9 รายการตรวจบ้านก่อนโอนด้วยตัวเอง เช็กก่อน แก้ไขทัน

DDproperty Editorial Team
9 รายการตรวจบ้านก่อนโอนด้วยตัวเอง เช็กก่อน แก้ไขทัน
การตรวจบ้านก่อนโอน เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญของคนที่ซื้อบ้านหรือซื้อคอนโด ซึ่งจะต้องทำก่อนโอนห้องเพื่อให้โครงการแก้ไขจุดบกพร่องให้เรียบร้อยก่อน ในการตรวจรับคอนโด หรือการตรวจรับบ้านด้วยตัวเองนั้นมีวิธีการอย่างไร และต้องตรวจอะไรบ้าง
โดยงานระบบและการก่อสร้างที่ผู้ซื้อต้องให้ความสนใจในการตรวจรับนั้น ได้แก่ งานระบบไฟฟ้า งานระบบน้ำ งานระบบสื่อสาร งานก่อสร้างพื้นและผนัง งานก่อสร้างประตูและหน้าต่าง ซึ่งในแต่ละส่วนมีประเด็นสำคัญและเทคนิคในการตรวจสอบดังนี้
Subscription Banner for Article

1. ระบบไฟฟ้า

หนึ่งส่วนสำคัญของการตรวจบ้านก่อนโอน ผู้ตรวจสอบต้องมีการเตรียมตัวเพื่อความปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้า ในกรณีที่มีไฟฟ้ารั่ว ด้วยการสวมถุงมือยาง และรองเท้าพื้นยางที่จะเป็นฉนวนไฟฟ้าอย่างดี
การตรวจรับบ้านในส่วนระบบไฟฟ้า

การตรวจรับบ้านในส่วนระบบไฟฟ้า

2. ไฟส่องสว่าง

ตรวจบ้านก่อนโอน โดยการตรวจสอบว่าไฟฟ้าส่องสว่างที่ติดตั้งไว้แต่ละจุดนั้นสามารถเปิดใช้งานได้หรือไม่ นอกจากเปิดติดแล้วก็ต้องดูด้วยว่าให้แสงสว่างเพียงพอกับการใช้งานในแต่ละพื้นที่หรือไม่
หากไม่เพียงพออาจจะต้องมีการเปลี่ยนหลอดไฟที่มีกำลังสูงขึ้นหรือเปลี่ยนลักษณะของโคมไฟ หรือติดตั้งไฟเพิ่มในอนาคต รวมไปถึงหากเป็นโคมไฟที่ติดอยู่ภายนอกอาคารก็ต้องดูว่ารูปแบบของโคมไฟนั้นอยู่ในจุดที่ฝนสาดเข้ามาถึงหรือไม่ เพราะอาจทำให้เกิดการช็อตในอนาคตได้

3. ปลั๊กไฟ

ตรวจสอบในลักษณะเดียวกับไฟส่องสว่าง โดยใช้ไขควงวัดไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า โคมไฟเล็ก ๆ ทดลองเสียบกับปลั๊กแต่ละจุดดูว่ามีกระแสไฟฟ้าหรือไม่ และมีปลั๊กอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดมาในสเปคห้องหรือไม่ และเป็นปลั๊กแบบ 3 ตาที่รองรับเครื่องใช้ที่มีสายดินหรือไม่ และเช่นกันหากมีตำแหน่งของปลั๊กที่ระเบียง หรือในห้องน้ำ จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ได้เปียกน้ำโดยตรง และต้องมีฝาคลอบกันน้ำ

4. สายไฟและสายดิน

หากโครงการไม่ได้ติดตั้งเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำน้ำอุ่นไว้ ควรมีสายไฟเตรียมไว้เพื่อการติดตั้งในอนาคต โดยสายไฟจะเป็นลักษณะที่มีสามเส้น คือมีสายดินด้วย

