ก่อนจะเลือกซื้อสักหลัง เป็นบ้านหลังแรกหรือบ้านในฝัน อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรูปแบบบ้านแต่ละแบบนอกจากจะมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันแล้ว ยังตอบโจทย์การอยู่อาศัยที่แตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นก่อนที่จะตอบตัวเองได้ว่าซื้อบ้านแบบไหนดี ต้องรู้จักรูปแบบบ้านก่อนว่ามีกี่แบบ แต่ละแบบมีลักษณะอย่างไร เหมาะกับใคร ซึ่งถ้าลองแบ่งรูปแบบบ้านหรือประเภทบ้านจะพบว่ามีอยู่ด้วยกันหลายแบบ แต่ละแบบยังมีข้อดี-ข้อด้อยที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย
รูปแบบบ้านมีกี่แบบ
1. บ้านเดี่ยว
บ้านเดี่ยว คือ รูปแบบบ้านที่มาพร้อมกับพื้นที่รอบบ้าน เน้นพื้นที่ใช้สอยมาก กว้างขวาง โปร่งสบาย ให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่าที่อยู่อาศัยแบบอื่น ๆ สามารถปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายนอกและภายในตัวบ้านได้ตามต้องการ เป็นรูปแบบบ้านหรือประเภทบ้านที่ถูกระบุไว้ตามพระราชบัญญัติบ้านจัดสรร
ตามกฎหมายจะต้องสร้างอยู่บนที่ดินขนาดตั้งแต่ 50 ตารางวาขึ้นไป มีการเว้นระยะห่างของตัวบ้านทุกด้านไม่ต่ำกว่า 2 เมตร หากบ้านที่ไม่ใช่ลักษณะดังกล่าวนี้ จะไม่เรียกว่าบ้านเดี่ยว
ปัจจุบันรูปแบบบ้านเดี่ยวที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะคนที่อยากมีความเป็นส่วนตัว และภายในบ้านยังสามารถตกแต่งต่อเติมให้สวยงามได้ตามความต้องการ
2. บ้านแฝด
บ้านแฝด คือ รูปแบบบ้านที่มีลักษณะคล้ายบ้านเดี่ยว เนื่องจากมีบริเวณรอบบ้านเช่นเดียวกัน แต่ลักษณะเฉพาะของบ้านแฝดจะมีผนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบ้านติดกับบ้านอีกหลัง และอีกด้านของบ้านจะเป็นที่ว่างที่เว้นระยะจากบ้านข้างเคียงไม่น้อยกว่า 2 เมตร ทำให้ดูคล้าย ๆ ว่าเป็นบ้าน 2 หลังที่อยู่ในรั้วเดียวกัน แต่มีพื้นที่น้อยกว่า มีความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าบ้านเดี่ยว
โดยปัจจุบันรูปแบบบ้านแฝดส่วนใหญ่เริ่มมีการปรับเปลี่ยน โดยเปลี่ยนให้ภายนอกไม่มีส่วนชิดกับบ้านข้างเคียง แต่ปรับให้มีส่วนติดกันอยู่ใต้ดิน หรือส่วนที่อยู่ติดกันเป็นส่วนของห้องครัว ส่วนของห้องเก็บของ มีขนาดที่ดินไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา ตามกฎหมาย
รูปแบบบ้านเดี่ยว | รูปแบบบ้านแฝด |
ไม่มีส่วนใดของแบบบ้านร่วมกับอีกหลัง | โครงสร้างหรือฟังก์ชั่นบางส่วนเชื่อมต่อกัน |
ขนาดที่ดินไม่น้อยกว่า 50 ตารางวา | ขนาดที่ดินไม่น้อยกว่า 35 ตารางวา ไม่เกิน 50 ตารางวา |
หน้ากว้างไม่ต่ำกว่า 10 เมตร ลึก 20 เมตร | หน้ากว้างไม่ต่ำกว่า 16 เมตร แบ่งข้างละ 8 เมตร |
3. ทาวน์เฮ้าส์
ทาวน์เฮ้าส์ คือ รูปแบบบ้านที่มีลักษณะเป็นบ้านแถวหรือตึกแถวที่มีหน้าตาเหมือนกัน เรียงติดกัน มีผนังติดกับหลังอื่นทั้ง 2 ด้าน มักมีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการ
มีความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด มีบริเวณบ้านที่จำกัด หน้าบ้านมักจอดรถในบ้านได้คันเดียว หลังบ้านมักมีที่ยื่น ออกไปไม่เกิน 3 เมตร มีขนาดที่ดินไม่ต่ำกว่า 16 ตารางวา หน้ากว้างไม่ต่ำกว่า 4 เมตร ลึก 16 เมตร ตามกฎหมาย
4. ทาวน์โฮม
