ไม่ว่าจะเป็นอาคาร ตึกแถว ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่นๆ หากมีการติดตั้งป้าย เพื่อหารายได้ก็จะต้องเสียภาษีป้ายด้วย ครั้งนี้ DDproperty ชวนคุณมาทำความรู้จักกับภาษีป้ายกันครับ
ป้ายลักษณะใดต้องเสียภาษีป้าย
ป้ายที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษี ได้แก่ ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า รวมไปถึงป้ายที่เป็นการโฆษณาหารายได้ โดยไม่เจาะจงว่าป้ายนั้นจะต้องแสดงไว้บนวัตถุชนิดใด หรือแสดงด้วยวิธีการใด
ใครเป็นผู้มีหน้าที่ต้องชำระภาษีป้าย
1. เจ้าของป้าย หรือผู้ครอบครองป้าย
2. เจ้าของอาคาร ที่ดิน หรือสถานที่ที่ป้ายติดตั้งอยู่ (กรณีหาตัวเจ้าของป้ายไม่ได้)
อัตราภาษีป้าย
การคำนวณภาษีป้ายนั้นจะเรียกเก็บตามพื้นที่ของป้าย ในอัตราของป้ายแต่ละประเภท โดยแบ่งป้ายออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
ป้ายประเภทที่ 1 อัตราภาษี 3 บาท / 500 ตารางเซนติเมตร
ป้ายประเภทนี้ต้องเป็นป้ายที่มีข้อความเป็นภาษาไทยเท่านั้น
ป้ายประเภทที่ 2 อัตราภาษี 20 บาท / 500 ตารางเซนติเมตร
ป้ายมีข้อความเป็นภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ หรือปนกับภาพและเครื่องหมายอื่น ๆ
ป้ายประเภทที่ 3 อัตราภาษี 40 บาท / 500 ตารางเซนติเมตร
สำหรับป้ายที่มีภาษาไทยเพียงบางส่วนหรือไม่มีภาษาไทยเลย กรณีที่มีภาษาไทยนั้นจะเข้าข่ายประเภทที่ 3 ต่อเมื่อข้อความภาษาไทยทั้งหมดหรือบางส่วนอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าข้อความภาษาต่างประเทศ
ขั้นตอนการชำระภาษีป้าย
ให้ผู้เสียภาษียื่นแบบชำระภาษีป้ายแก่เจ้าหน้าที่ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี เมื่อยื่นแบบแล้วจะได้รับการแจ้งประเมินจากเจ้าพนักงาน จากนั้นให้ชำระภาษีป้ายภายใน 15 วัน กรณีที่จำนวนภาษีที่ต้องชำระมีมูลค่าสูงกว่า 3,000 บาทขึ้นไป สามารถแบ่งชำระ 3 งวดได้
โทษปรับหากไม่ชำระภาษีป้าย
1. ไม่ยื่นแบบภายในกำหนดเวลา มีค่าปรับ 10% ของภาษีป้ายที่ต้องชำระ
2. ยื่นแบบไม่ถูกต้องทำให้เสียภาษีป้ายน้อยลง นอกจากต้องเสียภาษีเพิ่มแล้วยังปรับอีก 10% ของค่าภาษีประเมินเพิ่มเติม
3. ไม่ชำระเงินภาษีตามกำหนดเวลา ปรับเพิ่มในอัตรา 2% ของภาษีที่ต้องชำระ
รายการอ้างอิง: เทศบาลนครบาลแหลมฉบัง
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย เชษฐพล มานิตย์ Online Writer ประจำ DDproperty.com หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ kittikom@ddproperty.com
ข้อจำกัดความรับผิดชอบ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปเท่านั้น DDproperty by PropertyGuru ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ออลพร็อพเพอร์ตี้ มีเดีย จำกัด ไม่สามารถรับรองหรือรับประกันเกี่ยวกับข้อมูล รวมทั้งไม่สามารถรับรองหรือรับประกันใด ๆ เกี่ยวกับความเหมาะสม สำหรับวัตถุประสงค์เฉพาะใด ๆ ของข้อมูล ตามขอบเขตสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต แม้ว่าเราได้พยายามอย่างเต็มที่ เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ถูกต้อง เชื่อถือได้ และครบถ้วน ณ เวลาที่เขียน แต่ข้อมูลที่ให้ไว้ในบทความนี้ไม่ควรนำไปใช้ในการตัดสินใจทางการเงิน, การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือทางกฎหมายทันที ผู้อ่านไม่ควรใช้ข้อมูลในบทความ แทนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการฝึกอบรมซึ่งสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงและสถานการณ์ส่วนตัวของคุณได้ ทั้งนี้ เราไม่สามารถรับผิดชอบใด ๆ หากคุณเลือกที่จะนำข้อมูลไปใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