รับมือปัญหาโลกแตก ที่จอดรถไม่พอ

DDproperty Editorial Team
รับมือปัญหาโลกแตก ที่จอดรถไม่พอ
“ที่จอดรถ” ดูเหมือนจะเป็นปัญหาหนักอกของผู้ที่ต้องอาศัยร่วมกันในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นคอนโดฯ หรือโครงการบ้านจัดสรร และมักเป็นประเด็นร้อนที่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ นิติบุคคลของโครงการก็มักจะไม่สามารถดำเนินการใดได้ จนทำให้บางรายถึงขั้นฟ้องร้อง สคบ. (สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค) จนกลายดราม่าปัญหายืดยาว วันนี้ DDproperty มีทางออกในการรับมือกับปัญหาดังกล่าว ด้วยขั้นตอนที่แสนง่ายต่อไปนี้

เช็คข้อมูลที่จอดรถ อย่างละเอียด ก่อนซื้อ

ก่อนที่จะตกลงปลงใจจองคอนโดฯ หรือบ้านในโครงการจัดสรร แนะนำให้สอบถามพนักงานขายเกี่ยวกับสัดส่วนพื้นที่จอดรถก่อน โดยส่วนใหญ่แล้วหากเป็นคอนโดมิเนียมควรมีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ถ้าโชคดีเจอโครงการมีที่จอดรถ 100% จะช่วยคลายปัญหาโลกแตกนี้ไปได้
แต่โครงการที่มีสัดส่วนที่จอดรถมากขนาดนี้มักเป็นโครงการคอนโดฯ หรู มีราคาขายค่อนข้างแพง ส่วนคนที่เลือกพักอาศัยทาวน์เฮ้าส์ ต้องดูว่าสามารถจอดรถได้กี่คัน พอกับจำนวนรถที่มีอยู่หรือไม่ หรือทางโครงการได้จัดสรรพื้นที่จอดรถไว้บริเวณส่วนกลาง ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาแย่งพื้นที่จอดรถที่จะตามมาในภายหลัง

ศึกษา พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร (ที่จอดรถ) ให้ถ่องแท้

เมื่อพิจารณาแต่ละโครงการก่อนซื้อแล้ว ควรศึกษาถึงกฎหมาย พรบ. ควบคุมอาคาร เกี่ยวกับที่จอดรถ ให้ถ่องแท้ จะได้ไม่เสียเปรียบเหล่าผู้ประกอบการ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
– อาคารอยู่อาศัยรวมหรืออาคารชุด กำหนดให้มีที่จอดรถ 1 คัน / ห้อง
– ตึกแถว กำหนดให้มีที่จอดรถ 1 คัน / คูหา (หากมีพื้นที่เกิน 240 ตร.ม. จัดให้มีที่จอดรถ 1 คัน/ พื้นที่ 120 ตร.ม.)
– อาคารพาณิชย์ มีที่จอดรถ 1 คัน/ พื้นที่อาคาร 60 ตร.ม.
ทั้งนี้ มีหลักคำนวณพื้นที่จอดรถในแต่ละอาคารต่าง ๆ อย่างเหมาะสมตามข้อบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับที่ 7 คือ ให้นำจำนวนพื้นที่ใช้สอยของห้องชุด กรณีเป็นคอนโดมิเนียม หารด้วย 60 จะได้ผลลัพธ์จำนวนที่จอดรถ โดยหากตกเป็นเศษให้นับเป็น 1 คัน ยกตัวอย่างเช่น ยูนิต 1 ห้องนอน มีพื้นที่ใช้สอย 40 ตร.ม. นำ 40 ÷ 60 = 0.66 หรือสามารถจอดรถได้ 1 คัน เป็นต้น

วิธีจัดการกับเหล่ามนุษย์ที่ชอบเอาเปรียบ

แม้แต่ละโครงการที่อยู่อาศัยต่างๆ จะกำหนดกฎระเบียบเรื่องที่จอดรถขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนบางกลุ่มที่ชอบนำรถมาจอดหน้าบ้านคนอื่น หรือนำรถของวงศาคณาญาติมาจอดในอาคาร จนทำให้ผู้อื่นเดือนร้อน
การแก้เผ็ดบุคคลเหล่านี้ ไม่ยาก อันดับแรก แจ้งกับทางนิติบุคคลให้ดำเนินการว่ากล่าวตักเตือน แล้วถ้าหากยังมีพฤติกรรมเช่นนี้อยู่ สามารถฟ้อง สคบ. พร้อมแจ้งความเอาผิดตามกฎหมายได้ โดยถือว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นตามมาตรา 397 หมวดลหุโทษ คือมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
แหล่งข้อมูลอ้างอิง กฎกระทรวงฉบับที่ 7 (ที่จอดรถ)
เรื่องข้างต้นเขียนโดย อารยา ศิริพยัคฆ์ Content Writer ประจำเว็บไซต์ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า