3 ระบบสาธารณูปโภค 6 สาธารณูปการ มีผลต่อการซื้อบ้านอย่างไร

DDproperty Editorial Team
3 ระบบสาธารณูปโภค 6 สาธารณูปการ มีผลต่อการซื้อบ้านอย่างไร
ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในทำเล เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อบ้าน หรือซื้อคอนโด ต้องให้ความสำคัญนอกเหนือจากเรื่องราคา ฟังก์ชั่น สไตล์การตกแต่ง และชื่อเสียงของผู้ประกอบการ ลองมาดูว่าระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการมีความหมายอย่างไร เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตมากน้อยแค่ไหน

สาธารณูปโภคและสาธารณูปการ คืออะไร

หากแปลความหมายจากคำแล้ว คำว่า สาธารณูปโภค ก็คือ ‘สาธารณะ + อุปโภค’ หรือหมายถึงสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นในการดำเนินชีวิตของของคนส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับคำว่า สาธารณูปการ ซึ่งมาจาก ‘สาธารณะ + อุปการะ’ ที่หมายความว่าสิ่งที่จัดสรรเพิ่มเติมให้กับสาธารณะ
ซึ่งถ้าจะพูดถึงความหมายที่แท้จริงของทั้งสองอย่างนี้ สาธารณูปโภค (Public Utilities) คือบริการจากรัฐที่ต้องจัดสรรให้กับประชาชน โดยเป็นบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า หรือระบบประปา ส่วนสาธารณูปการ (Public Facilities) คือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกวัน แต่เป็นบริการขั้นฟื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ โรงเรียน และสนามเด็กเล่น เป็นต้น
ระบบไฟฟ้า คือ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ควรมี

ระบบสาธารณูปโภค (Public Utilities) ที่ควรมี ได้แก่อะไรบ้าง?

ขึ้นต้นด้วยคำว่าสาธารณูปโภคแล้ว ก็จำเป็นที่ควรจะมีทั่วถึงในทุกที่ แต่สำหรับบางคนและบางพื้นที่ ระบบสาธารณูปโภคบางอย่างก็ไม่ได้จำเป็นต่อชีวิตประจำวันขนาดนั้น แต่โดยพื้นฐานแล้วระบบสาธารณูปโภคที่ทุกบ้านควรมี ได้แก่

1. ระบบไฟฟ้า

แทบจะไม่มีชุมชนหรือหมู่บ้านไหนที่ไม่มีระบบไฟฟ้าใช้แล้ว ยกเว้นแต่ชุมชนในเขตทุรกันดารที่บริการขั้นพื้นฐานยังเข้าไปไม่ถึง โดยระบบไฟฟ้ากลายเป็นสาธารณูปโภคที่สำคัญที่สุด เห็นได้จากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ที่บริหาร โรงงานผลิตไฟฟ้าหลายแห่ง รวมไปถึงปริมาณของผู้ใช้ไฟฟ้าต่อวัน
ดังนั้น หากอยากซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนระยะยาว และอยากรู้ว่าในทำเลของอสังหาริมทรัพย์ที่เราจะซื้อ มีปริมาณคนอยู่อาศัยจริงมากน้อยแค่ไหน ก็สามารถดูได้จากปริมาณการใช้ไฟฟ้ารายเขตของทำเลนั้นได้

2. ระบบประปา

บริการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนไม่สามารถขาดได้ โดยระบบประปาครอบคลุมไปถึง ระบบประปาเพื่อการอุปโภค เช่น การใช้อาบน้ำ ซักล้าง หรือกิจกรรมอื่น ๆ และระบบประปาเพื่อการบริโภค ซึ่งในประเทศไทยยังเกิดขึ้นในไม่กี่ที่ จะพบเห็นตามก๊อกน้ำสาธารณะที่ให้บริการเป็นจุดไปเท่านั้น แต่สำหรับประเทศชั้นนำหลายแห่ง มีการให้บริการระบบประปาเพื่อบริโภคที่มีความสะอาด ครอบคลุมทุกชุมชนในเมือง และในจุดสาธารณะ

3. ระบบโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต

สายโทรศัพท์บริเวณเสาไฟฟ้า คงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าระบบสายโทรศัพท์ครอบคลุมทั่วพื้นที่ในเมือง โดยเฉพาะสมัยก่อนที่ใช้โทรศัพท์บ้านเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันแม้จะแทบไม่มีใครใช้โทรศัพท์บ้านแล้ว แต่ระบบสายโทรศัพท์ก็ยังจำเป็นต่อหน่วยงานและอาคารสำนักงานต่าง ๆ ซึ่งยังต้องใช้โทรศัพท์ประจำสำนักงานอยู่

ระบบสาธารณูปการ (Public Facilities) ที่ควรมี ได้แก่อะไรบ้าง?