ทาวน์โฮม คือ รูปแบบบ้านที่ผนังทั้ง 2 ด้าน ติดกับบ้านหลังอื่น ส่วนที่เป็นรั้วมักจะเป็นปิดแค่หน้าบ้านเท่านั้น สามารถดัดแปลงทำเป็นออฟฟิศได้ มีดีไซน์ทันสมัย มักมีการวางผังพื้นที่ใช้สอยให้คล้ายคลึงกับบ้านเดี่ยว พื้นที่ใช้สอยมากกว่าทาวน์เฮ้าส์ ความสูง 2-4 ชั้น
ส่วนใหญ่อยู่ในโครงการที่มีพื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แม้จะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน แต่ในทางกฎหมายแล้ว ทาวน์โฮมแต่ถูกระบุให้เป็นทาวน์เฮ้าส์
5. คอนโดมิเนียม
คอนโดมิเนียม คือ รูปแบบบ้านที่มีลักษณะเป็นตึกสูงหลายชั้น มีรูปแบบห้องให้เลือกทั้งแบบสตูดิโอ, 1 ห้องนอน, 1 ห้องนอนพลัส, 2 ห้องนอน, ดูเพล็กซ์ และเพนท์เฮ้าส์ พื้นใช้สอยที่แตกต่างกัน โดยใน 1 ยูนิต ประกอบด้วย ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับแขก ส่วนห้องครัว พื้นที่ซักล้าง และระเบียง
นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งออกได้เป็นคอนโด High Rise ความสูงมากกว่า 8 ชั้น และคอนโด Low Rise ความสูงน้อยกว่า 8 ชั้น ซึ่งพื้นที่ส่วนกลาง สิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งราคาจะเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละโครงการ มักจะตั้งอยู่ในทำเลดี ใจกลางเมือง ใกล้แหล่งงาน เดินทางสะดวก ใกล้ BTS MRT

รูปแบบบ้านแต่ละแบบ เหมาะกับใคร ข้อดี-ข้อด้อย
1. บ้านเดี่ยว
รูปแบบบ้านเดี่ยว เหมาะกับคู่รัก ครอบครัวขนาดเล็ก ครอบครัวขนาดใหญ่ หรือผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ต้องการพื้นที่สำหรับใช้สอยมาก สามารถปรับเปลี่ยนได้ให้ลงตัวกับการอยู่อาศัยหรือทำกิจกรรมในครอบครัว รวมทั้งผู้ที่มีสัตว์เลี้ยง ต้องการมีพื้นที่ให้สัตว์เลี้ยงได้วิ่งเล่น
ข้อดี
– มีความเป็นส่วนตัวสูง เนื่องจากมีระยะเว้นห่างจากขอบที่ดิน
– มีขนาดที่ดินใหญ่กว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่น ๆ
– มีพื้นที่ใช้สอยมาก
– มีพื้นที่จอดรถหลายคัน
ข้อด้อย
– มีราคาสูงกว่าที่อยู่อาศัยประเภทอื่น ๆ
– ดูแลรักษายากกว่า เนื่องจากมีพื้นที่มากกว่า
– ค่าส่วนกลางแพงกว่า เนื่องจากมีพื้นที่มากกว่า
2. บ้านแฝด
รูปแบบบ้านแฝด เหมาะกับผู้ที่อยากได้พื้นที่ใช้สอย หรือฟังก์ชั่นที่ใกล้เคียงกับบ้านเดี่ยว ให้ความเป็นส่วนตัวสูงในราคาที่จับต้องได้มากกว่าบ้านเดี่ยว และยังเหมาะกับสองครอบครัวที่สนิทกัน เช่น พี่น้อง ญาติ และเพื่อน เพราะการได้อยู่บ้านติดกันนั้นทำให้การติดต่อไปมาหาสู่กันสะดวกและยังช่วยกันดูแลบ้านให้กันและกันได้อีกด้วย
ข้อดี
– ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้านเดี่ยว
– มีราคาที่จับต้องได้มากกว่าบ้านเดี่ยว
– มีพื้นที่บริเวณบ้านด้านใดด้านหนึ่ง
– มีพื้นที่จอดรถเพียงพอ
ข้อด้อย
– มีความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าบ้านเดี่ยว เพราะผนังด้านหนึ่งติดกับบ้านหลังอื่น
– ไม่ค่อยเป็นที่นิยม มีตัวเลือกให้เลือกน้อย
– หากผนังด้านใดด้านหนึ่งติดกับบ้านข้างเคียง ต้องระมัดระวังเรื่องโครงสร้าง
3. ทาวน์เฮ้าส์
ทาวน์เฮ้าส์ เหมาะกับครอบครัวขนาดเล็ก ให้ความรู้สึกอบอุ่นในพื้นที่ขนาดพอดี เพราะโดยปกติแล้วทาวน์เฮ้าส์จะมีราคาถูกกว่าบ้านเดี่ยว และมักจะไม่มีส่วนกลางหรือสิ่งอำนวยความสะดวกจากทางโครงการ
ข้อดี
– มักตั้งอยู่ในทำเลที่สามารถเดินทางได้สะดวก
– ฟังก์ชั่นการใช้สอยครบครัน ในราคาจับต้องได้
