"สัปปายะสภาสถาน" รัฐสภาใหม่ โครงการเมกะโปรเจกต์ระดับชาติ ทุ่มงบประมาณกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแวดล้อมด้วยสาธารณูปโภคครบครัน ที่แม้ว่าปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่เชื่อว่าหากเปิดใช้จะทำให้พื้นที่ละแวกเกียกกาย-บางโพ ที่เคยเป็นเพียงชุมชนแสนสงบ คึกคักและมีชีวิตชีวามากขึ้น ที่สำคัญกำลังจะกลายเป็นทำเลทองที่เนื้อหอมมากที่สุดแห่งหนึ่ง
อ่านหัวข้อที่คุณสนใจ
ทำไมต้องสร้างรัฐสภาใหม่
อาคารรัฐสภาบนถนนอู่ทองใน ซึ่งสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2517 และใช้เป็นที่ประชุมสภายาวนานกว่า 30 ปี มีขนาดคับแคบและไม่เพียงพอสำหรับรองรับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลในสมัยนายสมัคร สุนทรเวชจึงได้อนุมัติโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ในปี พ.ศ. 2551

สัปปายะสภาสถาน หรือรัฐสภาใหม่อยู่ที่ไหน
คณะกรรมการที่กำกับดูแลการสร้างรัฐสภาใหม่มีมติเลือกที่ดินของราชพัสดุ ถนนทหาร(เกียกกาย) แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต ให้เป็นสถานที่ตั้งของรัฐสภาแห่งใหม่ เพราะมีความเหมาะรอบด้าน ทั้งภูมิทัศน์ คมนาคม สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค และเศรษฐกิจ แผนที่รัฐสภาแห่งใหม่
สัปปายะสภาสถาน แลนด์มาร์คริมน้ำเจ้าพระยา
สัปปายะสภาสถาน หรือรัฐสภาใหม่ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า รัฐสภาเกียกกาย ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ด้วยงบประมาณ 12,000 ล้านบาท ถือเป็นอาคารรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่ถึง 119.6 ไร่ ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) โดยก่อสร้างเป็นอาคารขนาดใหญ่ สูง 11 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอย 424,000 ตารางเมตร
แบ่งอาคารเป็น 2 ส่วน คือ สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา มีที่จอดรถรองรับได้ 2,069 คัน และมีพื้นที่สีเขียวมากถึง 115,529 ตารางเมตร ทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณก่อสร้างราว 2,987 ล้านบาท

รัฐสภาใหม่ ทำไมถึงชื่อ "สัปปายะสภาสถาน"
รัฐสภาแห่งใหม่นี้มีนามว่า “สัปปายะสภาสถาน” ซึ่งหมายถึง สภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย สถานที่สำคัญของชาติแห่งนี้ได้รับการออกแบบที่ผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับอาคารที่ทันสมัยอย่างลงตัว เป็นผลงานชนะเลิศการประกวดของคุณธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์
โดยนำแนวคิดพุทธสถาปัตยกรรมตามแบบแผน “ไตรภูมิ” มาใช้ บริเวณกลางอาคารมีเจดีย์จุฬามณี สูง 46 เมตร ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช พระคู่บ้านคู่เมืองไว้บนยอดเจดีย์ และด้านหน้าหันไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา
นอกจากนี้ อาคารทั้งหมดยังถูกออกแบบให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีของสิ่งปลูกสร้างแห่งอนาคต
โครงข่ายคมนาคมรอบรัฐสภาใหม่
นับตั้งแต่โครงการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่เริ่มต้นขึ้น พื้นที่ย่านเกียกกาย บางโพ ศรีย่าน และสามเสนได้รับการพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างเต็มที่ ทั้งการสร้างสะพานเกียกกายข้ามไปยังฝั่งธนบุรี
การขยายช่องทางการจราจร 4 สายให้เป็น 8 ช่องจราจร ได้แก่ ถนนสามเสน-ประชาราษฎร์สาย 1 และถนนทหาร พร้อมทั้งก่อสร้างทางคู่ขนานถนนสามเสน เพื่อเชื่อมต่อกับถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ทำให้การเดินทางของฝั่งพระนครและธนบุรีสะดวกมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางรถไฟฟ้า 2 สายที่ช่วยเพิ่มศักยภาพด้านคมนาคมมากขึ้น ได้แก่ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-ท่าพระ ที่เปิดให้บริการแล้ว และรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570
อัปเดตเส้นทางแผนที่สถานีรถไฟฟ้า BTS-MRT ฉบับใหม่
เส้นทางแผนที่สถานีรถไฟฟ้า BTS-MRT ฉบับใหม่ พร้อมอัปเดตทำเลศักยภาพใหม่ได้ที่นี่
พร้อมสร้างท่าเรือโดยสารที่สถานีพระนั่งเกล้า เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถ ราง และเรือให้สมบูรณ์ จึงทำให้ย่านเกียกกายที่เคยเงียบเหงากลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ในอีกไม่นานนี้
กระตุ้นมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ใกล้เคียง
โครงการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเกียกกาย บางโพ ศรีย่าน และสามเสน รวมถึงทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือโดยเฉพาะเตาปูน บางซ่อน และวงศ์สว่าง ได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักพัฒนาที่ดินและผู้ประกอบการธุรกิจ
เนื่องด้วยกระแสความต้องการที่อยู่อาศัยของกลุ่มลูกค้าข้าราชการและข้าราชการการเมือง ทั้งยังกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ให้คึกคักยิ่งขึ้นจากห้างสรรพสินค้าและมาร์เก็ตเพลสต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดกฎกระทรวงในการควบคุมอาคาร-สิ่งก่อสร้างที่บดบังทัศนียภาพอาคารรัฐสภาใหม่ เกียกกาย โดยอนุญาตให้สร้างตึกสูงไม่เกิน 5 ชั้น ในรัศมี 100 เมตร และ 8 ชั้นในรัศมี 200 เมตร ในพื้นที่ริมแม่น้ำฝั่งพระนครได้ จึงช่วยเปิดโอกาสให้ที่พักอาศัย ทั้งที่มีอยู่เดิมและจะถูกสร้างใหม่ มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างรวดเร็ว
ประกาศขายคอนโด
ค้นหาโครงการคอนโดใกล้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT บางโพ
รัฐสภาใหม่ เตรียมเปิดอย่างเป็นทางการ
ความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารสัปปายะสภาสถาน หรืออาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ได้เปิดใช้อาคารอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หลังจากใช้เวลาก่อสร้างถึง 8 ปีเต็ม แต่โครงการยังไม่เสร็จ 100% โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ได้มีการส่งมอบงาน 100% ให้แก่กรรมการตรวจการจ้างโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หลังจากล่าช้ามาเป็นระยะเวลานานเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
โดยอาคารรัฐสภาแห่งใหม่จะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เยี่ยมชมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ทางการเมือง ผ่านพิพิธภัณฑ์ประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังมีลานประชาชนให้ประชาชนได้เข้าใช้บริการด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ต้องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือหาที่พักอาศัยในทำเลทอง ที่ราคายังไม่สูงมาก พื้นที่ย่านเกียกกาย-บางโพเป็นอีกแหล่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้รับการพัฒนารอบด้านจากโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่แล้ว ย่านนี้ยังเป็นตลาดบลูโอเชียนหรือตลาดใหม่ที่มีความต้องการใหม่ ซึ่งมีโอกาสทางธุรกิจสูงเพราะยังไม่มีคู่แข่งมากนัก ลองศึกษาข้อมูลการเตรียมตัวก่อนซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์กันล่วงหน้าได้เลย
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า