ระบบสาธารณูปการเป็นบริการขั้นพื้นฐานอีกขั้นที่เข้ามาช่วยเสริมให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองดีขึ้น โดยอาจจะดำเนินงานโดยรัฐหรือเอกชนก็ได้ แต่จะอยู่ในการควบคุมของรัฐบาล ซึ่งระบบสาธารณูปการคือสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่ควรนำมาพิจารณาในการเลือกทำเลที่อยู่อาศัย
เนื่องจากในทำเลไหนมีระบบสาธารณูปการที่หนาแน่นและครบครัน ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญจากภาครัฐ และแนวโน้มของการเติบโตของทำเลในอนาคตอีกด้วย โดยระบบสาธารณปการมีหลายประเภท ได้แก่
1. สาธารณูปการด้านการบริการ ได้แก่ หน่วยงานราชการต่าง ๆ อาทิ ศาล ศาลากลาง เทศบาล ที่ทำการไปรษณีย์ เป็นต้น
2. สาธารณูปการด้านวัฒนธรรม ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ หอชมเมือง ห้องสมุด โรงละคร ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ท้องฟ้าจำลอง เป็นต้น
3. สาธารณูปการด้านการศึกษา ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย เป็นต้น
4. สาธารณูปการด้านสุขอนามัย ได้แก่ สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพ โรงพยาบาล เป็นต้น
5. สาธารณูปการด้านสันทนาการ ได้แก่ สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น สนามกีฬา เป็นต้น
6. สาธารณูปการด้านความปลอดภัย ได้แก่ สถานีดับเพลิง สถานีตำรวจ เป็นต้น
หากมีสาธารณูปการดี การใช้ชีวิตก็สะดวกยิ่งขึ้น

ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เอื้อต่อการซื้อบ้านอย่างไร?

หากในสายตาของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ สิ่งสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘Location, Location, Location’ เช่นเดียวกับผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่ควรให้ความสำคัญกับทำเลมาก่อนเป็นอันดับแรกเสมอ เพราะอสังหาริมทรัพย์เมื่อซื้อไปแล้ว ไม่สามารถย้ายทำเลได้ และไม่รู้ว่าอนาคตในทำเลนี้จะเติบโตเป็นอย่างไร
โดยระบบสาธารณูปโภคและระบบสาธารณูปการเอง ก็มีส่วนช่วยในการพิจารณาเรื่องของศักยภาพทำเลในปัจจุบัน และแนวโน้มของการเติบโตของทำเลในอนาคตได้เช่นกัน ซึ่งระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ดี จะช่วยยกระดับศักยภาพทำเลดังนี้

ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต

การมีย่อมดีกว่าไม่มี และการมีมากบางทีก็ดีกว่าการมีน้อย สำหรับระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในเรื่องของการเดินทางและขนส่งมวลชน ที่ยิ่งมีการพัฒนามากเท่าไรในทำเล ยิ่งยกระดับความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ดังที่เราจะเห็นได้ว่า ที่ดินในบริเวณที่ติดรถไฟฟ้านั้นมีราคาแพง หรือที่ดินที่ติดถนนเส้นหลัก สามารถเดินทางได้สะดวกสบาย มักมีราคาสูงกว่าที่ดินโดยรอบเสมอ

ยกระดับคุณภาพชีวิต

ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดระดับโลก สำหรับการชี้วัดระดับคุณภาพชีวิตของคนในเมือง ยิ่งเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ได้มากเท่าไร่ ยิ่งมีระดับคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น รวมไปถึงต้นทุนที่ดินที่ดีกว่ามาก
ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ทำเลที่ดินบริเวณรอบสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น สวนลุมพินี สวนเบญจกิตติ หรือสวนจตุจักร มักจะมีราคาที่สูงกว่าที่ดินในทำเลอื่นมาก เหตุผลก็เนื่องจากว่าที่ดินในเมืองนั้นมีจำกัด การมีสาธารณูปการอย่างสวนสาธารณะใกล้ ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่กี่แห่ง ทำให้การได้อยู่ใกล้สาธารณูปการจึงกลายเป็นเรื่องที่พิเศษสุด

แนวโน้มของการเติบโตของทำเล

หากทำเลไหนที่มีการจัดการกับระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการที่ดี สะท้อนถึงการให้ความสำคัญจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มของการเติบโตของทำเลได้ชัดเจน เช่น ทำเลที่มีการนำร่องนำระบบสายไฟฟ้าลงใต้ดินเพื่อพัฒนาทัศนียภาพ มักจะเป็นทำเลที่มีการเติบโตสูงและเป็นทำเลที่มีราคาแพง เพราะฉะนั้นก่อนซื้อที่อยู่อาศัย คอยมองดูการจัดการกับระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในทำเลให้ดี เพื่อประเมินว่าทำเลของเรามีแนวโน้มเป็นอย่างไร
แม้มองเผิน ๆ จะดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นบริการขั้นพื้นฐาน ที่หมุนเวียนเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน และอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิต ความสะดวกสบายในการอยู่อาศัย และแนวโน้มของการเติบโตของราคาที่อยู่อาศัยในอนาคตอย่างชัดเจน ดังนั้นหากจะซื้อบ้าน อย่าลืมนำระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์