5. มิเตอร์ไฟฟ้า และระบบป้องกัน

ตรวจบ้านก่อนโอน อย่าลืมดูว่ามีการติดตั้งเบรคเกอร์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น เช่น เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำน้ำอุ่น ตรวจสอบว่าเมื่อปิดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดแล้วมิเตอร์หยุดหมุน ถ้ายังหมุนอาจมีการต่อสายไฟผิดไปยังห้องอื่นได้ และตรวจดูว่าขนาดมิเตอร์นั้นเพียงพอต่อจำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็นภายในห้อง

6. โทรศัพท์

ทดสอบการต่อสายโทรศัพท์ ด้วยการเอาโทรศัพท์ไปต่อสองเครื่องแล้วยกหูพูดกัน เป็นวิธีการเช็กเบื้องต้นหากยังไม่ติดตั้งเลขหมายโทรศัพท์
การตรวจรับบ้านด้วยตัวเอง เกี่ยวกับระบบน้ำ

7. ระบบน้ำ

สิ่งสำคัญที่ต้องตรวจสอบเกี่ยวกับระบบน้ำนั้นแบ่งเป็นระบบน้ำดี และระบบน้ำเสีย ซึ่งมีประเด็นในการตรวจสอบดังนี้

– การรั่วของน้ำ

เป็นการตรวจสอบว่าภายในคอนโดมีจุดที่น้ำรั่วหรือไม่ ทำได้โดยปิดก๊อกน้ำทุกจุด แล้วดูว่ามิเตอร์ประปามีการเคลื่อนไหวหรือไม่ หากมีการเคลื่อนไหวแสดงว่ามีน้ำรั่วภายในบ้าน อาจเป็นท่อแตก หรือท่อรั่วภายในผนัง หรือน้ำรั่วภายในสุขภัณฑ์ต่าง ๆ

– การไหลของน้ำดี

ในขั้นตอนนี้จะเป็นการตรวจสอบต่อเนื่องกับการตรวจสอบการระบายน้ำเสีย ทำได้โดยการอุดรูระบายน้ำของอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ และช่องระบายน้ำบนพื้นห้องน้ำเอาไว้ จากนั้นจึงเปิดน้ำดูทุกก๊อกว่ามีน้ำไหลออกมาหรือไม่ ความแรงของน้ำเป็นอย่างไร

– การระบายน้ำล้น

จากขั้นตอนก่อนหน้าเปิดน้ำต่อไปเรื่อย ๆ ขังน้ำเอาไว้ สามารถเปิดน้ำพร้อม ๆ กันทุกก๊อก จุดสังเกตต่อไปคือการทำงานของช่องระบายน้ำล้น ซึ่งจะมีอยู่ที่อ่างล้างหน้า และอ่างอาบน้ำ ให้รอจนระดับน้ำสูงถึงช่องระบายน้ำล้น แล้วพิจารณาว่าน้ำล้นออกไปทางช่องระบายน้ำล้นได้หรือไม่ และไหลออกไปได้สะดวกหรือไม่
ปริมาณน้ำที่ไหลออกควรมากกว่าปริมาณน้ำที่ไหลออกจากก๊อก หากน้ำสูงขึ้นจนล้นออกมาจากอ่างล้างหน้า หรืออ่างอาบน้ำแสดงว่าช่องระบายน้ำล้นอาจมีการอุดตัน ระบายน้ำได้ไม่ดีพอ

– การระบายน้ำตามปกติ

เป็นการทดสอบการระบายน้ำผ่านรูระบายน้ำปกติของสุขภัณฑ์และพื้นห้องน้ำ ควรมีผู้ช่วยเปิดช่องระบายน้ำที่อุดไว้พร้อม ๆ กัน เพื่อดูว่าเมื่อมีการใช้งานพร้อมกัน จะสามารถรองรับการระบายน้ำได้เพียงพอหรือไม่ ให้สังเกตว่ามีน้ำล้นออกที่จุดอื่นหรือไม่ เช่น น้ำจากอ่างล้างหน้า และอ่างอาบน้ำ ดันล้นขึ้นมาที่ช่องระบายน้ำที่พื้นห้องน้ำหรือไม่ เป็นต้น