– ดูแลรักษาง่าย ค่าส่วนกลางไม่เยอะเท่าบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด
ข้อด้อย
– ความเป็นส่วนตัวน้อย เพราะมีผนังบ้านติดกับบ้านหลังอื่น
– ไม่มีพื้นที่บริเวณรอบบ้าน หรือมีน้อย
– ไม่เหมาะกับครอบครัวที่มีผู้สูงวัย เนื่องจากต้องขึ้นลงบันได
4. ทาวน์โฮม
ทาวน์โฮม เหมาะกับครอบครัวที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัยในราคาสมเหตุสมผล อยากได้พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านค่อนข้างมากกว่าคอนโด สามารถปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยทำโฮมออฟฟิศได้
ข้อดี
– ราคาถูกกว่า หากเปรียบเทียบกับบ้านเดี่ยวในทำเลเดียวกัน
– พื้นที่น้อยกว่า ดูแลทำความสะอาด บำรุงรักษาง่าย
– ปรับเป็นโฮมออฟฟิศได้ สำหรับคนที่อยากทำธุรกิจ
ข้อด้อย
– ความเป็นส่วนตัวน้อย เพราะเป็นรูปแบบบ้านที่ใช้ผนังร่วมกับเพื่อนบ้าน
– ที่จอดรถน้อย สูงสุด 2 คัน
– พื้นที่รอบบ้านค่อนข้างมีจำกัด
5. คอนโดมิเนียม
คอนโดมิเนียม เหมาะกับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยทำเลใจกลางเมือง สะดวกสบายในการเดินทาง มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำ ห้องฟิตเนส หรือบริการส่วนกลางต่าง ๆ หรือต้องการซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่าในอนาคต
ข้อดี
– เดินทางได้สะดวก ทำเลที่ตั้งอยู่แนวรถไฟฟ้า
– มีหลายระดับราคาให้เลือก ตามขนาดแปลนห้อง
– มีสิ่งอำนวยความสะดวก พื้นที่ส่วนกลางครบครัน
ข้อด้อย
– มีพื้นที่จำกัด ห้องติดกันอาจมีเสียงรบกวน
– มีกฎระเบียบของคอนโดให้ต้องปฏิบัติตาม
– ไม่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ แต่ปัจจุบันเริ่มมีคอนโดเลี้ยงสัตว์ได้บ้างแล้ว
ปัจจัยที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับรูปแบบบ้าน
รู้จักรูปแบบบ้านแต่ละประเภท เหมาะกับใคร รวมถึงข้อดี ข้อด้อยกันไปแล้ว ก่อนจะตัดสินใจว่ารูปแบบบ้านแบบไหนที่เหมาะกับคุณ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ให้พิจารณาเพิ่มเติม หลัก ๆ มีดังนี้
1. ทำเลที่ตั้ง
สะดวกเดินทาง ทั้งทางรถยนต์และรถสาธารณะ เชื่อมต่อถนนได้หลายเส้นทาง ใกล้แหล่งงาน โรงเรียนลูก และแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทยฺการใช้ชีวิต
2. จำนวนสมาชิก
หากเป็นคนโสด อยู่คนเดียว อาจจะเลือกรูปแบบบ้านที่มีขนาดไม่ใหญ่มาก เช่น ทาวน์เฮ้าส์ คอนโด แต่ถ้าเป็นคู่รัก คู่แต่งงาน มีลูก ญาติพี่น้อง หรือผู้สูงอายุอาศัยอยู่ร่วมกัน คงต้องเลือกรูปแบบบ้านที่พื้นที่ใช้สอยกว้างขวาง จำนวนห้องนอน ห้องน้ำ รองรับจำนวนสมาชิก เช่น บ้านเดี่ยว ที่มีห้องนอนให้มากถึง 3-4 ห้องนอน
3. ความพร้อมทางการเงิน
การวางแผนซื้อที่อยู่อาศัย สามารถประเมินความพร้อมของตนเองในเบื้องต้นก่อน ลองประมาณการใช้จ่ายในแต่ละเดือน ภาระหนี้สิน ไม่ติดเครดิตบูโร และไม่ควรมีหนี้สินเกิน 40% ของรายได้ ซึ่งจะมีโอกาสกู้สินเชื่อบ้านผ่านง่าย โดยสามารถตรวจเครดิตบูโรด้วยตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชันได้
สนใจรับบทความดีดี อัปเดต ข่าวอสังหาริมทรัพย์ และ อ่านคู่มือซื้อขาย พร้อม รีวิวโครงการคอนโดฯ ใหม่ บ้านใหม่ หลากหลายทำเลและราคา รวมถึง ทำความรู้จักกับทำเลฮอตทั่วกรุง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการซื้อ-ขาย-เช่า