพย์สินก่อนใช้บริการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทหรือธนาคารด้วย
คิดจะสมัครประกันภัยที่อยู่อาศัย เรื่องแบบนี้ไม่ใช่กฎข้อบังคับ ข้อเพียงศึกษารายละเอียดอย่างถ่องแท้ รวมถึงดูผลประโยชน์สิ่งที่เราจะได้ เพื่อไม่รู้สึกขาดทุนกับเบี้ยประกันที่จ่ายไป
ขอบคุณข้อมูล: btsbroking.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
เรื่องข้างต้นเขียนโดย อารยา ศิริพยัคฆ์ Content Writer ประจำเว็บไซต์ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com