– การระบายของสุขภัณฑ์

ทดสอบดูว่าชักโครกสามารถระบายได้ดีหรือไม่ โดยการใช้ขนมปังแผ่นฉีดเป็นชิ้น ๆ 3-4 ชิ้น เป็นตัวแทนของสิ่งปฏิกูล แล้วจึงลองกดน้ำดู ซึ่งเมื่อชักโครกแล้วควรระบายสิ่งปฏิกูลออกไปได้หมดในครั้งเดียว หากระบายไม่หมดอาจมีการอุดตันที่ท่อ หรือขนาดท่อที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงหากมีอากาศดันขึ้นมาเมื่อกดน้ำแสดงว่าไม่มีท่อระบายอากาศออก
ในการตรวจสอบเรื่องน้ำดีและการระบายน้ำนั้นให้ทดสอบด้วยหลักการเดียวกันที่บริเวณซิงค์ล้างจาน และระเบียงห้อง
วิธีตรวจงานระบบท่อประปา

วิธีตรวจงานระบบท่อประปา

8. งานพื้น และงานผนัง

อีกหนึ่งประเด็นที่ต้องตรวจบ้านก่อนโอน คือ วัสดุทั้งพื้นและผนังต้องตรงสเปค และมีการติดตั้งอย่างถูกต้อง ได้คุณภาพ สำหรับพื้นจะต้องได้ระนาบและเสมอกัน ไม่มีเสียงก้องเพราะมีโพรงเวลาเคาะลงไป ใช้วิธีการนี้กับพื้นกระเบื้อง พื้นปาร์เก้ ส่วนพื้นลามิเนตจะต้องไม่ยวบเวลาเดิน ผนังดูว่ามีรอยร้าว รอยแยกหรือไม่ วอลเปเปอร์ติดไว้ย่นหรือไม่

9. งานประตู หน้าต่าง

ตรวจดูว่าปิดสนิทดี แข็งแรง และสามารถล็อคได้อย่างแน่นหนา เปิด-ปิดด้วยกุญแจได้ดี หรือสามารถคล้องกุญแจได้จริง

ตัวอย่างจุดที่ต้องตรวจเช็ก

จุดที่ต้องตรวจ
วิธีการตรวจ
ประตู-ลูกบิด-บานพับ
เปิด-ปิดสนิท ไม่ติดขัด
พื้น
ไม่ยุบตัว ไม่ลาดเอียง
ผนัง
เรียบเนียน ไม่มีรอยร้าว
ระบบน้ำ
น้ำไหลดี ไม่มีรอยรั่ว
ระบบไฟ
ใช้งานได้ดีทุกจุด ไม่มีไฟรั่ว
จะเห็นได้ว่าการตรวจบ้านก่อนโอนด้วยตัวเอง สามารถทำได้ง่าย ๆ หรือหากได้ความมั่นใจก็อาจใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญก็ได้ เพื่อให้เมื่อหลังการโอนบ้าน หรือโอนคอนโดไปแล้วจะได้ไม่มีปัญหาภายหลัง แต่หากโอนไปแล้วบ้านหรือคอนโดที่ได้ไม่ตรงกับที่โฆษณาสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ.
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย เชษฐพล มานิตย์ Online Writer ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า

คำนวณยอดผ่อนต่อเดือน

คำนวณยอดผ่อนชำระต่อเดือนตามอัตราดอกเบี้ยของคุณด้วยเครื่องมือคำนวณสินเชื่อนี้

คำนวณวงเงินกู้สูงสุด

คำนวณสินเชื่อบ้าน ยอดวงเงินกู้บ้านใหม่ที่คาดว่าจะได้รับจากแบงก์และยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือน

คำนวณสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน

เช็กยอดผ่อนชำระต่อเดือนอัตราใหม่และจำนวนเงินที่คุณสามารถประหยัดได้หลังจากการทำรีไฟแนนซ์